โรคไลม์ (Lyme disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคไลม์ (Lyme disease) ภาษาไทยอาจเขียนเป็น โรคลัยม์ หรือ โรคลายม์ คือ โรคที่เกิดจากผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียจากสัตว์(Zoonosis)ซึ่งแบคทีเรียก่อโรคนี้อยู่ใน สกุล(Genus) Borrelia โดยมีเห็บกวาง (Deer tick, เห็บในสกุล Ixodes)ที่อาศัยบนตัวสัตว์เป็นพาหะโรค ซึ่งอาการสำคัญของโรคคือ ไข้สูง ปวดหัว อ่อนเพลีย และมีผื่นขึ้นในผิวหนังส่วนถูกเห็บกวางกัด(อ่านรายละเอียดใน ‘หัวข้อ อาการฯ’)

การติดเชื้อสู่คนของโรคไลม์/ไลม์จะเกิดจากเห็บกวางที่เป็นปรสิตของสัตว์ ได้รับเชื้อจากดูดกินเลือดสัตว์ที่ติดเชื้อแบคทีเรียสกุล Borrelia, เช่น กวาง ต่อจากนั้นเห็บกวางมากัดคน จึงถ่ายทอดเชื้อเข้าสู่คน ซึ่งอาการสำคัญของโรคนี้คือ ไข้สูง ปวดหัว อ่อนเพลีย และมักพบเกิดผื่นที่ผิวหนังบริเวณที่ถูกเห็บกวางกัด โดยผื่นผิวหนังนี้จะมีลักษณะจำเพาะ เรียกว่า ผื่น “Erythema migrans (EM)” ต่อจากนั้นโรคจะแพร่กระจายทางกระแสเลือด และก่อให้เกิดอาการอักเสบ ของข้อต่างๆ, ของหัวใจ, และของสมอง

อนึ่ง แบคทีเรียสกุล Borrelia มีหลายชนิด(Species) แต่ชนิดที่ก่อโรคในคนบ่อย และเป็นสาเหตุของโรคไลม์ คือ ชนิด Burgdorferi (Borrelia burgdorferi ย่อว่า B. burgdorferi)

เห็บกวาง เป็นปรสิตที่กินเลือดสัตว์ป่าหลายชนิดโดยเฉพาะกวาง จึงได้ชื่อว่า เห็บกวาง แต่พบเป็นปรสิตของ หมูป่า หนูป่า ได้ด้วย เห็บกวางที่เป็นพาหะโรคมาสู่คน ส่วนใหญ่ประมาณ 90% จะเกิดจากถูกตัวอ่อนของเห็บกวางที่เรียกว่า “Nymph” กัดดูดเลือด ที่เหลือประมาณ 10% ถูกกัดโดยตัวแก่

เห็บกวาง เป็นสัตว์ขนาดเล็กมาก, Nymph จะมีขนาดประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร, ส่วนตัวแก่จะมีขนาดประมาณ 3-5 มิลลิเมตร, ซึ่งเมื่อมันดูดเลือดได้เต็มที่ ตัวมันจะโตกว่านี้ได้ตามปริมาณของเลือดในตัว ตำแหน่งที่เห็บกวางกัดคน จะเป็นได้ทุกตำแหน่งของผิวหนัง ตั้งแต่หนังศีรษะไปจนถึงปลายเท้า แต่เมื่อสัมผัสคนแล้วมันมักชอบซ่อนตัวอยู่ที่ ศีรษะ, รักแร้, และขาหนีบ, ซึ่งโดยทั่วไประยะเวลาที่เห็บกวางจะถ่ายทอดเชื้อแบคทีเรียก่อโรคไลม์เข้าสู่คนให้ได้เชื้อมากพอที่จะก่อโรคได้ จะใช้เวลาประมาณ 36-48 ชั่วโมง

