หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน ทำไมเราต้องทำเพื่อคนอีสาน และเราควรทำอะไรบ้าง

หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน  ทำไมเราต้องทำเพื่อคนอีสาน และเราควรทำอะไรบ้าง

คนอีสานบ้านเรานั้นมีจำนวนมากกว่า 23 ล้านคนใน 20 จังหวัด หรือเฉลี่ยจังหวัดละประมาณ 1 ล้านคน ในบางจังหวัดเกือบ 2 ล้านคน บางจังหวัดเพิ่งมีโรงพยาบาลจังหวัดได้ไม่นาน ยังขาดแคลนแพทย์ พยาบาล ทีมสุขภาพ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ การเดินทางก็ลำบาก ประชาชนยังขาดความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ เมื่อมีการเจ็บป่วย การเข้าถึงระบบการรักษาเป็นไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร ถึงแม้จะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ตาม ก็เพราะด้วยเหตุผลข้างต้น การเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลก็มีความแออัด รอการตรวจรักษาที่นาน เนื่องจากอัตราส่วนของแพทย์ พยาบาลต่อผู้ป่วยนั้นยังไม่เหมาะสม ขาดแคลนทีมสุขภาพอย่างมาก การกระจายตัวของแพทย์ยังไม่เหมาะสม ส่งผลให้คนอีสานยังได้รับการดูแลปัญหาสุขภาพไม่ดีเหมือนคนภาคอื่นๆ ด้วยเหตุนี้การมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีคณะแพทยศาสตร์  คณะในศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ และคณะอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นจะทำให้คนอีสานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ในส่วนของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นมีการบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย สร้างบัณฑิตแพทย์ และแพทย์เฉพาะทางจำนวนมาก หลากหลายสาขาวิชา และพบว่าแพทย์ที่จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นส่วนใหญ่แล้วเกือบร้อยละ 80 ทำงานดูแลผู้ป่วยและประชาชนในภาคอีสาน เป็นไปตามเป้าหมายของการสร้างบัณฑิตแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่างไรก็ตามการที่ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง โรคที่รักษายาก และพบไม่บ่อย ต้องมีความจำเป็นรับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จึงต้องมีการส่งตัวมารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดังนั้นพวกเราจึงควรทำในหลายสิ่งหลายอย่าง เพื่อคนอีสานอย่างเป็นระบบ ดังนี้

  1. การจัดหาเรือนพักญาติเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่อง เช่น การฉายแสง รองรับญาติที่มาเฝ้าผู้ป่วย ผู้ป่วยที่เดินทางมาไกลรอรับการตรวจรักษาในวันรุ่งขึ้น หรือหลังการตรวจเสร็จแต่ไม่สามารถเดินทางกลับได้ทัน เพราะรถโดยสารหมดแล้ว ดังนั้นเรือนพักญาติที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบบริการของโรงพยาบาลศรีนครินทร์
  2. การสร้างแพทย์ และแพทย์เฉพาะทาง เพื่อจบไปแล้วให้ทำงานในภาคอีสาน ดังนั้นการรับนักเรียนมัธยมปลายที่เข้าเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น จึงมีอัตราส่วนในการรับนักเรียนที่มีภูมิลำเนาในภาคอีสานมากกว่าการรับจากส่วนกลาง

การรับแพทย์มาฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางก็เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่แล้วจะรับฝึกอบรมแพทย์ที่มีต้นสังกัดจากจังหวัดในภาคอีสาน เพื่อหลังจากจบการฝึกอบรมแล้วก็จะกลับไปปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วยในภาคอีสาน

