ออกซาลิพลาทิน (Oxaliplatin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 27 สิงหาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ออกซาลิพลาทินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ออกซาลิพลาทินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ออกซาลิพลาทินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ออกซาลิพลาทินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับออกซาลิพลาทิน?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- ออกซาลิพลาทินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ออกซาลิพลาทินอย่างไร?
- ออกซาลิพลาทินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาออกซาลิพลาทินอย่างไร?
- ออกซาลิพลาทินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็ง (Cancer)
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer)
- ลำไส้ใหญ่ (Large bowel)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- แอคิเลทติ้ง เอเจนท์ (Alkylating Agents)
- วัคซีนบีซีจี (BCG vaccine)
บทนำ
ยาออกซาลิพลาทิน(Oxaliplatin) เป็นยาเคมีบำบัดประเภทแอคิเลทติ้ง เอเจนท์(Alkylating Agents) ทางคลินิกนำมาใช้รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่(Colon cancer)ในระยะแพร่กระจายและไม่ตอบสนองต่อยารักษามะเร็งตัวอื่นอย่างเช่น Cisplatin และ Carboplatin ตัวยามีการออกฤทธิ์ทำลายสารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้โดยตรง แต่ยาชนิดนี้ยานี้ไม่ใช่ยารักษาตรงเป้า จึงทำให้เซลล์ปกติของร่างกายได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ตามไปด้วย
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาออกซาลิพลาทินเป็นยาฉีดแบบสารละลายปราศจากเชื้อ นาออกซาลิพลาทินมีระยะเวลาการเสื่อมสลายของตัวมันเองยาวนานประมาณ 391 ชั่วโมง ผู้ป่วยที่ได้รับการให้ยานี้ทุก 2 สัปดาห์ต่อครั้งก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดประสิทธิผลของการรักษา และต้องให้ยานี้ 12 ครั้งจึงจะครบเทอมของการรักษา ทั่วไปการรักษาโรคมะเร็งรวมถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์มักใช้ยารักษามะเร็ง(ยาเคมีบำบัด)ตัวอื่นร่วมรักษาด้วย ทางการแพทย์จึงใช้ยา Fluorouracil และ Leucovorin ร่วมในการรักษาพร้อมกับยาออกซาลิพลาทิน หลังจากได้รับยาออกซาลิพลาทินในช่วงเริ่มต้น แพทย์จะปรับขนาดยานี้ลดลงเพื่อให้ผู้ป่วยทนต่ออาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆจากยานี้ได้ดียิ่งขึ้น
ระหว่างที่ได้รับยาออกซาลิพลาทิน ยังมีข้อควรระวัง และคำเตือนต่างๆที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างสม่ำเสมอดังนี้ เช่น
- ยาชนิดนี้มีองค์ประกอบของธาตุแพลทินัม(Platinum) ขณะเดินยาเข้าในหลอดเลือดจึงอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาที โดยแสดงออกทางผื่นคัน เกิดลมพิษ หลอดลมหดเกร็งตัว และความดันโลหิตต่ำ ทำให้แพทย์ต้องเตรียมยาต่างๆ เพื่อใช้ป้องกัน เช่นยา Epinephrine, Corticosteroid, และ Antihistamine
- ระวังอาการของระบบประสาทซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้หลังได้รับยานี้ภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือ 1-2 วัน อาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายผู้ป่วยกระทบกับอุณหภูมิเย็นโดยจะ แสดงออกมาในลักษณะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยนหรือความรู้สึกสัมผัสผิดปกติ มีภาวะหย่อนการรับรู้ร้อนเย็นที่บริเวณ มือ เท้า รอบปากและคอ ขากรรไกรกระตุก การรับรสของลิ้นผิดปกติ พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ปวดตา และอาจมีความรู้สึกแน่นหน้าอก ดังนั้นขณะได้รับยานี้ ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ร่างกายผู้ป่วยกระทบกับอากาศเย็นจัด หรือรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม ที่เย็น และ/หรือมีน้ำแข็งเป็นส่วนประกอบ
- เฝ้าระวังการเกิดพังผืดในปอดของผู้ป่วย ทั้งนี้มีเหตุผลมาจากการใช้ยาร่วมกับ Fluorouracil / Leucovorin แพทย์มักจะขอตรวจสภาพปอดของผู้ป่วยเป็นระยะๆไป
- ยาชนิดนี้สามารถสร้างความเป็นพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ให้เกิดกับตับ โดยทำให้มีเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น หรืออาจทำให้ความดันโลหิตที่หลอดเลือดตับสูงขึ้น(Portal hypertension) ผู้ป่วยจึงต้องเข้ารับการตรวจการทำงานของตับตามที่แพทย์นัดหมายอย่างสม่ำเสมอ
- ป้องกันการตั้งครรภ์ขณะที่ได้รับยาชนิดนี้ ห้ามใช้ยาออกซาลิพลาทินกับสตรีมีครรภ์ ด้วยทางคลินิกยังไม่มีการประเมินความเสี่ยงและความปลอดภัยของการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยกลุ่มนี้
คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้กำหนดให้ยาออกซาลิพลาทินเป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งต้องถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์แต่ผู้เดียว โดยเราจะพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาออกซาลิพลาทินก็สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรในสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้
ออกซาลิพลาทินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาออกซาลิพลาทินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดรักษาอาการโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่(Colon cancer)
ออกซาลิพลาทินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาออกซาลิพลาทินมีกลไกการออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่โดยตรง โดยตัวยานี้จะเข้าทำลายสารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งฯ ทำให้วงจรชีวิตของเซลล์มะเร็งฯชะงักลงพร้อมกับหยุดการแบ่งตัว จึงส่งผลให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นลำดับไป
ออกซาลิพลาทินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาออกซาลิพลาทินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดประเภทสารละลายปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วยตัวยา Oxaliplatin ขนาด 200 มิลลิกรัม/40 มิลลิลิตร , 50 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร, และ 100 มิลลิกรัม/20 มิลลิลิตร
ออกซาลิพลาทินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้ยาออกซาลิพลาทินกับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ปัจจัยที่แพทย์นำมาใช้คำนวณขนาดการใช้ยา ได้แก่ พื้นที่ผิวของร่างกายผู้ป่วย รวมถึงอายุ และประวัติการเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัวต่างๆ แพทย์จะใช้ยา Fluorouracil และ Leucovorin มาเป็นยาสนับสนุนการรักษามะเร็งฯให้หายเร็วขึ้นแต่ก็มีความเสี่ยงต่ออาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันตามมา
ระหว่างที่ได้รับยาออกซาลิพลาทิน แล้วพบอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว อาการต่างๆเหล่านี้ได้แก่
- แน่นอึดอัด/ หายใจไม่ออก มีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น หรือเป็นไข้ หนาวสั่น
- คลื่นไส้ทุกครั้งที่มีการรับประทานอาหาร
- อาเจียน 4-5 ครั้งต่อวัน
- ท้องเสีย 4-6 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
- ไม่มีแรง หรือ อ่อนเพลียอย่างรุนแรง
- มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
- มีภาวะเลือดออกง่าย
- ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด
- รับประทานหรือดื่มน้ำไม่ได้เป็นตลอด 24 ชั่วโมง
ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับออกซาลิพลาทิน?
การดูแลตนเองขณะได้รับยาออกซาลิพลาทิน ควรเป็นดังนี้ เช่น
- ขณะที่ได้รับการรักษาด้วยยาออกซาลิพลาทิน ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีอุณหภูมิที่เย็นหรือการสัมผัสกับวัตถุที่เย็นจัด เช่น น้ำแข็ง ห้ามดื่มเครื่องดื่มเย็นๆหรือที่ เครื่องดื่มที่ใส่น้ำแข็ง ห้ามหยิบจับสิ่งต่างๆจากตู้เย็นโดยไม่สวมถุงมือป้องกัน ความเย็น หลีกเลี่ยงที่จะสัมผัสโลหะที่มีความเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง ฤดูหนาว ห้ามอยู่ในห้องปรับอากาศที่มีความเย็นจัด
- ใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุมร่างกายเพื่อให้ได้รับความอบอุ่นอย่างสม่ำเสมอ
- ดื่มน้ำอย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน หรือเป็นไปตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
- ล้างมือบ่อยๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค โยเฉพาะก่อนรับประทานทุกครั้ง และหลังเข้าห้องน้ำ
- หากมีอาการคลื่นไส้เมื่อจะรับประทานอาหาร ให้ใช้ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้/ยาแก้คลื่นไส้ ตามที่แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น ห้ามซื้อยาอื่นใดมาใช้ด้วยตนเอง และผู้ป่วยสามารถปรับการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆแต่บ่อยครั้งขึ้นเพื่อลดอาการคลื่นไส้ดังกล่าว
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ
- หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมหนักที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพราะเลือดจะออกง่าย
- หากเกิดอาการชาที่นิ้วมือและนิ้วเท้าเมื่อได้รับยาซ้ำ ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- ระวังไม่ให้เกิดอาการท้องผูก กรณีมีอาการท้องผูกต้องใช้ยาระบายที่แพทย์สั่ง จ่ายเท่านั้น ห้ามซื้อยาใช้เอง
- กรณีมี ไข้ ปวดศีรษะ สามารถใช้ยา Acetaminophen(Paracetamol) หรือ Ibuprophen เพื่อบรรเทาอาการแต่ควรปรึกษาแพทย์/เป็นไปตรามคำสั่งแพทย์ก่อนใช้ยาเหล่านี้เสมอ
- หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดจัด เมื่อต้องอยู่ในที่โล่งแจ้งให้สวมเสื้อผ้าปกปิด ร่างกายอย่างมิดชิด หรือทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 หรือสูงกว่า
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- พักผ่อนให้เต็มที่และรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วนตามที่แพทย์แนะนำ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาออกซาลิพลาทิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคปอด โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาออกซาลิพลาทินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรมารับการให้ยาออกซาลิพลาทินตรงเวลา หากลืมมารับการฉีดยานี้ ต้องรีบแจ้ง แพทย์/พยาบาล/บุคคลกรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องให้ทราบ และทำการนัดหมายการให้ยานี้โดยเร็ว
ออกซาลิพลาทินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาออกซาลิพลาทินอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ปอดอักเสบ ไอ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ตัวสั่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน มีภาวะหย่อนการรับรู้ร้อนเย็นที่บริเวณ มือ เท้า รอบปากและคอ ขากรรไกรกระตุก การรับรสของลิ้นผิดปกติ พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย กระเพาะอาหารอักเสบ กรดไหลย้อน ลำไส้อุดตัน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ใบหน้าแดง ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน เหงื่อออกมาก ผมร่วง ผิวแห้ง เกิดลมพิษ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง มีเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ เกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือด
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำตาลในเลือดสูง เกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำ โซเดียมในเลือดต่ำ และ แคลเซียมในเลือดต่ำ
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ข้ออักเสบ
- ผลต่อสภาวะทางจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ ซึม วิตกกังวล
- ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ ประสาทตาอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้ออกซาลิพลาทินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาออกซาลิพลาทิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ห้ามฉีดวัคซีนใดๆขณะได้รับยานี้
- หากพบอาการ อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้ตั้งสมมุติฐานว่า อาจเกิดอาการแพ้ยานี้และต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกาย การตรวจภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ต่างๆ และรับการฉีดยานี้ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาออกซาลิพลาทินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ออกซาลิพลาทินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาออกซาลิพลาทินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาออกซาลิพลาทินร่วมกับ ยาAmiodarone เพราะจะทำให้มีความเสี่ยง ต่ออาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ห้ามใช้ยาออกซาลิพลาทินร่วมกับ ยาCertolizumab ด้วยมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อมากยิ่งขึ้น โดยจะแสดงออกด้วยอาการมีไข้ หนาวสั่น หรือมีอาการท้องเสียตามมา
- ห้ามใช้ยาออกซาลิพลาทินร่วมกับ ยาPanitumumab ด้วยจะทำให้อาการของผู้ป่วยมะเร็งฯกำเริบเพิ่มมากขึ้น จนส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตลดลง
- ห้ามใช้ยาออกซาลิพลาทินร่วมกับวัคซีนบีซีจี(BCG) เพราะอาจจะทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคจากตัววัคซีนเสียเอง
ควรเก็บรักษาออกซาลิพลาทินอย่างไร?
ควรเก็บยาออกซาลิพลาทิน ดังนี้ เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว และ
- ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
ออกซาลิพลาทินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาออกซาลิพลาทินมียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Eloxatin (เอล็อกซาทิน) | Sanofi-Aventis |
Oxalsan (ออกซาลแซน) | Zentiva a Sanofi |
Oxitan (ออกไซแทน) | Fresenius Kabi |
Oxol (ออกซอล) | Venus Remedies |
บรรณานุกรม
- http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/Oxaliplatin.aspx [2018,Aug11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Oxaliplatin [2018,Aug11]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/9609103 [2018,Aug11]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/oxaliplatin/?type=brief&mtype=generic [2018,Aug11]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/021759s012lbl.pdf [2018,Aug11]
- https://www.drugs.com/sfx/bcg-side-effects.html [2018,Aug11]