ทั้งนี้คนสัมผัสกับเห็บกวางได้จาก การเดินป่า ท่องเที่ยว นอนเต็นท์ หรือพำนักอาศัยใกล้กับแหล่งอยู่อาศัยของ สัตว์รังโรคและโฮสต์ เช่น กวาง โดยนอกจากสัมผัสกับตัวสัตว์โดยตรงแล้ว ส่วนใหญ่จะสัมผัสเห็บกวางจากที่เห็บกวางอยู่ตามยอดหญ้าและ/หรือพุ่มไม้เตี้ยๆในแหล่งอาศัยของสัตว์รังโรคและโฮสต์

แบคทีเรีย B. burgdorferi ที่ก่อโรคไลม์ จะมีกวางและหนูป่า เป็นรังโรคที่พบ บ่อย มีโฮสต์ คือ คน กวาง หนูป่า หมูป่า โดยมีเห็บกวางเป็นพาหะโรค นำเชื้อแบคทีเรียนี้จากกวางติดต่อสู่คน แต่ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อนี้จากคนไปสู่สัตว์ หรือ จากคนสู่คน

แบคทีเรีย B. burgdorferi เป็นแบคทีเรียที่ฆ่าตายด้วยความร้อน(ยังไม่มีรายงานอุณหภูมิที่แน่ชัด) และแสงยูวี (แสงแดด) และถูกฆ่าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ 1% Sodium hypochlorite, 70% Ethanol alcohol, และเมื่ออยู่นอกโฮสต์จะอยู่ได้นานหลายวันในเลือดคน(ประมาณ48 วันที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส/Celsius)

โรคไลม์/ ไลม์ เป็นโรคประจำถิ่นในสหรัฐอเมริกาและในแคนาดา แต่พบได้ทุกภูมิภาคของโลก มักพบมากขึ้นในฤดูร้อนจากคนท่องเที่ยวในป่ามากขึ้น มีรายงานพบโรคนี้ได้ในช่วง 69-206 รายต่อประชากร 1 แสนคน พบทุกอายุ แต่พบได้สูงใน 2 ช่วงอายุ คือ 5-14 ปี และ 45-54 ปี ซึ่งเชื้อว่าเกิดจากเป็นช่วงอายุที่มักเดินทางท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ เพศชายและเพศหญิงมีโอกาสเกิดโรคได้ใกล้เคียงกันขึ้นกับโอกาสสัมผัสโรคไม่ใช่จากความแตกต่างทางเพศ และโรคนี้พบในคนผิวขาวมากกว่าคนเชื้อชาติอื่น

สำหรับประเทศไทยจนถึง พ.ศ. 2558 ยังไม่เคยมีรายงานพบโรคไลม์/ ไลม์ แต่ด้วยภูมิอากาศ และสภาพป่า สามารถที่จะเป็นที่อยู่อาศัยเจริญพันธ์ได้ทั้งของแบคทีเรียก่อโรคนี้ และของเห็บกวาง จึงเชื่อว่า จากการที่ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง และการเดินทางของคนทั่วโลก ประเทศไทยจึงน่าจะมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดให้โรคไลม์อยู่ในกลุ่ม ‘โรคอุบัติใหม่ที่ต้องเฝ้าระวัง’

โรคไลม์เกิดอย่างไร?

โรคไลม์

โรคไลม์/ ไลม์เกิดจากคนติดเชื้อ/ได้รับเชื้อแบคทีเรียก่อโรคนี้ คือ B. burgdorferi โดยถูกเห็บกวางที่เป็นพาหะโรค/ที่มีเชื้อนี้อยู่ กัดดูดเลือด ซึ่งเมื่อได้รับเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ประมาณ 3-32 วันนับจากวันที่ถูกเห็บกวางกัด ซึ่งเมื่อถูกเห็บกวางกัด เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้ใน 3 ลักษณะ ได้แก่

ก. เชื้อจะถูกกำจัดออกจากร่างกายตั้งแต่ร่างกายได้รับเชื้อ: โดยการกำจัดเชื้อด้วยระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย(Host defense mechanisms) ซึ่งในลักษณะนี้ ร่างกายผู้ติดเชื้อต้องแข็งแรง ปกติ และได้รับเชื้อในปริมาณไม่มาก

