เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis)
- โดย พญ. ธนัฐนุช วงศ์ชินศรี
- 1 พฤษภาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ?
- เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบเกิดได้อย่างไร?
- เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบมีอาการอย่างไร?
- เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบติดต่อกันได้ไหม?
- แพทย์วินิจฉัยเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบได้อย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- รักษาเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบอย่างไร?
- เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia)
- กระดูกอักเสบ (Osteomyelitis)
- ผิวแห้ง (Dry skin)
บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ(Cellulitis) คือ การอักเสบเฉียบพลันจากการติดเชื้อของผิวหนังในชั้นหนังแท้และในเนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนัง เป็นโรคที่พบบ่อย และพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย พบได้ทุกตำแหน่งของผิวหนัง แต่จะพบบ่อยบริเวณส่วนรยางค์(Appendage, คือส่วนที่ยื่นออกมาจากลำตัว ได้แก่ ขา แขน)ของร่างกาย โดยขาจะพบได้บ่อยกว่าแขน
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ?
เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ โดยทั่วไปเกิดจากการติดเชื้อประเภทแบคทีเรีย เชื้อที่พบบ่อยคือเชื้อ Streptococcus spp./Species และ Staphylococcus spp. ซึ่งเป็นเชื้อที่สามารถพบได้เป็นปกติบริเวณผิวหนังโดยไม่ก่อโรค แต่เมื่อคนไข้มีการบาดเจ็บที่ผิวหนัง มีรอยแตกแยกที่ผิวหนังเกิดขึ้น จึงทำให้เชื้อเหล่านี้เข้าสู่ผิวหนังชั้นลึกและมีการเพิ่มจำนวนจนทำให้เกิดการติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม เชื้อแบคทีเรียในกลุ่มอื่นๆ ก็เป็นสาเหตุของเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบได้แต่พบได้น้อยกว่า และ ประวัติอาชีพ หรือการสัมผัสต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น การเลี้ยงสัตว์ การสัมผัสน้ำทะเล อาจมีประโยชน์ต่อการสงสัยชนิดเชื้อแบคทีเรียที่แตกต่างออกไป เช่น การถูกแมวกัดที่แผลมักติดเชื้อชนิด Pasteurella multocida เป็นต้น
อนึ่ง ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ได้แก่
- การมีแผลเกิดใหม่ที่ผิวหนัง
- การมีผื่น หรือ รอยโรคเดิมที่ผิวหนัง เช่น รอยโรค จากโรคเชื้อรา หรือจากแมลงกัด
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน, โรคมะเร็ง
- มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันฯ, ผู้ป่วยโรคเอดส์
- มีประวัติการใช้เข็มฉีดยา
เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบเกิดได้อย่างไร?
เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ มักพบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากบริเวณที่ผิวหนังมี รอยแตก รอยแยก หรือ รอยแผล เช่น มีการบาดเจ็บ มีผื่น ทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ผิวหนังชั้นลึก และก่อให้เกิดการติดเชื้อขึ้น
อย่างไรก็ตาม บางครั้งเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ก็ไม่สามารถพบแผลหรือรอยแตกรอยแยกใดที่จะเป็นช่องทางเข้าของเชื้อ อาจเนื่องจากมีแค่การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังในระดับที่ตาเปล่าไม่สามารถมองเห็น หรือ เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคที่มีความรุนแรงสูง
นอกจากนั้น อาจพบการเกิดเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบจากการติดเชื้อผ่านทางกระแสเลือดที่ได้รับเชื้อมาจากบริเวณอื่นของร่างกาย เช่น การอักเสบติดเชื้อของกระดูกและไขกระดูก (กระดูกอักเสบ), หรือจากการมีโพรงหนองบริเวณถุงผนังลำไส้ใหญ่ (Diverticular Abscesses)
เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบมีอาการอย่างไร?
