เซโฟซิติน (Cefoxitin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

เซโฟซิติน (Cefoxitin หรือ Cephamycin) คือ ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรครุนแรง เช่น ปอดบวม  ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด  โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน กระดูกอักเสบ ฯลฯ, โดยมีรูปแบบเป็นยาฉีด

เซโฟซิตินเป็นยาในกลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) รุ่นที่2, มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียรุนแรงทั้งกลุ่มแกรมลบและแกรมบวก (Gram negative and Gram-positive) รวมถึงกลุ่มแอนแอโรบ (แบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการเจริญเติบโต/Anaerobes) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อรุนแรงที่อวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่นที่ ผิวหนัง กระดูก ระบบทางเดินหายใจ  และระบบทางเดินปัสสาวะ

โดยยาเซโฟซิตินมีกลไกออกฤทธิ์ที่ผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ตัวยานี้ไม่สามารถต่อต้านอาการป่วยจากเชื้อไวรัส เช่น จากโรคหวัด, ทั่วไปถ้าการใช้ยานี้ทำได้ถูกต้องและตรงกับเชื้อแบคทีเรียที่มีการตอบสนองกับยาเซโฟซิติน, ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการดีขึ้นภายในเวลาไม่กี่วันนับหลังจากได้รับยานี้, แต่ประการสำคัญ ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาจนครบคอร์ส (Course) ของการรักษาทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เชื้อโรคเกิดเชื้อดื้อยา

ผลข้างเคียงที่พบและเกิดขึ้นบ่อยกับผู้ป่วยที่ได้รับยาปฏิชีวนะคือ อาการท้องเสียหรือถ่ายเหลวเป็นน้ำ ผู้ป่วยบางรายอาจพบเลือดปนมากับอุจจาระ/อุจจาระเป็นเลือด, ยาเซโฟซิตินก็เป็นอีกหนึ่งรายการที่สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงดังกล่าวได้

ทางคลินิก จัดได้ว่ายาเซโฟซิตินค่อนข้างที่จะปลอดภัยกับสตรีตั้งครรภ์ ด้วยการทดลองใช้ยานี้กับสัตว์ทดลองพบว่า ไม่ก่อความพิการกับตัวอ่อนที่อยู่ในครรภ์จึงถือเป็นเหตุผลสนับสนุนที่สำคัญ, อีกทั้งยังสามารถใช้รักษาอาการป่วยของเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ได้เป็นอย่างดี, แต่การใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจะต้องเพิ่มความระมัดระวัง ด้วยตัวยาเซโฟซิตินสามารถขับออกมากับน้ำนมของมารดาได้

ข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ยาเซโฟซิตินที่ผู้บริโภคควรทราบ รวมถึงการแจ้งประวัติสุขภาพหรือโรคประจำตัวกับแพทย์ก่อนการใช้ยานี้ เช่น

  • มีประวัติแพ้ยาในกลุ่มเซฟาโลสปอรินหรือไม่
  • หากเป็นผู้ป่วยเบาหวาน การใช้ยานี้จะส่งผลต่อการตรวจน้ำตาลลูโคสในปัสสาวะ โดยทำให้ผลการทดสอบ/การตรวจปัสสาวะคลาดเคลื่อนได้
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ อาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงของยานี้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • การใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน ถือเป็นข้อที่ควรหลีกเลี่ยง ด้วยยังไม่มีข้อมูล ความปลอดภัยของการใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • การใช้ยาเซโฟซิตินติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อโรคชนิดอื่นที่ไม่ตอบสนองต่อยานี้ เช่น โรคเชื้อรา เป็นต้น
  • *ขณะใช้ยานี้แล้วมีอาการท้องเสียรุนแรง มีเลือดปนขณะถ่ายอุจจาระ ควรรีบต้องแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการใช้ยา
  • หลังการใช้ยานี้แล้ว หากอาการป่วยไม่ดีขึ้น หรือมีอาการทรุดหนักลง ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/รีบมาโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือทันที/ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

ทั้งนี้ คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้เซโฟซิตินอยู่ในกลุ่มยาอันตราย นอกจากนั้น การใช้ยานี้จะต้องอาศัยหัตถการทางการแพทย์อย่างเหมาะสมและปฏิบัติอยู่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

เซโฟซิตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาเซโฟซิตินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาอาการปอดบวม, ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ), โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ, การติดเชื้อในช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ), ผิวหนังติดเชื้อ  
  • การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน, การติดเชื้อในกระดูก/กระดูกอักเสบ, ข้ออักเสบติดเชื้อ
  • ใช้เป็นยาป้องกันการติดเชื้อในระหว่างการผ่าตัด

เซโฟซิตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเซโฟซิติน มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของ แบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต หมดความสามารถของการแพร่พันธุ์ และตายลงในที่สุด

เซโฟซิตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซโฟซิตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาฉีด ขนาด 1, 2 และ 10 กรัม/ขวด

เซโฟซิตินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเซโฟซิตินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. ผู้ใหญ่:

