ฮีสตามีน อะโกนิสต์ (Histamine agonists)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 7 ตุลาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ฮีสตามีน อะโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ฮีสตามีน อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฮีสตามีน อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฮีสตามีน อะโกนิสต์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ฮีสตามีน อะโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฮีสตามีน อะโกนิสต์อย่างไร?
- ฮีสตามีน อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฮีสตามีน อะโกนิสต์อย่างไร?
- ฮีสตามีน อะโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- Histamine receptor antagonist
- เบตาฮีสทีน (Betahistine)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
บทนำ
ยาฮิสตามีน อะโกนิสต์ (Histamine agonists หรือ Histamine receptor agonist หรือ H agonist หรือ H receptor agonist) เป็นกลุ่มยาที่คอยกระตุ้นการทำงานของตัวรับ(Receptor)ประเภทฮีสตามีน รีเซพเตอร์(Histamine receptor หรือ H receptor) ซึ่งมีอยู่ 4 ชนิด คือ H1, H2, H3, และ H4 receptors ประโยชน์ทางการแพทย์ของยากลุ่มนี้ที่เห็นชัด คือ ใช้เพื่อการศึกษาการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร ประโยชน์ด้านอื่นยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย เพื่อรอการนำมาใช้ทางคลินิก
อาจจำแนก ยาฮีสตามีน อะโกนิสต์ตามชนิดของตัวรับได้ดังนี้
1 เฮช1 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (H1 receptor agonist): ตัวอย่างสารประกอบ/ยาในหมวดนี้ ได้แก่ 2-Pyridylethylamine, และ Betahistine เฉพาะยา Betahistine ซึ่งสามารถแสดงฤทธิ์เป็น เฮช1 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ที่ความแรงของยาระดับต่ำ แต่ในขณะเดียวกันก็แสดงฤทธิ์เป็นยา H3 antagonist ที่มีความแรง
2 เฮช2 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (H2 receptor agonist): สารประกอบ/ยาในหมวดนี้ เช่น Amthamine, และ Impromidine ซึ่ง ทางคลินิก ยาในหมวดนี้ ยังไม่มีข้อกำหนดการใช้ที่ชัดเจน
3 เฮช3 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (H3 receptor agonist): สารประกอบ/ยาในหมวดนี้ เช่นยา Cipralisant, Immethridine, Methimepip, Proxyfan ซึ่ง ทางคลินิก ยาในหมวดนี้ ยังไม่มีข้อกำหนดการใช้ที่ชัดเจนเช่นกัน
4 เฮช4 รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (H4 receptor agonist): สารประกอบ/ยาในหมวดนี้ ยังเป็นกลุ่มที่ใช้ชื่อย่อหรือสัญลักษณ์ในการเรียก อาทิ OUP-16 และ VUF-8430 ซึ่งยาในกลุ่มนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัย
นอกจากนี้ ยังมีสารประกอบอื่นๆที่จะออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับฮิสตามีนแบบไม่จำเพาะเจาะจง กล่าวคือ สามารถออกฤทธิ์เป็นได้ทั้ง H1 agonist และ H2 agonist อย่างเช่น UR-AK49 และ Histamine trifluoromethyl toluidine ซึ่งการนำมาใช้เป็นยา ยังอยู่ในการศึกษาวิจัยเช่นกัน
การใช้ประโยชน์จากยากลุ่มฮีสตามีน อะโกนิสต์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไป มักจะพบเห็นการใช้ยากลุ่มนี้เฉพาะแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
ฮีสตามีน อะโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาฮีสตามีน อะโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้ทดสอบและวิเคราะห์สภาพการหลั่งกรดของกระเพาะอาหารว่ายังเป็นปกติดีหรือไม่
ฮีสตามีน อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยากลุ่มฮีสตามีน อะโกนิสต์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อตัวรับสารฮีสตามีน(H receptor)แต่ละชนิด(ดังกล่าวในหัวข้อ บทนำ)อย่างจำเพาะเจาะจง เช่น กรณีออกฤทธิ์ต่อตัวรับ ที่ H2 receptor จะส่งผลต่อการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร เป็นต้น ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์ของตัวยาต่างๆในยากลุ่มฮีสตามีน อะโกนิสต์นี้ ส่วนใหญ่กำลังอยู่ในการศึกษาวิจัย