ข. เชื้อจะอยู่เฉพาะผิวหนังในส่วนที่ถูกกัดและ/หรือลุกลามอยู่เฉพาะผิวหนังส่วนใกล้เคียงกับที่ถูกกัด: โดยก่อให้เกิดผื่นทีเรียกว่า Erythema migrans (EM) ที่ใช้เป็นอาการสำคัญในการวินิจฉัยโรคนี้

ค. เชื้อจากผิวหนังอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายรวมทั้งในไขกระดูก, ผ่านทางระบบน้ำเหลือง, และ/หรือ ทางกระแสเลือด, ที่พบมีอาการบ่อย คือ มีการอักเสบของ ข้อต่างๆ, หัวใจ, สมอง, และลูกตา

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไลม์ ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไลม์/ไลม์ คือ

  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่มีโรคไลม์เป็นโรคประจำถิ่น หรือเดินทางท่องเที่ยว ทำงานในแหล่งที่มีเห็บกวาง โดยไม่รู้จักการป้องกันเห็บกัด และ
  • ไม่ได้กำจัดเห็บออกจากร่างกายภายใน 36-48 ชั่วโมง ซึ่งหลังจากช่วงเวลานี้เชื้อโรคไลม์จะเข้าสู่ร่างกายได้ในปริมาณสูงมากพอที่จะก่อโรคได้

โรคไลม์อาการอย่างไร?

โรคไลม์/ไลม์ มีระยะฟักตัว 3-32 วันนับจากถูกเห็บกวางกัด โดยมีลักษณะอาการ เป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1, ระยะที่2, และระยะที่ 3

ก. ระยะที่1 หรือ Primary หรือ Early localized infection: โดยทั่วไป มักพบเกิดภายใน 30 วันหลังถูกเห็บกวางกัด โดย 80% ของผู้ป่วย ผิวหนังตำแหน่งที่ถูกเห็บกวางกัดจะเกิดเป็นผื่นแดงขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นวงกลม หรือรูปไข่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-70 เซนติเมตร (ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีขนาดประมาณ 16 เซนติเมตรขึ้นไป) ที่เรียกว่าผื่น Erythema migrans (EM) ซึ่งประมาณ 20% ผื่นจะมีลักษณะเหมือนลูกตาวัว (Bull’s eye rash คือจะเป็นวงกลมสีแดงอยู่ตรงกลาง และอยู่ที่ขอบๆของผื่น) ผื่นจะเกิดบริเวณไหนของผิวหนังก็ได้ โดยทั่วไปมักเกิดเพียงผื่นเดียว แต่ประมาณ 10-20% พบหลายผื่นได้

นอกจากนั้น จะมีอาการทั่วไปของการติดเชื้อ(Systemic symptoms) ที่คล้าย โรคติดเชื้อไวรัส เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดหัว ปวดข้อ หนาวสั่น อ่อนเพลีย อาการระยะที่ 1 จะหายได้หลังจากได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา โรคจะเข้าสู่ระยะที่ 2

ข. ระยะที่ 2 หรือ Early disseminated disease: อาการจะพบเกิดได้ในระยะเวลาเป็นหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน มีรายงานนานถึง 6 เดือน นับจากถูกเห็บกวางกัด ซึ่งเป็นระยะที่เชื้อโรคเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองและกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย โดยมีอาการที่พบบ่อยในโรคระยะนี้ คืออาการในระบบกล้ามเนื้อและกระดูก และระบบประสาท ที่พบได้น้อยกว่า คือ อาการทางหัวใจ และอาการทางผิวหนัง ซึ่งโรคในระยะนี้ ร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทานต่อเชื้อ B. burgdorferi ที่สามารถตรวจพบได้จากเลือด และใช้ช่วยวินิจฉัยโรคได้ และในระยะต้นของระยะนี้ การเพาะเชื้อจากเลือด อาจพบเชื้อนี้ได้

  • อาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ข้อบวมที่มักเกิดกับข้อใหญ่ๆ เช่น ข้อเข่า และข้อสะโพก
  • อาการทางระบบประสาท: เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, การอักเสบของเส้นประสาทสมอง (เช่น โรคอัมพาติเบลล์), ไขสันหลังอักเสบ, ในกรณีโรครุนแรงอาจส่งผลถึงสมองอักเสบ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน ความจำ และในบุคลิกภาพ นอกจากนั้น เช่น ปวดหัวรุนแรง คอแข็ง แขน ขา อ่อนแรง
  • อาการทางหัวใจ: เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, ภาวะหัวใจล้มเหลว, ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการเหนื่อยง่ายเมื่อออกแรง เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ
  • อาการทางผิวหนัง: เช่น พบผื่น EM เกิดหลายตำแหน่ง

*หมายเหตุ:

  • ผู้ป่วยแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ
  • ถ้าไม่ได้รับการรักษา โรคจะเรื้อรังเข้าสู่ระยะที่ 3

ค. ระยะที่3 หรือ Chronic หรือ Late lyme disease: พบอาการได้หลังถูกเห็บกวางกัดนานหลายๆเดือน ถึงเป็นปี หรือหลายๆปี อาการที่พบส่วนใหญ่ จะเป็นการอักเสบเรื้อรังของข้อขนาดใหญ่ๆ(เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก) และการอักเสบเรื้อรังในระบบประสาท

*นอกจากนี้ ยังมีอีกกลุ่มอาการที่พบในโรคไลม์ ที่เกิดขึ้นหลังจากการรักษาโรคไลม์ได้หายแล้ว เรียกว่า กลุ่มอาการ “Post treatment Lyme Disease syndrome ย่อว่า PTLDS” ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ที่เชื่อว่าน่าเกิดจากการตอบสนองจากภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย โดยพบได้ประมาณ 10-20% ของผู้ป่วย ที่ยังจะมีอาการผิดปกติต่อเนื่องต่อไปอีกเป็นหลายๆเดือน ถึง หลายปี หรืออาจเกิดหลังการรักษาได้นานหลายๆเดือนถึงหลายๆปี (มีรายงานเกิดกลุ่มอาการนี้ได้นาน 10 ปีหลังเกิดโรคไลม์) แต่ส่วนใหญ่จะเกิดประมาณ 6 เดือนขึ้นไป อาการที่พบบ่อย จะเป็นอาการคล้ายในโรค Fibromyalgia และ โรค Chronic fatigue syndrome โดยอาการสำคัญที่พบบ่อย คือ อ่อนเพลีย อ่อนล้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหัวเรื้อรัง อารมณ์แปรปรวน, บ้านหมุน, นอนไม่หลับ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

เมื่อมีอาการต่างๆดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในถิ่นที่มีโรคไลม์เป็นโรคประจำถิ่น หรือ หลังเดินทาง ท่องเที่ยว ทำงาน ในป่า หรือในพื้นที่ที่มีสัตว์รังโรค และพาหะของเชื้อ B. burgdorferi ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยโรคไลม์อย่างไร?

โรคไลม์/ ไลม์เป็นโรควินิจฉัยยาก อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยส่วนใหญ่แพทย์วินิจฉัยได้จาก

  • การซักถามอาการผู้ป่วย ประวัติ ถิ่นพักอาศัย การเดินทาง ท่องเที่ยว การสัมผัสพาหะโรค
  • การตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจผิวหนังพบผื่น EM
  • การสืบค้นอื่นๆ มักมีโอกาสตรวจไม่พบโรคได้สูง หรือเป็นการวินิจฉัยที่ให้ผลตรวจไม่จำเพาะ เช่น
    • การเพาะเชื้อจาก เลือดและ/หรือจากน้ำไขสันหลัง(กรณีมีอาการทางสมอง)
    • ตรวจเลือดดูค่าสารภูมิต้านทานโรคนี้
    • ตรวจสารพันธุกรรม(การตรวจ PCR, Polymerase chain reaction) ของเชื้อจากน้ำ/สารคัดหลั่งในข้อ
    • อาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคที่ผิวหนังเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
    • อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม ตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น ตรวจภาพสมองด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ กรณีมีอาการทางสมอง เป็นต้น

