อะซีลาสตีน (Azelastine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 ตุลาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- อะซีลาสตีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- อะซีลาสตีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อะซีลาสตีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อะซีลาสตีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- อะซีลาสตีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อะซีลาสตีนอย่างไร?
- อะซีลาสตีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอะซีลาสตีนอย่างไร?
- อะซีลาสตีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอช 1 แอนตาโกนิสต์ (H1 antagonists)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic conjunctivitis)
- เยื่อจมูกอักเสบ (Rhinitis)
- มาสต์เซลล์ แมสต์เซลล์ (Mast cell)
บทนำ: คือยาอะไร?
อะซีลาสตีน (Azelastine หรือ Azelastine hydrochloride) คือ ยาแก้แพ้ กลุ่ม H1-receptor antagonist ถูกนำมาใช้รักษาอาการเยื่อจมูกอักเสบด้วยโรคภูมิแพ้ตั้งแต่ระดับความรุนแรงโรคต่ำไปจนถึงระดับโรครุนแรงสูง รวมถึงอาการเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้, โดยรูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะมีทั้งชนิดยาพ่นจมูก และยาหยอดตา, ชื่ออื่น เช่น Azelastine HCl
ตัวยาอะซีลาสตีน สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย/กระแสเลือดได้ ซึ่งเมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 40%, ร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 22 ชั่วโมงเพื่อการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด
ข้อจำกัดของการใช้ยาอะซีลาสตีน คือ ผู้ป่วยต้องไม่มีประวัติแพ้ยาอะซีลาสตีนมาก่อน และผลข้างเคียงของยานี้จะคล้ายกับยาต้านฮิสตามีน/ยาแก้แพ้ (Antihistamine)ตัวอื่น คือ ง่วงนอน, แพทย์จึงมักจะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือไปขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ หรือทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาอะซีลาสตีนอย่างสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะ ให้นมบุตร ก็ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนอย่างเพียงพอว่าสามารถใช้ยาอะซีลาสตีนได้อย่างปลอดภัยหรือไม่, ดังนั้นการใช้ยานี้จึงต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ
กับกลุ่มผู้ป่วยเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)สามารถใช้ยาอะซีลาสตีนได้ตั้งแต่อายุ 5 ปีขึ้นไป กรณีที่อายุน้อยกว่า 5 ปีลงมานั้นยังต้องอาศัยความเห็นของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะใช้ยานี้หรือไม่
สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสูงอายุ แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาอะซีลาสตีนเริ่มต้นในขนาดต่ำๆก่อน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อการทำงานของ ตับ ไต หัวใจ รวมถึงอาจจะกระทบถึงโรคประจำตัวของผู้ป่วยด้วย
ระยะเวลาของการใช้ยาอะซีลาสตีนจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ในบางกรณีอาจต้องใช้ยานานถึง 2 สัปดาห์ เช่น ยาที่ใช้พ่นจมูกเพื่อบำบัดอาการแพ้ตามฤดูกาล แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
จากรายละเอียดข้างต้น ดูเหมือนว่ายาอะซีลาสตีนจะมีข้อห้ามข้อควรระวังไม่มากเท่าไรนัก แต่เพื่อความปลอดภัยเหมาะสมต่ออาการของผู้ป่วยเอง ควรต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
อะซีลาสตีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาอะซีลาสตีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บำบัดอาการเยื่อจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้ โดยใช้เป็นยาพ่นจมูก
- บรรเทาอาการเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ โดยใช้ในลักษณะยาหยอดตา
อะซีลาสตีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอะซีลาสตีน คือ ตัวยาจะเข้ายับยั้งการปลดปล่อยสารตัวสื่อ/สารชักนำ/สารตัวกลาง (Mediator) ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่างๆจาก ‘มาสต์เซลล์-แมสต์เซลล์/Mast cell’ โดยตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ในเนื้อเยื่อเมือกต่างๆที่มีชื่อว่า ‘Histamine H1-receptor’, จากกลไกนี้จึงทำให้อาการจากการแพ้ในบริเวณจมูกและตาทุเลาลง
อะซีลาสตีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอะซีลาสตีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาพ่นจมูก: ขนาด 137 และ 205.5 ไมโครกรัม/การพ่น 1 ครั้ง
- ยาหยอดตา: ขนาดความเข้มข้น 0.05%
อะซีลาสตีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาอะซีลาสตีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา: เช่น
