อะม็อกซาปีน (Amoxapine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

อะม็อกซาปีน (Amoxapine) คือ ยาต้านเศร้าในกลุ่ม Tetracyclic antidepressant หากจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับยาอื่นที่ใช้รักษาอาการซึมเศร้า จะพบว่ายาอะม็อกซาปีนเป็นยาที่ออกฤทธิ์และเห็นผลเร็วภายใน 4 - 7 วัน อาการของผู้ป่วยก็เริ่มดีขึ้นตามลำดับ ในอนาคตมีแนวโน้มที่จะนำยานี้ไปรักษาอาการทางโรคจิตเภทอีกด้วย

อนึ่ง: ชื่อการค้าในต่างประเทศของยาอะม็อกซาปีน เช่น Asendis, Demolox

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาอะม็อกซาปีนที่มีจำหน่ายจะเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายได้มากกว่า 60% จากนั้นตัวยาอะม็อกซาปีนจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนในเลือดได้ถึงประมาณ 90% ก่อนที่จะถูกส่งไปเปลี่ยนแปลงโครง สร้างทางเคมีที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 30 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาอะม็อกซาปีนปริมาณ 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะเสียเป็นส่วนมากและมีบางส่วนถูกกำจัดทิ้งไปกับอุจจาระ

ทางคลินิกได้ระบุข้อควรระวังการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้ากับเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)และวัยรุ่น ต้องระวังอาการคิดทำร้ายตนเองหรือความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย ยาอะม็อกซาปีนก็เป็นยาอีกหนึ่งรายการที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องนี้เช่นกัน และเป็นเหตุผลที่แพทย์มักไม่ใช้ยาอะม็อกซาปีนกับผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นดังกล่าว

อาจสรุปเหตุผลที่แพทย์นำมาประกอบการพิจารณาก่อนใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ดังนี้

  • ผู้ป่วยเคยมีประวัติการแพ้ยาอะม็อกซาปีนมาก่อนหรือไม่
  • ถือเป็นข้อห้ามที่จะใช้อะม็อกซาปีนกับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวโดยเด็ดขาด หรือต้องระวังการใช้ยาอย่างมากกับผู้ป่วยด้วยโรคต่อมไทรอยด์ โรคต้อหิน โรคเลือด โรคต่อมลูกหมากโต หรือผู้ที่มีอาการปัสสาวะไม่ออก
  • แพทย์จะไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่ม MAOI ภายใน 14 วันที่ผ่านมา
  • เป็นผู้ดื่มสุราจัดหรือติดสุราหรือไม่เพราะแอลกอฮอล์จะส่งผลกระทบต่อการรักษาโรคซึมเศร้าอย่างมาก
  • ผู้ป่วยมีความผิดปกติของระบบประสาทมาก่อน เช่น เป็นโรคลมชัก อารมณ์สองขั้ว/ไบโพลาร์(Bipolar disorder) หรืออาการทางจิตประสาทอย่างรุนแรงมาก่อนหรือไม่
  • ผู้ป่วยอยู่ในภาวะต้องเข้ารับการผ่าตัดในเวลาอันใกล้หรือไม่ ด้วยการใช้ยานี้จะส่งผลต่อการทำงานของหัวใจทำให้สภาพร่างกายผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้
  • ปัจจุบันผู้ป่วยใช้ยาอะไรอยู่บ้าง เพราะมียาหลายรายการที่สามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับตัวยาอะม็อกซาปีน เช่น กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ยากลุ่ม SSRIs, กลุ่ม Sympathomimetics, Macrolides, Phenothiazine, จนสามารถส่งผลกระทบ/ผลข้างเคียงต่อ ระบบเลือด ระบบประสาท ความดันโลหิต การทำงานของหัวใจ เมื่อใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับ ยาอะม็อกซาปีน

ผู้ป่วยที่ได้รับยาอะม็อกซาปีน อาจเกิดความผิดปกติในการทรงตัวรวมถึงการควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา ใบหน้า ปาก กราม ลิ้น แก้ม ซึ่งพบมากเมื่อมีการใช้ยาอะม็อกซาปีนในผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่เป็นสตรี หากพบอาการเหล่านี้ในช่วงเริ่มต้นของการรับประทานยานี้ ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินก่อนถึงวันนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนการรักษา

ผู้ป่วยบางกลุ่มอาจพบอาการผิวแพ้แสงแดดหลังใช้ยาอะม็อกซาปีน หากพบอาการนี้แพทย์จะแนะนำให้เลี่ยงการออกกิจกรรมกลางแจ้งในระหว่างที่มีการใช้ยานี้

โดยรวมแล้ว ยังมีข้อพึงระวังและข้อห้ามอีกหลายประการที่ผู้ป่วยควรทราบ และระหว่างการใช้ยานี้ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

อะม็อกซาปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

อะม็อกซาปีน-01

ยาอะม็อกซาปีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บำบัดรักษาอาการโรคซึมเศร้า

