หมอสมศักด์ชวนคุยชุดที่2 ตอน 4 ค่าธรรมเนียมแพทย์ เมื่อแพทย์หลายคน

หมอสมศักด์ชวนคุยชุดที่ 2 ตอน 4  ค่าธรรมเนียมแพทย์ เมื่อแพทย์หลายคน

ปัจจุบันการรักษาโรคต่างๆ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะมากขึ้น แต่ละกลุ่มโรคมีวิธีการวินิจฉัยและรักษาที่ลึกซึ้ง ยากต่อการเข้าใจและให้การรักษาโดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปได้ ดังนั้นการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ที่ผู้ป่วยมีความต้องการ ความคาดหวังสูงว่าผลการรักษาต้องดีที่สุด การรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงต้องให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ให้การรักษา ดังนั้นผู้ป่วย 1 รายจึงอาจมีหมอผู้ให้การรักษามากกว่า 1 ท่าน จึงเกิดประเด็นที่ต้องคบคิดว่าเมื่อมีหมอหลายท่านที่มาให้การรักษาผู้ป่วย ค่าธรรมเนียมแพทย์ควรคิดอย่างไร แพทย์ควรคิดค่าธรรมเนียมแพทย์กี่ครั้งต่อวัน แล้วต้องมีแพทย์เจ้าของไข้หรือไม่ เมื่อผู้ให้การรักษาต้องเป็นแพทย์เฉพาะทาง

ประเด็นแรก จำเป็นต้องมีแพทย์เจ้าของไข้หรือไม่ ผมมีความเห็นว่าขึ้นอยู่กับระบบการจัดการของแต่ละโรงพยาบาล ถ้าเป็นโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางครบทุกสาขา ก็อาจจะให้แพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขาเป็นแพทย์เจ้าของไข้ เพื่อให้การดูแลรักษานั้นเป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและผู้ป่วยเสียค่าธรรมเนียมแพทย์เพียงหมอท่านเดียวเท่านั้น แต่ถ้าโรงพยาบาลนั้นมีหมอเฉพาะทางไม่มากสาขา ไม่ครบทุกสาขา ก็ต้องมีหมอประจำในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาหลักในสาขาที่ไม่มีหมอเฉพาะทางในโรงพยาบาล ต้องปรึกษาหมอเฉพาะทางจากโรงพยาบาลอื่นๆ มาให้คำปรึกษาวางแผนในการรักษา ซึ่งหมอเฉพาะทางท่านนั้นไม่ได้เป็นหมอประจำโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา จึงต้องมีหมอประจำเพื่อให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด

ประเด็นต่อมา คือ การคิดค่าธรรมเนียมแพทย์ควรคิดกี่ครั้งต่อวัน ผมมีความเห็นว่าเรื่องนี้ก็หาข้อสรุปได้ยาก เพราะก็ขึ้นกับความจำเป็นในการตรวจเยี่ยมให้การรักษาผู้ป่วย โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยควรได้รับการตรวจเยี่ยม 2 ครั้งต่อวัน แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยหนักในห้องไอ ซี ยู อาจมีความจำเป็นต้องเข้าเยี่ยมตรวจตามความจำเป็นมากกว่า 2 ครั้ง หรืออาจต้องเฝ้าอยู่ตลอดเวลาหลายชั่วโมงก็ได้ กรณีแบบนี้ก็ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป คงไม่สามารถกำหนดค่าธรรมเนียมแพทย์ได้อย่างแน่ชัด ซึ่งทางโรงพยาบาลก็คงต้องทำความเข้าใจกับครอบครัวผู้ป่วยอย่างดีว่าทำไมถึงมีค่าธรรมเนียมแพทย์หลายครั้งต่อวัน

โดยทั่วไปแล้วหมอที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาก็มักจะมาให้คำปรึกษาและเยี่ยมตรวจผู้ป่วยไม่ทุกวัน พอผู้ป่วยอาการดีขึ้น แผนการรักษามีแนวทางชัดเจน หมอประจำสามารถให้การดูแลผู้ป่วยต่อตามแผนการรักษาได้ หมอเฉพาะทางก็อาจไม่ได้เข้าเยี่ยมผู้ป่วย หรือหลายๆ วันเข้าเยี่ยมผู้ป่วย เพื่อประเมิน ติดตามผลการรักษา ดังนั้นค่าธรรมเนียมแพทย์ของหมอเฉพาะทางก็จะมีจำนวนครั้งไม่มาก

อย่างไรก็ตามผมอยากทำความเข้าใจกับทุกๆ คนว่า ค่าธรรมเนียมแพทย์นั้นเมื่อคิดเป็นสัดส่วนของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดในโรงพยาบาลเอกชนนั้น เป็นมูลค่าที่เป็นสัดส่วนไม่มาก คือประมาณร้อยละ 10 ของค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งหมดเท่านั้น แต่ถ้าเป็นกรณีต้องมีการผ่าตัด ค่าธรรมเนียมแพทย์อาจเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นมากแค่ไหน ก็ขึ้นกับชนิดการผ่าตัด ความยากง่าย และความสามารถ ความชำนาญของหมอผู้ให้การรักษา ซึ่งทุกโรงพยาบาลก็จะมีการกำหนดเพดานสูงสุดไว้ในแต่ละหมวดหมู่ของค่าธรรมเนียมแพทย์

ผมหวังว่าบทความนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมแพทย์ เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยดีขึ้น ลดความไม่สบายใจระหว่างกันได้มากขึ้น