  1. การสร้างเครือข่ายระบบการรักษาพยาบาลโรคต่างๆ ที่เป็นปัญหาในภาคอีสาน เช่น ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ โรคไต โรคหอบหืด โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งท่อน้ำดี เป็นต้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลมารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ แพทย์และทีมของโรงพยาบาลใกล้บ้านก็สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้ด้วยวิธีที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
  2. การสร้างระบบการเรียนแพทย์ให้ แพทย์ที่จบจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นมีความสามารถในการทำงานร่วมกับชุมชน และแนวคิดในการลงพื้นที่ชุมชน เพื่อเน้นการแก้ปัญหาพื้นฐานที่สำคัญในแต่ละชุมชนอย่างเป็นระบบ รวมทั้งความสามารถในการวิจัยแก้ไขปัญหาสุขภาพ
  3. การออกเยี่ยมเครือข่าย หรือการลงพื้นที่ทำกิจกรรมวิชาการ เดินเยี่ยมดูระบบบริการ และให้คำแนะนำอย่างเป็นระบบ
  4. การทำงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการร่วมมือกันพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาโรคที่พบบ่อยและเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของพื้นที่ภาคอีสาน
  5. การศึกษาวิจัยโรคที่เป็นปัญหาบ่อยๆ และมีความสำคัญในภาคอีสาน เช่น ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ โรคมะเร็งท่อน้ำดี โรคไต โรคระบบประสาท โรคหอบหืด โรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น
  6. การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหรือแหล่งทุนนานาชาติในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขในประเทศสาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาว เช่น การร่วมฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเฉพาะทางในหลากหลายสาขา การฝึกอบรมพยาบาล เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง การรับดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรครักษายากที่ทางประเทศนั้นไม่สามารถรักษาได้ เป็นต้น
  7. การจัดทำวารสารอายุรศาสตร์อีสาน วารสารประสาทวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วารสารศรีนครินทร์เวชสาร และเป็นที่ปรึกษาของวารสารประจำโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในภาคอีสาน เป็นต้น
  8. การทำงานแบบทุ่มเท และตั้งใจจริงเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยได้ผลดี และทำงานหนัก เพราะจำนวนผู้ป่วยที่มีจำนวนมากกว่าอัตรากำลัง โดยพวกเราได้เห็น ได้เรียนรู้จากอาจารย์แพทย์ต้นแบบมากมาย ทำให้พวกเราทุกคนที่จบจากคณะแพทย์ขอนแก่นนั้น สามารถทำงานหนักอย่างมีความสุขได้

สิ่งที่พวกเราทำทั้งหมดนี้ เพราะพวกเรายึดถือตามปณิธานของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สร้างให้เรา แพทย์ขอนแก่นต้องทำให้คนอีสานมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น พวกเราทุกคนน้อมเกล้าเทิดทูนพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านได้พระราชทานในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นวันที่ 20 ธันวาคม 2510

“การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้นเป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนายกฐานะ ความเป็นอยู่ของประชาชนในส่วนภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง ความสำเร็จในการตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นความสำเร็จที่ทุกคนควรจะยินดี”

พวกเราทุกคนแพทย์ที่จบจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นอาจกล่าวได้ว่า “ การที่เราได้มาเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ หมาวิทยาลัยขอนแก่น เราไม่ใช่คนเก่งที่สุด เราไม่ใช่คนดีที่สุด แต่เราเลือกที่จะมาสืบทอดพระราชกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านต้องการให้ชาวอีสานได้มีโอกาสได้รับการดูแลด้านสุขภาพเหมือนกับคนภาคอื่นๆ”

ที่ผ่านมานั้นผมพูดกับลูกศิษย์ รุ่นน้องๆ เพื่อนๆ ทีมงานเสมอว่า เราควรทุ่มเท ตั้งใจ และมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อคนไข้ให้มากที่สุด ตามความพร้อมของเราที่มี ที่เราพร้อม เราสะดวกแค่ไหนก็ทำตามที่เรามีความสุข ถ้าทุกคนทำเต็มที่ในสิ่งที่ตนเองมี และที่ที่ตนเองอยู่ ผมว่าสังคมจะน่าอยู่และพวกเราก็จะมีความสุขถ้วนหน้ากันครับ

ทั้งหมดนี้คือคำอธิบายว่าทำไมเราต้องทำเพื่อคนอีสาน และเราควรจะทำอย่างไร

 

หมอสมศักดิ์ เทียมเก่า แพทย์ขอนแก่นรุ่นที่ 12 รหัส 273565-0