เดย์แคร์นมแม่คุณภาพใกล้บ้าน ตอนที่ 2


ที่มาและความสำคัญ 

รัฐบาลปัจจุบัน (สิงหาคม 2566) กำหนดให้การส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากมีจำนวนเด็กเกิดน้อยลงมากอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในยุคปัจจุบันจำนวนเด็กเกิดลดลง จากเกิดปีละประมาณ 1 ล้านคน เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ลดลงแตะหลัก 7 แสนคน ใน พ.ศ. 2560 และเพียง 4 ปี คือ ณ พ.ศ. 2564 เด็กเกิดเพียงปีละ 544,570 คน และ พ.ศ. 2565 มีเด็กเกิดเพียง 460,496 คน อัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total fertility rate: TFR) ลดลงเหลือเพียง 1.1 คน ซึ่งไม่เพียงพอกับระดับทดแทนซึ่งอยู่ที่ 2.1 คน* ในขณะที่ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ จากการประชุมเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ “เมื่อไทยเข้าสู่สังคมเด็กเกิดน้อย: ปัญหาและทางออก” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.กย. 2566) พบว่าขบวนการส่งเสริมให้ลูกมีโอกาสเติบโตอย่างมีสุขภาวะดี เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่คนเป็นพ่อแม่ต้องการได้รับการช่วยเหลือ สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกได้กำหนดเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 คือ การสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี สำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย (Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages)

   

การจะส่งเสริมให้เด็กมีการเติบโตอย่างมีสุขภาวะดี ควรต้องเริ่มตั้งแต่การเริ่มต้นของชีวิต คือช่วงเด็กกลุ่มปฐมวัย โดยเฉพาะกลุ่ม 3 ขวบปีแรก เนื่องจากเป็นช่วงที่สมองมีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุด มีน้ำหนักถึงร้อยละ 80 ของน้ำหนักสมองผู้ใหญ่ และมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงมากโดยใช้ความพยายามน้อยสุดเมื่อเทียบกับในช่วงวัยอื่น (ตามภาพประกอบ) เป็นช่วงที่สมองมีความยืดหยุ่น สามารถซึมซับประสบการณ์ที่ได้รับจากขบวนการเลี้ยงดู อากัปกิริยาของผู้เลี้ยงดู สภาพสิ่งแวดล้อมรอบตัว ที่เรียกว่า “ซึมซับรับไปไม่รู้ตัว” และจะถูกบันทึกในโครงสร้างสมองที่มีการเติบโตมากถึงร้อยละ 80 ดังกล่าว การได้รับอาหารและการเลี้ยงดูคุณภาพ การได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อในการเลี้ยงดู มีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก ไม่สร้างความกดดันที่นำสู่ความเครียด การสร้างความมั่นใจ จะมีผลต่อการเพิ่มความหนาแน่นของการเชื่อมต่อและวงจรประสาทอย่างมีคุณภาพ แม้ในวัยนี้เมื่อโตขึ้นจะจำไม่ได้ ในทางจิตวิเคราะห์ พบว่าไม่หายไปไหนแต่จะมีการฝังจำในระดับจิตใต้สำนึก การเลี้ยงดูที่ส่งเสริมให้มีสุขภาพกายแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง จะช่วยพัฒนาการเด็กได้ดี

*อัตราเจริญพันธุ์รวม ที่ 2.1 หมายถึงผู้หญิงคนหนึ่งมีบุตร 2.1 คนโดยเฉลี่ยตลอดช่วงชีวิต จะเท่ากับที่จะทดแทนพ่อแม่ได้  มีการเติบโตอย่างมีสุขภาวะ ช่วยป้องกันทั้งปัญหาสุขภาพและปัญหาจิตพยาธิสภาพ (Psychopathology) ในอนาคตขบวนการให้อาหารและการเลี้ยงดู มีอิทธิพลต่อการแสดงออก พฤติกรรม ลักษณะนิสัย มากกว่าจากอิทธิพลของยีนส์ที่เรียกว่า Epigenetics ซึ่งยืนยันได้จากข้อมูลการศึกษาระยะยาว 35 ปี ที่พบว่าการลงทุนการดูแลที่ดี (อาหาร และการเลี้ยงดู) จะเกิดผลดี ต่อสุขภาพ อาชีพ รายได้ IQ และลดปัญหาอาชญากรรมให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยพบว่าลงทุนในการเลี้ยงดูเด็กในช่วงปฐมวัย 5 ขวบปีแรก จะมีผลตอบแทน (ROI - Return of Investment) ถึง 6.7-17.6 เท่าของการลงทุน ยิ่งลงทุนตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ยิ่งให้ผลคุ้มค่า ให้ผลตอบแทนสูงถึง 17 เท่า และเมื่อเทียบระหว่าง ช่วงอายุ 3 ขวบปีแรก กับช่วงอายุ 4-5 ขวบปีแรก ช่วงอายุ 3 ขวบปีแรกจะให้ผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 13 ในขณะที่ถ้าลงทุนในช่วงเด็ก 5 ปีลงมาจะเป็นร้อยละ 7 (Heckman’s study, University of Chicago) ดังนั้นในยุคที่เด็กเกิดน้อย ประชาชนเลือกที่จะไม่มีลูก ซึ่งจะส่งผลกระทบสูงต่อการพัฒนาประเทศ การสร้างความมั่นใจว่า ถ้ามีลูก รัฐบาลจะมีระบบช่วยในขบวนการการส่งเสริมให้เด็กเกิดและอยู่อย่างมีคุณภาพ (สุขภาวะที่ดี) จึงเป็นที่มาของการเสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย  เดย์แคร์นมแม่คุณภาพใกล้บ้าน สนับสนุนแม่ทำงาน ส่งเสริมลูกคุณภาพ