อะโลกลิปทิน (Alogliptin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอะโลกลิปทิน (Alogliptin) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ชนิดรับประทาน ถูกพัฒนาและนำออกวางจำหน่ายภายในปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) การรักษาด้วยยาอะโลกลิปทินจะไม่ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ ภาวะหัวใจขาดเลือด ซึ่งมักพบกับผู้ป่วยเบาหวาน แต่อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ้าง

เมื่อรับประทานยานี้ ร่างกายสามารถดูดซึมยาอะโลกลิปทินได้อย่างสมบูรณ์ ยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 20% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ร่างกายต้องใช้เวลา 12 - 21 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ทางการแพทย์มักใช้ยาอะโลกลิปทินรักษาเบาหวานร่วมกับยา Metformin หรือยาอื่นตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายบุคคลไป

อะโลกลิปทินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อะโลกลิปทิน

ยาอะโลกลิปทินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้รักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 diabetes)

อะโลกลิปทินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะโลกลิปทินมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะไปกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการเผาผลาญน้ำตาลในกระแสเลือด นอกจากนี้ยังยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยเพิ่มน้ำตาลในกระแสเลือด ตลอดจนชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด จากกลไกที่กล่าวมา มีผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

อะโลกลิปทินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะโลกลิปทินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

ก. ยาเดี่ยวชนิดเม็ด ขนาด 6.25, 12.5 และ 25 มิลลิกรัม/เม็ด

ข. ยาเม็ดที่ผสมกับยารักษาโรคเบาหวานชนิดอื่น เช่น

  • Alogliptin 25 มิลลิกรัม + Poiglitazone 15 มิลลิกรัม/เม็ด
  • Alogliptin 25 มิลลิกรัม + Poiglitazone 30 มิลลิกรัม/เม็ด

อะโลกลิปทินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะโลกลิปทินมีขนาดรับประทาน เช่น

ก.สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภท 2:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 มิลลิกรัมวันละครั้ง

ข. สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภท 2 ที่มีโรคไต: ที่มีค่าครีอะตินีน เคลียรานซ์ (Creatinine clearance (ค่าการทำงานของไต) อยู่ระหว่าง 30 - 60 มิลลิลิตร/นาที รับประทาน 12.5 มิลลิกรัมวันละครั้ง, ถ้าค่า Creatinine clearance อยู่ระหว่าง 15 - 30 มิลลิลิตร/นาที รับประทาน 6.25 มิลลิกรัมวันละครั้ง

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลัง อาหารก็ได้
  • ในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) : ยังไม่มีการศึกษาที่ได้ข้อมูลแน่ชัดถึงการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยาจึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอะโลกลิปทิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะโลกลิปทินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะโลกลิปทิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อะโลกลิปทินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะโลกลิปทิน สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • เหงื่อออกมาก
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • หิวบ่อย
  • ตาพร่า
  • วิงเวียนศีรษะ

อนึ่ง: เมื่อเกิดอาการดังกล่าวหลังรับประทานยานี้ ผู้ป่วยมักต้องรับประทานน้ำตาลกลูโคส (เช่น น้ำหวาน อมลูกอมหวาน) เพื่อช่วยบรรเทาอาการดังกล่าว และถ้าเกิดอาการเหล่านั้นบ่อยหลังรับประทานยานี้ ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดยา

มีข้อควรระวังการใช้อะโลกลิปทินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอะโลกลิปทิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยหรือผู้มีประวัติเป็น โรคไต โรคตับ โรคตับอ่อนอักเสบ

หรือนิ่วในถุงน้ำดี

  • หากมีอาการวิงเวียน ตาพร่าในระหว่างการใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำงานกับเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุราด้วยจะมีผลทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
  • หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบว่าเป็นโรคเบาหวาน และใช้ยาเบาหวานตัวใดบ้าง
  • ระวังการใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • ควรเรียนรู้ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และวิธีการดูแลรักษาตนเองในเบื้องต้นเมื่อเกิดภาวะดัง กล่าว
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะโลกลิปทินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อะโลกลิปทินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะโลกลิปทินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยานี้ ร่วมกับยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blodker) เช่นยา Metoprolol, Propranolol ที่ถูกนำมาใช้ร่วมรักษาอาการหัวใจเต้นเร็ว ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การใช้ยาร่วม กันจึงต้องขึ้นกับคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา
  • การใช้ยาอะโลกลิปทิน ร่วมกับยา Pseudoephedrine, Estradiol, Phenylephrine, Hydrocortisone, Epinephrine สามารถรบกวนการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ จนอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล
  • ยาบางตัวสามารถรบกวนประสิทธิภาพของยาอะโลกลิปทินจนก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงก็ได้ ยาดังกล่าว เช่นยา Ofloxacin (ยาปฏิชีวนะ) หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับภาวะน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนไปในผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยจะต้องสังเกตและเรียนรู้เกี่ยวกับความผิดปกติของร่างกายเมื่อน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนแปลงไป เพื่อการดูแลตนเองในเบื้องต้นและเพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • การใช้ยาอะโลกลิปทิน ร่วมกับยา Captopril อาจทำให้เกิดอาการบวมของใบหน้า ตา ปากและลิ้น ซึ่งเมื่อเกิดอาการดังกล่าว ควรหยุดการใช้ยานี้ และรีบกลับมาพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาหรือปรับเปลี่ยนยาใหม่

ควรเก็บรักษาอะโลกลิปทินอย่างไร?

ควรเก็บยาอะโลกลิปทิน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อะโลกลิปทินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะโลกลิปทิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Nesina (เนซินา) Takeda
Oseni (โอเซนิ) Takeda
Vipidia (วิพิเดีย) Takeda

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Alogliptin[2021,Jan9]
2 http://www.mims.com/Hongkong/Drug/info/Oseni/?type=brief[2021,Jan9]
3 http://www.webmd.com/drugs/2/drug-163399/nesina-oral/details [2021,Jan9]
4 http://www.drugs.com/drug-interactions/alogliptin-index.html?filter=2&generic_only= [2021,Jan9]
5 https://www.rxlist.com/nesina-drug.htm [2021,Jan9]
6 http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/28513 [2021,Jan9]
7 http://www.drugs.com/cdi/alogliptin.html [2021,Jan9]
8 http://www.webmd.com/drugs/2/drug-163392/alogliptin-oral/details/list-contraindications[2021,Jan9]
9 http://www.drugdevelopment-technology.com/projects/nesina-alogliptin-for-the-treatment-of-type-2-diabetes-mellitus/ [2021,Jan9]