ก. สำหรับอาการเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้: เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป: พ่นยาเข้าจมูกแต่ละข้าง 1 - 2 ครั้ง, เช้า - เย็น
- เด็กอายุตั้งแต่ 5 - 11 ปี: พ่นยาเข้าจมูกแต่ละข้าง 1 ครั้ง, เช้า - เย็น
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี: การใช้ยากับเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา ให้เป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ข. สำหรับอาการเยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้: เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป: หยอดยาเข้าในตาข้างที่มีอาการอักเสบจากภูมิแพ้ 1 - 2 หยด, วันละ 2 ครั้ง, หากอาการอักเสบฯของตารุนแรง แพทย์อาจให้เพิ่มความถี่เป็นวันละ 4 ครั้ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี: การใช้ยากับเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา ให้เป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอะซีลาสตีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอะซีลาสตีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้ อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
หากลืมพ่นจมูกหรือหยอดตาด้วยยาอะซีลาสตีน สามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรใช้ยาอะซีลาสตีนตรงเวลา
อะซีลาสตีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ของยาอะซีลาสตีน: เช่น
- ในรูปแบบของยาพ่นจมูกและยาหยอดตา: เช่น
- ทำให้ระคายเคืองตรงบริเวณที่สัมผัสกับยานี้
- ปวดหัว
- คลื่นไส้
- ง่วงนอน
- กรณีของยาพ่นจมูก อาจพบอาการ เช่น
- มีรสขมในปาก
- จมูกเลือดออก
- และมีอาการจามเกิดขึ้นได้
- *สำหรับผู้ที่ใช้ยานี้เกินขนาด อาจพบอาการ(ซึ่งถ้ามีอาการดังจะกล่าวต่อไป *ให้รีบพา ผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน): เช่น
- มือสั่น
- ชัก
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
มีข้อควรระวังการใช้อะซีลาสตีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอะซีลาสตีน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาอะซีลาสตีน
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะในนมบุตร เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และ ผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามรับประทาน, ห้ามใช้ยาพ่นสเปรย์จมูกมาหยอดตา, และห้ามใช้ยาหยอดตามาหยอดจมูก
- ปิดขวดยานี้ให้มิดชิดทุกครั้งหลังใช้ยานี้
- หากมีอาการวิงเวียนหลังใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร
- *หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยานี้ เช่น รู้สึกอึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม หรือมีผื่นคันขึ้นเต็มตัว, แล้วให้รีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะซีลาสตีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อะซีลาสตีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอะซีลาสตีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- ห้ามใช้ยาอะซีลาสตีน ร่วมกับการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน และขาดสมาธิ
- การใช้ยาอะซีลาสตีน ร่วมกับยา Diphenhydramine, Dexbrompheniramine/เอช1แอนตาโกนิสต์ , Aripiprazole, Chlorpheniramine, Cetirizine, อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน และขาดสมาธิมากยิ่งขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงดังกล่าว จึงไม่ควรใช้ยากลุ่มดังกล่าวร่วมกัน
ควรเก็บรักษาอะซีลาสตีนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาอะซีลาสตีน: เช่น
ก. กรณียาพ่นจมูก: เช่น
- ควรเก็บในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
ข. กรณียาหยอดตา: เช่น
- ควรเก็บในช่วงอุณหภูมิ 2 - 25 องศาเซลเซียส
ค. ควรเก็บยาทั้ง 2 ประเภท: เช่น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
อะซีลาสตีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอะซีลาสตีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Astelin (แอสเทลิน) | Meda Pharmaceuticals Inc. |
OPTIVAR (ออฟติวาร์) | MEDA PHARMS |
อนึ่ง: ยาอะซีลาสตีนที่จำหน่ายในประเทศตะวันตก มียาชื่อการค้า เช่น Astepro
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Category:H1_receptor_antagonists [2022,Oct22]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Azelastine [2022,Oct22]
- https://www.mims.com/India/drug/info/azelastine/?type=full&mtype=generic#Dosage [2022,Oct22]
- https://www.rxlist.com/astelin-drug.htm [2022,Oct22]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/azelastine-nasal-index.html?filter=2&generic_only= [2022,Oct22]
- https://www.webmd.com/drugs/2/drug-19877/azelastine-ophthalmic-eye/details#images/00037702560 [2022,Oct22]
- https://www.drugs.com/pro/optivar.html [2022,Oct22]