หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน ทำไมถึงรักษาแต่โรงพยาบาลเอกชน

หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน ทำไมถึงรักษาแต่โรงพยาบาลเอกชน

“สวัสดีครับ เป็นอะไรมาครับพี่” เป็นคำทักทายผู้ป่วยคนหนึ่งของผม เวลาขณะนั้นที่เริ่มตรวจประมาณ 21.30 น. เป็นผู้ป่วยหญิงจากจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท สงสัยว่าจะมีอาการชัก แต่กว่าที่ผมจะสอบถามอาการได้รายละเอียดมากพอต่อการให้การวินิจฉัยได้นั้น ก็เสียเวลาไปเกือบ 30 นาที เพราะผู้ป่วยนั้นมีความกังวลใจอย่างมากว่าตนเองเป็นโรคอะไร เพราะไปตรวจมาโดยละเอียดกับหมอระบบประสาทตามคลินิกต่างๆ ในจังหวัด รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนมีชื่อในจังหวัดด้วย ตรวจเอ็ม อาร์ ไอมาด้วยซึ่งผลปกติ ยิ่งทำให้เกิดความกังวลใจมากขึ้นว่าตนเองเป็นอะไรกันแน่ ตรวจทุกอย่างปกติ แต่อาการไม่เห็นจะหายเลย

ผมดูสิทธิ์การรักษา พบว่าเป็นข้าราชการ แต่ที่แปลกใจมาก คือ ไม่ยอมรับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐในจังหวัดนั้น ทั้งๆ ที่มีแพทย์ระบบประสาทผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงหลายคน ผมพยายามสอบถามเหตุผลว่าทำไม ไม่ยอมรับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว ทำไมจึงยอมเสียเงินมากมายในแต่ละครั้งที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน จนส่งผลต่อฐานะด้านการเงิน แล้วจึงมาพบผมที่โรงพยาบาลของรัฐ ผมจะสรุปประเด็นที่ผู้ป่วยไม่ยอมรับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐให้ฟัง ดังนี้

  1. ผู้ป่วยจำนวนมาก รอคอยนาน เหตุผลนี้ผมว่าก็เป็นเหตุผลที่พบบ่อยมากๆ ในโรงพยาบาลของรัฐ แต่ในปัจจุบันก็มีการให้บริการแบบพิเศษมากขึ้น การตรวจนอกเวลาราชการแบบที่ผมกำลังให้กรรักษาผู้ป่วยรายนี้อยู่ คือ ตรวจหลังเวลาราชการจนดึก
  2. แพทย์ไม่มีเวลาในการดูแลผู้ป่วย สอบถามข้อมูลเพียงสั้นๆ ก็สั่งตรวจเพิ่มเติม สั่งยาให้ แล้วบอกว่าไม่เป็นอะไร ปัญหานี้ก็มาจากปัญหาหลักในข้อแรกที่มีผู้ป่วยมาก เวลาที่เฉลี่ยต่อผู้ป่วยแต่ละคนก็ลดลง จนเหลือไม่กี่นาที
  3. แพทย์ให้ความใส่ใจไม่ดี ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคอะไร ปล่อยให้รอผลตรวจเลือด เอกซเรย์ แล้วจึงให้นอนโรงพยาบาล ไม่เหมือนโรงพยาบาลเอกชน ที่มาตรวจรวดเร็ว แล้วก็รีบให้นอนโรงพยาบาล ผมว่าข้อนี้ก็เป็นเพราะความแออัด ความจำเป็นของการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลของรัฐกับเอกชนนั้นแตกต่างกันมากๆ
  4. ความไว้วางใจต่อแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐไม่ดี เพราะรักษาไม่หาย ไม่ค่อยมาดูแล ไม่ค่อยได้พบหมอ จะสอบถามก็ไม่มีเวลาให้ ตอบไม่ชัดเจน เหตุก็คือผู้ป่วยเยอะมาก จนไม่สามารถจัดสรรเวลาให้ได้
  5. ลูกผู้ป่วยเคยมารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ แล้วได้รับการรักษาที่ล่าช้า จนทำให้เสียชีวิต เหตุนี้ผู้ป่วยบอกนะครับ ความจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบแน่ชัด ข้อนี้เป็นเหตุหลักเลยครับที่หลังจากนั้น ผู้ป่วยไม่กล้าเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐเลย น่าเห็นใจ และเข้าใจได้ดีครับในความรู้สึกดังกล่าว

แล้วเราจะทำอย่างไนดีครับในการแก้ปัญหาที่ผู้ป่วยไม่กล้าเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ อย่างที่ผมบอกคือเวลาสำคัญที่สุดครับ ผมได้ใช้เวลากับผู้ป่วยรายนี้เกือบ 30 นาที ต้องคุยต่างๆ นาๆ ทั้งการเจ็บป่วยทางกาย ทางใจ และอื่นๆ กว่าจะได้คำตอบว่าเป็นโรคอะไรครับ ก่อนจากกัน ผู้ป่วยบอกว่า “หนูรู้สึกได้ว่าการรักษาที่ได้รับจากโรงพยาบาลของรัฐในวันนี้ แตกต่างจากในอดีตที่พบมามาก และขอบคุณที่หมอให้เวลากับผู้ป่วยนาน และมีความชัดเจนขึ้น”

ปกติแล้วผมก็ใช้เวลาในการตรวจ บันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์แต่ละรายประมาณ 5 นาที แต่ผู้ป่วยรายใหม่ ที่ยังไม่เคยพบกัน และยิ่งเป็นรายที่ไม่รู้เป็นอะไร ตรวจมาทุกอย่างก็ปกติ เวลาทีต้องใช้ก็จะนานเป็นพิเศษแบบรายนี้ แต่ก็คุ้มครับที่เราสามารถแก้ไขปัญหาให้ผู้ป่วยได้ สร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยไว้ใจในโรงพยาบาลรัฐเพิ่มขึ้นได้ครับ