รักษาโรคไลม์อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคไลม์/ไลม์ คือ การให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย B. burgdorferi, การรักษาตามอาการ (การรักษาประคับประคองตามอาการ), และการรักษากลุ่มอาการหลังการรักษาโรคไลม์ (PTLDS)

ก. ยาปฏิชีวนะ: ยาปฏิชีวนะที่ส่วนใหญ่เชื้อแบคที่เรียนี้ตอบสนองได้ดี มีหลายชนิด เช่น Doxycycline, Tetracycline, Penicillin, Amoxicillin, Erythromycin, Azithromycin, Clarithromycin, Hydroxychloroquine ทั้งนี้ การจะเลือกใช้ยาตัวใด, กิน หรือฉีด, ขนาดยา(Dose)เท่าไร, ระยะเวลาในการรักษา, ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ โดยดูจากความรุนแรงของอาการ, โรคอยู่ในระยะใด, อาการเกิดกับอวัยวะใด, โรคร่วมต่างๆ, รวมทั้งสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

ข. การรักษาตามอาการ: เช่น

  • การพักผ่อนเมื่ออ่อนเพลีย
  • ยาแก้ปวด กรณีปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
  • ยาลดไข้เมื่อมีไข้
  • การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ถ้ากิน/ดื่มได้น้อย
  • ยานอนหลับเมื่อนอนไม่หลับ

ค. รักษากลุ่มอาการหลังการรักษาโรคไลม์ (PTLDS): โดยการรักษาจะคล้ายกับการรักษาในโรค กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน(Fibromyalgia), และในโรค กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome) เช่น การรักษาตามอาการ และการใช้ยาแก้อักเสบ (ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ) เช่น ยาในกลุ่มเอ็นเสด (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมกลุ่มอาการทั้ง2โรค จากเว็บ haamor.com)

โรคไลม์มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากโรคไลม์/ไลม์ เช่น

  • ข้ออักเสบเรื้อรัง
  • อาการทางสมอง เช่น ปัญหาในความจำ หรือในการควบคุมอารมณ์
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

โรคไลม์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคไลม์/ไลม์เป็นโรคมีการพยากรณ์โรคที่ดี มักรักษาได้หาย มักไม่ทำให้ถึงตาย และถ้าได้รับการรักษาแต่เริ่มมีอาการ มักไม่มีผลข้างเคียงระยะยาวตามมา

แต่ถ้าได้รับการรักษาล่าช้า มักมีผลข้างเคียงระยะยาวตามมาที่มักรักษาไม่หาย คือ ข้ออักเสบเรื้อรัง และรวมถึงอาการทางสมอง เช่น ความจำลดลง ไม่มีสมาธิ และมักอ่อนล้า/ อ่อนเพลีย

ส่วน’กลุ่มอาการหลังการรักษาโรคไลม์ (PTLDS)’ อาการจะค่อยๆดีขึ้นจากการดูแลรักษาตามที่กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ การรักษาฯ’ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานเป็นหลายๆเดือน หรือ เป็นปี

นอกจากนี้ โรคไลม์/ไลม์ ยังเกิดเป็นซ้ำได้เสมอหลังรักษาได้หายและกลับไปติดเชื้อครั้งใหม่

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองที่บ้านเมื่อเป็นโรคไลม์/ไลม์ ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี เพราะโรคนี้ก่ออาการเรื้อรังที่ส่งผลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต
  • ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน
  • ป้องการกลับไปติดเชื้อซ้ำ (อ่านเพิ่มเติมใน’หัวข้อ การป้องกันฯ’)
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดข้อมากขึ้น แขนขาอ่อนแรงมากขึ้น
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ปวดข้อ อ่อนล้า ไม่มีสมาธิ
  • อาการที่เคยหายไปแล้ว กลับมามีอาการอีก เช่น มีไข้ คอแข็ง
  • มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก ท้องเสียมาก วิงเวียนศีรษะ
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคไลม์อย่างไร?