ผิวหนังที่มีการติดเชื้อ/เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ จะมีอาการ
- เจ็บ ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่มีการติดเชื้อ
- ขอบเขตของรอยโรค มองดูไม่ชัดเจน
- มักพบมีการติดเชื้อบริเวณ แขน ขาโดยจะพบที่ขาได้บ่อยกว่าที่แขน
- มักมีอาการอื่นที่ร่วมด้วยกับอาการทางผิวหนัง เช่น
- มีไข้
- อ่อนเพลีย
- ปวดเมื่อยตามตัว
- อาจมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโต กดเจ็บ เช่น ในกรณีที่ติดเชื้อบริเวณขา ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ อาจโต บวม อาจเจ็บ และคลำพบได้
เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบติดต่อกันได้ไหม?
เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ เป็นโรคที่ไม่ติดต่อจากบุคคลสู่บุคคล เนื่องจากเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนังในชั้นลึก และโดยทั่วไปคนเราจะมีผิวหนังชั้นนอกที่ปกติปกคลุมป้องกันอยู่ นอกจากนั้น เชื้อที่ทำให้เกิดเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบได้บ่อย ก็เป็นเชื้อที่สามารถพบได้อยู่แล้วบนผิวหนังชั้นนอกสุดปกติของมนุษย์
แพทย์วินิจฉัยเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบได้อย่างไร?
โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบโดย
- วินิจฉัยจากอาการผู้ป่วย ร่วมกับ
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC/ซีบีซี)
- ส่งเพาะเชื้อจากหนอง หรือ จากสารคัดหลั่งบริเวณบาดแผล (Swab culture)
- ในรายที่อาการรุนแรง อาจส่งตรวจเลือดเพื่อเพาะเชื้อ(Blood culture)เพื่อดูการติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด)
- อาจมีการส่งตรวจภาพรอยโรคทางรังสีวิทยา เช่น
- อาจส่งตรวจเอกซเรย์เมื่อสงสัยมีวัตถุแปลกปลอมในเนื้อเยื่อที่อักเสบ
- หรือ อาจส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) เมื่อสงสัยภาวะแทรกซ้อน เช่น การเกิดโพรงหนองในเนื้อเยื่อผิวหนังและ/หรือในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง หรือ สงสัยมีการติดเชื้อที่กระดูก(กระดูกอักเสบ)
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
เมื่อมีแผลที่ผิวหนัง ที่อาการแย่ลง หรือที่มีอาการ ปวด บวม แดง บริเวณผิวหนังนั้นๆร่วมด้วย ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
รักษาเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบอย่างไร?
แนวทางการรักษาเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ได้แก่
- การใช้ยาปฏิชีวนะ ชนิดรับประทานหรือชนิดฉีด อย่างรวดเร็ว ตามความเหมาะสมกับความรุนแรงของอาการ และชนิดของเชื้อแบคทีเรีย
- ในรายที่มีไข้ หรือมีอาการปวดร่วมด้วย ผู้ป่วยควรได้รับ ยาลดไข้ ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการ
- ผู้ป่วยควรยกอวัยวะส่วนที่ติดเชื้อขึ้นสูงกว่าพื้นราบ เช่น หนุนขาข้างมีรอยโรคให้สูงด้วยหมอนรอง เพื่อช่วยลดอาการบวม
- หากมีผื่นหรือมีแผลที่ผิวหนัง ควรมีการดูแลรักษาที่เหมาะสม เช่น มีการทำความสะอาดแผลและทำแผล รวมทั้งมีการรักษารอยโรคเดิมที่ผิวหนัง เช่น ในคนไข้ที่มีเชื้อรา หรือผื่นผิวหนังอักเสบอื่นๆ ทั้งนี้ควรดูแลตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล ที่ดูแลรักษา
เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ คือ จะเป็นโรคที่ร้ายแรงได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะเชื้อแบคทีเรียอาจมีการกระจายทางระบบน้ำเหลือง และอาจลุกลามกระจายเข้าไปในกระแสเลือด จนทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะ ติดเชื้อในกระแสเลือด ที่เป็นเหตุให้ถึงตายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำหรือบกพร่อง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