อะม็อกซาปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะม็อกซาปีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่สมองโดยยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Serotonin และ Norepinephrine อีกทั้งส่งผลปิดกั้นการตอบสนองของตัวรับ(Receptor) ที่มีชื่อว่า Dopamine receptor ต่อสารสื่อประสาทประเภท Dopamine ด้วยกลไกดัง กล่าวทำให้เกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทได้อย่างเหมาะสมจนทำให้อารมณ์ความรู้สึกของผู้ ป่วยกลับมาเหมือนปกติ

อะม็อกซาปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอะม็อกซาปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 25, 50 100 และ 150 มิลลิกรัม/เม็ด

อะม็อกซาปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะม็อกซาปีนมีขนาดรับประทาน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัมวันละ 2 - 3 ครั้ง ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 100 มิลลิกรัมวันละ 2 - 3 ครั้ง กรณีที่ใช้ยาขนาด 300 มิลลิกรัม/วันแล้วอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มอีกได้ โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้สูงอายุ: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 25 มิลลิกรัมวันละ 2 - 3 ครั้ง ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 50 มิลลิกรัมวันละ 2 - 3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: โดยทั่วไปแพทย์มักไม่ใช้ยานี้ในเด็กและวัยรุ่นด้วยเหตุผลจากผลข้างเคียงที่อาจทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เกิดอารมณ์อยากทำร้ายตนเองหรือคิดฆ่าตัวตาย

*อนึ่ง สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอะม็อกซาปีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะม็อกซาปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะม็อกซาปีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อะม็อกซาปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอะม็อกซาปีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ท้องผูก
  • ง่วงนอน
  • ปากคอแห้ง

ทั้งนี้ บางกรณีอาจพบอาการข้างเคียงที่รุนแรงขึ้น เช่น

  • อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
  • ปาก-ใบหน้า-ลิ้นบวม
  • แสบร้อนผิวหนัง
  • หูอื้อ
  • รู้สึกสับสน
  • ปัสสาวะขัด
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนไป
  • นอนหลับยาก
  • สูญเสียการทรงตัว
  • เหนื่อยง่าย หรือ อ่อนเพลียไม่มีแรง
  • พูดจาติดขัด
  • สภาพการมองเห็นเปลี่ยนไป
  • เกิดอาการซึมเศร้ามากขึ้น

*ซึ่ง ถ้ามีอาการดังกล่าวเหล่านี้ ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด/ฉุกเฉินตามความรุนแรงของอาการ

*อนึ่ง: อาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดสามารถพบอาการไตวาย, มีภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย, เกิดภาวะโคม่า, มีอาการลมชัก หากพบอาการดังกล่าวควรต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้อะม็อกซาปีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้อะม็อกซาปีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาอะม็อกซาปีน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก โดยที่ไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานยานี้หรือหยุดการใช้ยานี้โดยมิได้ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม
  • หลีกเลี่ยงการออกแดดจัดด้วยตัวยานี้อาจกระตุ้นให้ผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย
  • ญาติควรเฝ้าระวังพฤติกรรมของผู้ป่วยระหว่างการใช้ยานี้เช่น อารมณ์เปลี่ยนแปลง รู้สึกอยากทำร้ายตัวเองหรือซึมเศร้ามากขึ้น หากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษา
  • การรับประทานยาในช่วงก่อนนอนอาจช่วยลดเรื่องอาการข้างเคียงต่างๆจากยาลงได้
  • พาผู้ป่วยมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้โดยเด็ดขาด
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** หมายเหตุ: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะม็อกซาปีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อะม็อกซาปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอะม็อกซาปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอะม็อกซาปีน ร่วมกับยา Chlorpheniramine อาจเพิ่มอาการข้างเคียงจากยาอะม็อกซาปีนมากยิ่งขึ้น เช่น มีอาการง่วงนอน ตาพร่า ปากคอแห้ง หน้าแดง เกิดภาวะเป็นลมแดดได้ง่าย เหงื่อออกน้อย ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด เพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาอะม็อกซาปีน ร่วมกับยา Bupropion อาจเพิ่มความเสี่ยงกับการเกิดอาการลมชัก หากจำเป็นที่ต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาอะม็อกซาปีน ร่วมกับยา Methylene blue อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome) หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาอะม็อกซาปีน ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin อาจนำมาซึ่งอาการตกเลือดหรือเกิดภาวะเลือดออกง่าย กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาอะม็อกซาปีนอย่างไร?

ควรเก็บยาอะม็อกซาปีน: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

อะม็อกซาปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะม็อกซาปีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Asendin (อะเซนดิน) Lederle Laboratories
Defanyl (ดีฟานิล) Eisai

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Amoxapine#Pharmacodynamics [2022,July16]
  2. https://www.drugs.com/mtm/amoxapine.html [2022,July16]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/amoxapine-index.html?filter=3&generic_only= [2022,July16]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/amoxapine?mtype=generic [2022,July16]
  5. https://www.catalog.md/drugs/defanyl.html [2022,July16]
  6. https://www.drugs.com/imprints/a-13-1917.html [2022,July16]