ปัจจุบัน มีวัคซีนป้องกันโรคไลม์/ไลม์ ที่ผลิตและจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา แต่บริษัทผู้ผลิตได้เลิกผลิตแล้วด้วยเหตุผลว่า ไม่มีผู้นิยมใช้ และมีผลข้างเคียงจากวัคซีนที่ค่อนข้างสูง แต่ก็กำลังมีการศึกษาหาวัคซีนตัวใหม่ๆที่มีผลข้างเคียงน้อยลง อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคไลม์/ไลม์สามารถทำได้โดย เมื่ออยู่ในถิ่นของโรค หรือท่องเที่ยวเข้าป่า นอนเต็นท์ ทั่วไปควรดูแลตนเองโดย

  • สวมเสื้อผ้าสีอ่อน แขนยาว กางเกงขายาว ถุงเท้า รองเท้าหุ้มส้น สวมหมวก เพื่อป้องกันเห็บเกาะ/กัด
  • รู้จักทายาฆ่าแมลงทั้งที่ผิวหนัง และที่เสื้อผ้าที่สวมใส่
  • เมื่อกลับเข้าบ้าน หรือ ออกจากแหล่งโรค ภายใน 2 ชั่วโมง ให้ถอดเสื้อผ้าออก สำรวจดูเห็บกวางเพื่อการกำจัด อาบน้ำให้สะอาด สำรวจเนื้อตัวเพื่อกำจัดเห็บกวาง และ
    • ถ้าเป็นการท่องเที่ยว ควรสำรวจตนเอง อย่างน้อยประมาณ 3-4 วันหลังกลับจากท่องเที่ยวเพื่อสำรวจเห็บกวาง
  • ดูแลสิ่งแวดล้อมรอบบ้าน ไม่ให้มีพงหญ้ารก หรือหญ้าขึ้นสูง เพราะเป็นที่ชอบเกาะของเห็บกวาง
  • รักษาสิ่งแวดล้อมของบ้าน ไม่ให้เป็นที่อยู่ของหนูป่า
  • ดูแลเด็กอ่อน(นิยามคำว่าเด็ก)ให้อยู่ในมุ้งเสมอ

*หมายเหตุ:

  • วิธีกำจัดเห็บกวางที่ร่างกาย แนะนำโดยศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา(CDC: Centers of Disease Control and Prevention) คือ
    • ใช้แหนบ จับตัวเห็บกวาง ไม่ให้จับที่หัว แล้วค่อยๆดึงตัวเห็บออกตรงๆ
    • หลังจากนั้นทำความสะอาดบริเวณที่เห็บกวางกัดด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือเช็ดด้วยน้ำยาแอลกอฮอล์ล้างแผล หรือ น้ำยาเบตาดีน/ยาPovidone
    • ห้ามบีบ นวดบริเวณเห็บกวางกัดเพราะเชื้อจะเข้าแผลได้มากขึ้น
    • ห้ามบีบ หรือขยี้ให้เห็บฯตาย เพราะเชื้อโรคจะแพร่กระจาย ให้ใส่เห็บกวางในน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ห่อให้มิดชิด แล้วกดทิ้งในโถส้วม (หรือเก็บไว้เพื่อนำไปพบแพทย์)
    • หลังจากนั้นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด
  • เมื่อจับเห็บกวางได้จากร่างกาย ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล พร้อมนำเห็บกวางที่ใส่ขวด/ถุงพลาสติกที่ปิดฝาแน่นหนาไปให้แพทย์ดูด้วย เพราะในบางราย แพทย์อาจพิจารณาเป็นกรณีไปเพื่อให้ยาปฏิชีวนะเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อโรคไลม์

บรรณานุกรม

  1. Shapiro, E. (2014). N Engl J Med. 370, 1724-1731
  2. Wright, W. et al. (2012). Am Fam Physician. 85, 1086-1093
  3. https://www.cdc.gov/lyme/prev/vaccine.html [2020,Dec19]
  4. https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/borrelia-burgdorferi-material-safety-data-sheets-msds.html [2020,Dec19]
  5. https://www.lymeneteurope.org/info/erythema-migrans [2020,Dec19]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/330178-overview#showall [2020,Dec19]
  7. https://www.cdc.gov/lyme/index.html [2020,Dec19]