แต่โดยทั่วไป หากได้รับยาปฏิชีวนะที่ตรงกับเชื้อก่อโรค อาการผู้ป่วยจะดีขึ้นในระยะเวลาประมาณ 48 ชั่วโมงหลังได้รับยาปฏิชีวนะนั้น
เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ เช่น
1. การเกิดโพรงหนอง (Abscess formation)ในเนื้อเยื่อชั้นผิวหนังและ/หรือเนื้อเยื่อต่างๆชั้นลึกใต้ผิวหนัง
2. การติดเชื้อลุกลามไปที่กล้ามเนื้อและที่กระดูก
3. ในรายที่มีการติดเชื้อบริเวณรอบตา อาจมีการลุกลามของเชื้อจากตาเข้าไปในสมอง ส่งผลให้เกิดสมองอักเสบ และ/หรือฝีในสมอง
4. การติดเชื้อเข้ากระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด) ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยอาจถึงตายได้
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมี แผล ที่สำคัญ เช่น
- หากมีผื่นหรือแผลที่ผิวหนัง ควรมีการดูแลรักษาที่เหมาะสมกับความรุนแรงของรอยโรค เช่น ถ้ารอยโรคไม่มากเพียงแผลถลอก สามารถดูแลตนเองในเบื้องต้นได้ แต่ถ้าแผลไม่ดีขึ้น หรือลุกลามมากขึ้นหลังดูแลตนเอง หรือแผลรุนแรงตั้งแต่แรก เช่น แผลฉีกขาดมาก แผลลึก แผลสกปรก ควรรีบไปโรงพยาบาลตั้งแต่แรก
- ในผู้ป่วยที่ผิวแห้ง ควรมีการทาผิวด้วยสารที่ให้ความชุ่มชื้นผิว (Moisturizer) เช่น น้ำมัน(Oil) , โลชั่น (Lotion), ครีมเบส (Cream base), ปิโตเลียมเจล (Petroleum jelly) เพื่อให้ผิวไม่แห้ง และถูกทำลายได้ง่าย
- หากผิวหนัง มีอาการ บวม แดง ร้อน และดูมีแนวโน้มจะลุกลามมากขึ้นควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาที่รวดเร็วและเหมาะสม แผลจะสามารถหายเป็นปกติโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ส่วนการดูแลเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ หลังพบแพทย์แล้ว คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง ไม่ขาดยา
- ดูแล รักษาความสะอาด แผล/รอยโรค ตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลอย่างเคร่งครัด
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- ผิวหนังบริเวณที่มีการติดเชื้อดูแย่ลง แผล/รอยโรคลุกลามใหญ่ มากขึ้น
- มีอาการร่วมอื่นๆที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก เบื่ออาหาร อาเจียน
- มีผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาที่แพทย์สั่ง เช่น ขึ้นผื่นทั้งตัว เนื้อตัวบวม เป็นลม
- กังวลในอาการ
ป้องกันเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบได้อย่างไร?
วิธีป้องกันเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ได้แก่
- หากมีผื่นหรือมีแผลที่ผิวหนัง ควรมีการดูแลรักษาที่เหมาะสม ไม่ปล่อยปละละเลยให้ติดเชื้อ
- ถ้าแผลมีลักษณะติดเชื้อที่ลุกลาม เช่น มีหนองมากขึ้น ปวดมากขึ้น แผลขยายใหญ่ขึ้น แผลกินลึกมากขึ้น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
- ในผู้ป่วยที่ผิวแห้ง ควรมีการทาสารให้ความชุ่มชื้นที่ผิวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผิวมีความแข็งแรง ไม่แห้งแตกและถูกทำลายจนเกิดแผล/ผื่นได้ง่าย
บรรณานุกรม
- ปรียากุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555
- Lowell A.Goldsmith,Stephen I.Katz,BarbaraA.Gilchrest,Amy S.Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick Dermatology in general medicine .eight edition.McGraw hill.
- https://patient.info/skin-conditions/skin-rashes/cellulitis-and-erysipelas [2022,April30]
- https://emedicine.medscape.com/article/214222-overview#showall [2022,April30]