ฮีสตามีน อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยากลุ่มฮีสตามีน อะโกนิสต์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาชนิดรับประทาน
- ยาฉีด
ฮีสตามีน อะโกนิสต์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้ยา/บริหารยากลุ่มฮีสตามีน อะโกนิสต์ มีความจำเพาะและเหมาะสมต่ออาการโรคที่แตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละโรค และยังขึ้นกับปัจจัยทางการแพทย์ต่างๆหลายอย่าง เช่น อายุ โรคประจำตัว สภาวะตั้งครรภ์ ประวัติการแพ้ยา ประวัติการใช้ยาชนิดอื่นๆ โดยแพทย์จะต้องนำปัจจัยต่างๆเหล่านั้นมาประกอบกัน ดังนั้น การใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างกันในผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป บทความนี้ จึงขอไม่กล่าวถึงขนาดการใช้ยากลุ่มนี้
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมยาฮีสตามีน อะโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฮีสตามีน อะโกนิสต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่า อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทาน/ใช้ยาฮีสตามีน อะโกนิสต์ ตรงเวลา
หากลืมรับประทาน/ใช้ยาฮีสตามีน อะโกนิสต์ สามารถรับประทา/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทาน/ใช้ยาเป็น 2 เท่า
ฮีสตามีน อะโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยาที่มีอยู่ในกลุ่มฮีสตามีน อะโกนิสต์ มีจำนวนรายการไม่มาก และการใช้กับประชาชนยังไม่แพร่หลาย และยังมีวงจำกัดการใช้แต่ในสถานพยาบาล ข้อมูลด้านผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากยากลุ่มนี้ จึงยังพบมีรายงานน้อย อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างอาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย ปวดศีรษะ เป็นต้น
มีข้อควรระวังการใช้ฮีสตามีน อะโกนิสต์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฮีสตามีน อะโกนิสต์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ไม่ควรใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่วจากแพทย์ผู้รักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาต้านฮีสตามีน อะโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ฮีสตามีน อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฮีสตามีน อะโกนิสต์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยา Betahistine ร่วมกับกลุ่มยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) อาจส่งผลให้ฤทธิ์การรักษาของยาต้านฮีสตามีนด้อยประสิทธิภาพลง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน กลุ่มยาต้านฮีสตามีน เช่น Diphenhydramine, Cetirizine, และ Chlorpheniramine
ควรเก็บรักษาฮีสตามีน อะโกนิสต์อย่างไร?
ควรเก็บยาฮีสตามีน อะโกนิสต์ ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมอเด็กและสัตวเลี้ยง
ฮีสตามีน อะโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฮีสตามีน อะโกนิสต์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Histalog (ฮีสตาลอก) | Eli Lilly |
Behistin (บีฮีสทีน) | Pharmasant Lab |
Betahis 6/Betahis 12(เบตาฮีส 6/เบตาฮีส 12) | Farmaline |
Betris (เบทริส) | Siam Bheasach |
Merislon (เมอริสลอน) | Eisai |
Merlin (เมอร์ลิน) | T.O. Chemicals |
Mertigo (เมอร์ทิโก) | Sriprasit Pharma |
Serc (เซิร์ก) | Abbott |
Stei (สเตย์) | Sriprasit Pharma |
บรรณานุกรม
- http://www.sciencedirect.com/topics/page/Amthamine [2016,Sept17]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Category:Histamine_agonists [2016,Sept17]
- http://www.revolvy.com/main/index.php?s=VUF-8430&uid=1575 [2016,Sept17]
- http://www.medicatione.com/?c=drug&s=histalog [2016,Sept17]