เดย์แคร์นมแม่คุณภาพใกล้บ้าน ตอนที่ 1

สนับสนุนแม่ทำงาน ส่งเสริมลูกคุณภาพ 

                ในยุคที่เด็กเกิดน้อยลง จนการส่งเสริมการมีบุตรจะถูกบรรจุเป็นวาระแห่งชาติ ใน พ. ศ. 2566 สังคมมีการวิเคราะห์สาเหตุและแนวทางแก้ไขอย่างกว้างขวาง และพบว่าขบวนการส่งเสริมให้ลูกมีโอกาสเติบโตมีอย่างมีสุขภาวะดี เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่คนเป็นพ่อแม่ต้องการได้รับการช่วยเหลือ1 แม้การจะเติบโตอย่างมีคุณภาพดังกล่าวจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนในทุกกลุ่มวัย แต่กลุ่มเด็กปฐมวัยโดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก 3 ขวบปีแรก เป็นช่วงที่สมองมีอัตราการเติบโตสูงสุด2  พบว่าถ้าสามารถให้ได้รับ อาหารและการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ จะสามารถเกิดการฝังต้นทุนพฤติกรรมสุขภาพ อารมณ์ จิตใจ ทักษะสังคม และสติปัญญาที่ดี เป็นฐานสำคัญในการก้าวต่อสู่การเติบโตอย่างมีสุขภาวะในวัยผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ซึ่งมีการศึกษาระยะยาวยืนยันว่าถ้าลงทุนในช่วงอายุนี้จะให้ผลตอบแทน ในการลงทุนที่สูงที่สุด3 

          ขบวนการส่งเสริมลูกเติบโตอย่างมีสุขภาวะที่ดี ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญเบื้องต้นคือ ความพร้อมของพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู ข้อมูล รายงานสถานการณ์เด็กและสตรีประเทศไทย พ.ศ. 2565 4 พบว่า เด็กอายุ 0-17 ปี ไม่ได้อยู่กับแม่ และผู้ดูแลหลักเป็นปู่ ย่า ตา ยาย มีมากถึงร้อยละ 70.6 เด็กเล็กขวบปีแรกและเด็กช่วงอายุ 2-4 ปี มีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 27 และ 80.4 ตามลำดับ ในด้านสุขภาพพบ ทารกได้รับนมแม่อย่างเดียวในระยะ 6 เดือนแรก เพียงร้อยละ 28.6 มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เตี้ยแคระแกรน ร้อยละ 12.5 มีพัฒนาการสมวัยเพียงร้อยละ 77.8 เด็กเล็กได้รับการอบรมโดยมีการลงโทษทางกายและจิตใจอย่างรุนแรง อย่างใดอย่างหนึ่งร้อยละ 47.6 ไม่นับผลกระทบที่เกี่ยวโยงกับสถานการณ์ที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรุนแรง ตั้งตัวไม่ทัน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม 5 ข้อมูลและผลลัพธ์เหล่านี้ ยืนยันข้อจำกัดของครอบครัวในการให้การเลี้ยงดูเด็กทั้งในด้านคนเลี้ยงดู ความรู้และวิธีเลี้ยงดู กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีนโยบายในการเพิ่มจำนวนและคุณภาพของเดย์แคร์ทารกและเด็ก 3 ขวบปีแรก มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยเห็นเป็นโอกาสในการสนับสนุนการนโยบายดังกล่าวในรูปแบบ การให้ความสำคัญกับการจัดให้มีเดย์แคร์ใกล้บ้านและการกำหนดคุณภาพเดย์แคร์ที่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การจัดขบวนการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กให้มีสุขภาวะและคุณลักษณะพร้อมอยู่ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ ในที่นี้เรียกว่า “เดย์แคร์นมแม่คุณภาพ” เพื่อให้มีความพร้อมเป็นต้นแบบในการต่อยอดขยายผล  แนวทางของรูปแบบได้มาจากการประมวล . . .