  • กรณีติดเชื้อที่ไม่ค่อยรุนแรง: เช่น ฉีดยา 1 กรัมเข้าหลอดเลือดดำ ทุก 6 - 8 ชั่วโมง
  • ติดเชื้อที่รุนแรงระดับกลาง: เช่น ฉีดยา 1 กรัม เข้าหลอดเลือดดำทุก 4 ชั่วโมง, หรือฉีดยา 2 กรัมเข้าหลอดเลือดดำทุก 6 - 8 ชั่วโมง
  • ติดเชื้อในระดับที่รุนแรง:เช่น ฉีดยา 2 กรัมเข้าหลอดเลือดดำทุก 4 ชั่วโมง, หรือฉีดยา 3 กรัม เข้าหลอดเลือดดำทุก 6 ชั่วโมง

ข. เด็กอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป: เช่น  ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 80 - 160 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งการให้ยาเป็น 4 - 6 ครั้งในแต่ละวัน, และขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่ควรเกิน 12 กรัม/วัน

ค. เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน: การใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน ถือเป็นข้อที่ควรหลีกเลี่ยง ด้วยยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเซโฟซิติน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซโฟซิตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

การฉีดยาเซโฟซิตินจะกระทำในสถานพยาบาล โดยมีตารางการฉีดยาตามคำสั่งของแพทย์ การลืมให้ยากับผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก

เซโฟซิตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซโฟซิติน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆ: เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ลำไส้ใหญ่อักเสบชนิด Pseudomembranous colitis
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดหัว
  • ผลต่ออวัยวะไต: เช่น มีค่าการทำงานของไต เช่น ครีอะตินีน (Creatinine)ในเลือดสูง ไตวายเฉียบพลัน เกิดพิษกับไต/ไตอักเสบ
  • ผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ: เช่น มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อระบบเลือด:  เช่น เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophilia สูง, เม็ดเลือดขาวต่ำ,  เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophilต่ำ, เกล็ดเลือดต่ำ, โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก และกดไขกระดูก 
  • ผลต่อการทำงานของตับ: เช่น มีระดับค่าการทำงานของเอนไซม์ตับในเลือดผิดปกติ เช่น ค่า SGOT (serum glutamic-oxaloacetic transaminase) และ SGPT (Serum glutamic pyruvic transaminase) เพิ่มสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์สตรี: เช่น ช่องคลอดอักเสบ,   การติดเชื้อราในช่องคลอด

มีข้อควรระวังการใช้เซโฟซิตินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้เซโฟซิติน: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน
  • การใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • *หากใช้ยานี้แล้วเกิดอาการแพ้ยา ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที และรีบแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • *ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะท้องเสีย ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ กรณีการถ่ายมีเลือดปนหรือท้องเสียอย่างรุนแรง ต้องรีบรายงานและแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ผู้ป่วยต้องได้รับยานี้ครบคอร์สถึงแม้อาการจะดีขึ้นภายใน 1 - 2 วันแรกก็ตาม ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดอาการเชื้อดื้อยา
  • ห้ามใช้ยานี้ที่มีสิ่งเจือปน เช่น กรณีพบฝุ่นผงปนมากับตัวยา
  • ยานี้ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย, ห้ามนำไปรักษาโรคติดเชื้อกลุ่มอื่นๆ เช่น โรคติดเชื้อไวรัส
  • การใช้ยานี้ติดต่อกันนานๆ จะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อชนิดอื่นที่ยาเซโฟซิตินไม่สามารถต่อต้านได้ เช่น โรคเชื้อรา เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซโฟซิตินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เซโฟซิตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซโฟซิตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • การใช้ยาเซโฟซิติน ร่วมกับยา Heparin อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาเซโฟซิติน ร่วมกับกลุ่มยา Aminoglycosides อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงกับไตของผู้ป่วยได้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเซโฟซิติน ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด อาจทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดด้อยลง ผู้ป่วยควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • การใช้ยาเซโฟซิติน ร่วมกับยา Entecavir (ยาต้านไวรัส) อาจทำให้ระดับยาตัวใดตัวหนึ่ง หรือทั้งสองตัวในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาเซโฟซิตินอย่างไร?

ควรเก็บยาเซโฟซิติน: เช่น

  • เก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาเซฟาโลสปอรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซโฟซิติน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cefoxin (เซโฟซิน) M & H Manufacturing
Cefxitin (เซฟซิทิน) Siam Bheasach

 

อนึ่ง: ยาชื่อการค้าอื่นของยาเซโฟซิตินที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Mefoxin

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Cefoxitin   [2022,Dec24]
  2. https://www.drugs.com/mtm/cefoxitin.html   [2022,Dec24]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cefoxin/  [2022,Dec24]
  4. https://www.drugs.com/dosage/cefoxitin.html  [2022,Dec24]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/cefoxitin-index.html?filter=2&generic_only=  [2022,Dec24]
  6. https://go.drugbank.com/drugs/DB01331  [2022,Dec24]