หมอสมศักด์ชวนคุยชุดที่2 ตอน 16 ยาแพงสุด ดีสุด แต่อาการไม่ดีขึ้น

หมอสมศักด์ชวนคุยชุดที่2 ตอน ยาแพงสุด ดีสุด แต่อาการไม่ดีขึ้น

 

การรักษาโรค อาการเจ็บป่วยส่วนใหญ่ก็ต้องใช้ยา ทั้งยาฉีด ยาทาน ประเด็นที่ทุกคนสงสัยคือว่า ยาที่ใช้ในโรงพยาบาลรัฐ กับโรงพยาบาลเอกชนนั้นแตกต่างกันหรือไม่ เพราะราคาแตกต่างกันมาก หรือยาที่โรงพยาบาลกับคลินิกต่างกันหรือไม่ เพราะราคาก็แตกต่างกันมาก แล้วทำไมยาราคาแพงๆ ดีที่สุดทำไมรักษาพ่อ แม่ไม่หาย ผมขออธิบายดังนี้

  1. ยาที่ใช้รักษาโรคนั้นมี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ ยาต้นแบบ (original) ยาที่ผลิตโดยบริษัทคิดค้นเป็นบริษัทแรก จะมีราคาแพงมากกว่ายาชื่อสามัญ (generic) คือ ยาที่บริษัทอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้คิดค้นนำมาจำหน่ายภายหลังยาต้นแบบหมดสิทธิบัตร ราคายาชื่อสามัญกับยาต้นแบบนั้น ราคาแตกต่างกันมาก อาจต่างกันตั้งแต่ 2 ถึง 50 เท่า
  2. ยาทั้ง 2 ชนิดนั้นมีคุณสมบัติต่างๆ ทางผลการรักษาไม่แตกต่างกัน จึงสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคได้เหมือนกัน ไม่ต้องกังวล
  3. โรงพยาบาลของรัฐมีนโยบายในการใช้ยาชื่อสามัญเป็นอันดับแรก ถ้ามียาชื่อสามัญ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการรักษามากที่สุด
  4. โรงพยาบาลเอกชนอาจใช้ยาต้นแบบมากกว่ายาชื่อสามัญ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วย ประกอบกับต้นทุนโรงพยาบาลเอกชนสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ ราคายาจึงสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐมาก
  5. คลินิกเอกชนก็อาจมีการใช้ยาทั้งชื่อสามัญ และยาต้นแบบคล้ายๆ กับโรงพยาบาลเอกชน ประกอบกับมีต้นทุนที่ต้องลงทุนเปิดคลินิกเอง ยาจึงมีราคาสูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ
  6. ผลการรักษาโรคใดๆ นั้น ไม่ได้ขึ้นกับราคายาที่ใช้รักษา ผลการรักษานั้นขึ้นกับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง รวดเร็ว ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่มีผลแทรกซ้อน ความรุนแรงของโรค ธรรมชาติของโรค และสุขภาพของผู้ป่วย

ดังนั้นการรักษาด้วยยาราคาสูง ราคาแพงสุดก็ไม่ได้รับประกันว่าผลการรักษาจะต้องดี ยาที่โรงพยาบาลรัฐใช้นั้นได้ผลดีในการรักษาไม่แตกต่างกับยาราคาแพงๆ เชื่อผมเถอะครับ