  • ข้อมูลวิชาการขบวนการให้อาหารโดยเฉพาะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้อาหารตามวัย ไม่ปฏิเสธผัก
  • ข้อมูลกรอบการเลี้ยงดูเด็กเล็กอย่างเอาใจใส่ เพื่อการพัฒนาอย่างรอบด้าน (Nurturing care framework WHO.2018) ซึ่งสอดคล้องกับกรอบมาตรฐานเด็กปฐมวัยแห่งชาติ
  • ประสบการณ์มูลนิธิฯ โครงการยกระดับ สถานพัฒนาเด็ก 3 ขวบปีแรก เน้นส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการเลี้ยงดูคู่เรียนรู้ จำนวน 7 แห่ง ใน 4 ภูมิภาค7

จึงขอเสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 ข้อ คือ

  • บรรจุการพัฒนาเดย์แคร์นมแม่คุณภาพใกล้บ้าน เป็นหนึ่งในกลวิธีส่งเสริมลูกคุณภาพ
  • เร่งรัดการพัฒนาครูพี่เลี้ยงให้มีความเข้าใจและมีทักษะการเลี้ยงดูคู่การเรียนรู้ ตามกรอบการให้การดูแลอย่างเอาใจใส่ขององค์การอนามัยโลก7 และมีกลวิธีการเลี้ยงดูเหมาะกับบริบทท้องถิ่น
  • เร่งรัดให้เกิดการพัฒนาเดย์แคร์นมแม่คุณภาพต้นแบบ อย่างน้อย 1 แห่ง ในทุกเขตสุขภาพ และมีการขยายผลครอบคลุมร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี
  • ส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญการบูรณาองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะทางการแพทย์ รายละเอียดข้อมูล อยู่ในท้ายเอกสารนี้

เอกสารประกอบข้อมูล

  1. เวทีสนทนานโยบายสาธารณ “เมื่อไทยเข้าสู่สังคมเด็กเกิดน้อย : ปัญหาและทางออก” ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) 15 ก.ย.2566
  2. Center on the Developing Child, Harvard University, ‘Key Concepts: Brain architecture’ accessed 2 March 2018. This source indicates that there are more than 1 million new neural connections for each second in the early years of a child’s life
  3. Heckman, James J., Moon, Seong Hyeok, Pinto, Rodrigo, Savelyev, Peter A. and Yavitz, Adam 13 Q.(2010). "Analyzing Social Experiments as Implemented: A Reexamination of the Evidence 14 from the High Scope Perry Preschool Program. "Quantitative Economics1(1): 1- 46.
  4. รายงานผลฉบับสมบูรณ์ การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2565 สำนักงานสถิติแห่งชาติและองค์การยูนิเซฟ เผยแพร่ กรกฎาคม 2566
  5. VUCA World – โลกแห่งการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ฉับพลัน ตั้งตัวไม่ทัน มาจากควาหมาย ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) ความคลุมเครือ (Ambiguity) 
  6. The Diorama Project: Development of a Tangible Medium to Foster STEAM Education Using Storytelling and Electronics. June 2018, Smart Innovation DOI:10.1007/978-3-319-61322-2_17 (WEF World Economic Forum 2018)
  7. โครงการย่อย “การพัฒนาเดย์แคร์นมแม่โดดเด่น” ในโครงการ “สร้างสุขภาวะเด็กไทยด้วยนมแม่ ฝ่าวิกฤติโควิด-19 และสานพลังเครือข่ายสู่การขยายผล” มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2565-2566 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. **
  8. The Nurturing Care Framework, WHO 2018
  9. โรงเรียนพ่อแม่ คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ Private 21 ม.ค. 2563
  10. Straus, M. and M. Paschall. "Corporal Punishment by Mothers and Development of Children’s Cognitive Ability: A Longitudinal Study of Two Nationally Representative Age Cohorts." Journal of Aggression, Maltreatment & Trauma 18, no. 5 (2009): 459-83.
  11. Erickson, M. and B. Egeland. "A Developmental View of the Psychological Consequences of Maltreatment." School Psychology Review 16, no. 2 (1987): 156-http://psycnet.apa.org/record/1987-29817-001.
  12. Schneider, M. et al. "Do Allegations of Emotional Maltreatment Predict Developmental Outcomes beyond That of Other Forms of Maltreatment?" Child Abuse & Neglect 29, no. 5 (2005): 513-32. doi:10.1016/j.chiabu.2004.08.010.

**(1) สถานส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ศูนย์อนามัยที่ 7 จังหวัดขอนแก่น (2) สวนเด็กสุทธาเวช โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (3) สถานเลี้ยงเด็กกลางวันสำหรับครอบครัวนมแม่ ศูนย์อนามัยที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (4) ศูนย์เด็กเล็กบ้านเด็ก โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครศรีธรรมราช (5) ศูนย์เด็กเล็กวัลลภไทยเหนือ กรมอนามัย (6) ศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ กรุงเทพมหานคร (7) ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล