หมอสมศักด์ชวนคุยชุดที่2 ตอน 5 ชัก ห้ามขับรถ
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 22 กุมภาพันธ์ 2565
- Tweet
หมอสมศักด์ชวนคุยชุดที่ 2 ตอน 5 ชัก ห้ามขับรถ
การขับรถนั้นต้องใช้ความสามารถหลายด้าน เช่น การมองเห็น การได้ยิน การตัดสินใจ การกะระยะ การควบคุมการเคลื่อนไหว การมีสติที่สมบูรณ์ ดังนั้น ผู้ที่ขับรถได้อย่างดี ปลอดภัยนั้น ต้องมีสุขภาพกาย และใจที่ดี มีคำถามว่า คนเป็นลมชักสามารถขับรถได้หรือไม่ ผมมีคำแนะนำ ดังนี้
- ผู้ป่วยลมชักแบบหมดสติ หรือล้มลง หรือเหม่อลอย หรือพฤติกรรมผิดปกติ ที่ยังไม่สามารถคงบคุมอาการได้ดี คือยังมีอาการชักในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมานั้น ไม่ควรขับรถ เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการชักได้ง่าย
- ทำไมต้องควบคุมอาการชักได้นานมากกว่า 12 เดือน เพราะถ้าผู้ป่วยยังมีอาการชักซ้ำได้บ่อยๆ ถ้ายังควบคุมอาการชักไม่ได้ ถ้าการชักครั้งสุดท้ายนานมากกว่า 12 เดือน มีโอกาสชักซ้ำเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น
- กรณีเป็นการขับรถสาธารณะ เช่น รถโดยสาร รถบรรทุก ต้องมีความปลอดภัยสูงมาก คือ ต้องไม่มีอาการชักนานมากกว่า 10 ปี เพื่อความปลอดภัยของคนอื่นๆ ในสังคมที่ใช้รถ ใช้ถนน
- ผู้ป่วยลมชักต้องทานยากันชักทุกครั้งสม่ำเสมอ ไม่ขาดยา ไม่นอนดึก ไม่อดนอน ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าขาดยา หรือลืมทานยา ไม่ควรขับรถในวันนั้น
- การต่อใบอนุญาตขับขี่รถ ควรบอกความจริงเกี่ยวกับการรักษา การควบคุมอาการชักได้ดีหรือไม่ เพราะถ้าไม่บอกความจริง เช่น ยังมีอาการชัก แต่กลับบอกว่าไม่มีอาการชัก ทำให้เกิดการต่อใบอนุญาตขับขี่รถได้ แต่ก็อาจเกิดอาการชักแล้วก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ถ้ามีอาการเตือนขณะขับรถ ให้รีบหยุดรถทันที ไม่ให้ขับต่อ ถึงแม้จะเหลือระยะทางใกล้แค่ไหนก็ตามที่จะถึงจุดหมาย ย้ำให้จอดรถทันที
การขับขี่รถที่ดีก่อให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน ดังนั้นถ้าผู้ป่วยลมชักยังไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ดี ก็ไม่ควรขับรถนะครับ มันอันตรายทั้งต่อตัวท่าน และผู้ร่วมเดินทางบนท้องถนน