อาการบวมน้ำ (Water retention)

บทความที่เกี่ยวข้อง
อาการบวมน้ำ

อาการบวมน้ำ หรือ การบวมน้ำ หรือ บวมน้ำ (Water retention หรือ Edema หรือ Dropsy) ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือ ภาวะที่มีน้ำระหว่างเซลล์ หรือภายในเซลล์มากเกินปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง โดยทั่วไปหมายถึง ภาวะที่มีน้ำอยู่ใต้ผิวหนังมากกว่าปกติ และอาจพบได้ในอวัยวะอื่น เช่น สมอง ปอด ซึ่งทั้งหมดเป็นความหมายที่ตรงกับความหมายทางการแพทย์

ทั้งนี้ อาการบวม อาจเกิดจากการคั่งของน้ำ หรือ การคั่งของน้ำเหลืองก็ได้ แต่โดยทั่วไปการบวมน้ำส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเกิดจากการคั่งของน้ำ โดยตำแหน่งที่พบเกิดได้บ่อย คือ ขา และเท้า

เมื่อบวมจากมีการคั่งของน้ำในร่างกายผิดปกติหรือการบวมน้ำ

  • ถ้าเรากดลงบนผิวส่วนที่บวม ผิวส่วนนั้นจะยุบบุ๋มลงช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วจะกลับมาบวมตามเดิม เรียกการบวมลักษณะนี้ว่า ‘Pitting edema’
  • แต่ถ้าการบวมเกิดจากการคั่งของน้ำเหลืองจะกดไม่บุ๋ม เรียกการบวมลักษณะนี้ว่า ‘Non pitting edema’

อาการบวมน้ำ อาจบวมเพียงตำแหน่งเดียว (เช่น ตรงส่วนที่แมลงกัด/ต่อย ) หรือ บวมทั้งตัว (เช่น ในภาวะหัวใจล้มเหลว) ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ

อาการบวมน้ำ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • มีการเพิ่มสารอุ้มน้ำบางชนิดในหลอดเลือด เช่น การมีเกลือโซเดียมในเลือดสูง
  • มีการลดลงของสารอุ้มน้ำบางชนิดในหลอดเลือด เช่น ภาวะร่างกายขาดสารโปรตีนโดยเฉพาะแอลบูมิน
  • มีการอุดตันของหลอดเลือด หรือ หลอดน้ำเหลือง เช่น ภาวะมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ หรือ ภาวะเกิดพังผืดในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
  • มีหลอดเลือดอักเสบ เช่น ในการอักเสบติดเชื้อ
  • ภาวะร่างกายมีการสร้างน้ำมากกว่าปกติ เช่น การบวมน้ำในช่องท้องหรือท้องมานจาก โรคมะเร็ง เป็นต้น

การวินิจฉัย:

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการบวมน้ำได้จาก

  • ประวัติอาการต่างๆของผู้ป่วย
  • ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน
  • การตรวจร่างกาย
  • อาจร่วมกับการตรวจภาพอวัยวะที่มีอาการด้วย เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) และ/หรือ เอมอาร์ไอ
  • อาจมีการตรวจเลือดดูค่าสารต่างๆที่แพทย์สงสัยว่าเกี่ยวข้อง เช่น โซเดียม แอลบูมิน ซีบีซี

การรักษา:

แนวทางการรักษาอาการบวมน้ำ คือ การรักษาสาเหตุ, และอาจร่วมกับการให้ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ, หรือ/และ การเจาะ/การใส่ท่อเพื่อระบายน้ำ, ทั้งนี้ขึ้นกับอวัยวะที่เกิดอาการบวมน้ำ, อาการทั่วไปของผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘บวมน้ำ’)

บรรณานุกรม

  1. Edema http://en.wikipedia.org/wiki/Edema [2021,Feb27]