หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน การส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้าน
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 12 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน การส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้าน
เมื่อพูดถึงจำนวนคนไข้ที่มารับการตรวจที่โรงพยาบาลของรัฐในแต่ละวันนั้นเป็นจำนวนมากมาย เกินกว่าศักยภาพของหมอ พยาบาลที่จะให้บริการได้ แต่ที่ผ่านมานั้นโรงพยาบาลก็สามารถให้การดูแลกันไปได้แบบที่เห็นและเป็นอยู่กันในทุกวันนี้ คือ เหน็ดเหนื่อยกันทุกคน ผู้ป่วยก็มารอตรวจนานหลายชั่วโมง เพื่อพบแพทย์ไม่ถึง 5 นาที แพทย์ พยาบาลก็ทำงานกันทั้งวัน ทั้งคืน และถ้าเรามานั่งมองวิเคราะห์กันอย่างดีจะพบว่าผู้ป่วยมากกว่าครึ่งไม่จำเป็นต้องมาพบหมอบ่อยๆ ก็ได้ เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังมีอาการคงที่ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ แต่ที่ต้องมาพบหมอบ่อยๆ ก็เพราะระบบการบริการ การเบิกจ่ายที่ออกแบบมาให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์บ่อยๆ นั้นเอง ดังนั้นถ้าเราพอจะมีวิธีการที่จะลดความแออัด ประหยัด เพิ่มประสิทธิภาพการบริบาลด้านสาธารณสุขแล้ว ผมมองว่าการส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้านนั้นเป็นวิธีหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมาก และน่าจะเป็นการลดภาระของทุกฝ่ายได้ ถ้าเรามีวิธีการบริหารจัดการอย่างดี มีประสิทธิภาพและร่วมมือกัน ลองดูนะครับ
- แพทย์ เภสัชกร พยาบาลในแต่ละโรงพยาบาลร่วมมือกันระดมความเห็นว่าในโรงพยาบาลของแต่ละแห่งนั้นจะเริ่มทำการส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้านในกลุ่มโรคใด อาการแบบไหน วิธีการส่งยาทำอย่างไรถึงปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา ถ้าคิดแล้วว่าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องทำในโรงพยาบาลนั้นๆ เพราะปัญหาในแต่ละที่นั้นไม่เหมือนกัน
- เมื่อได้ข้อสรุปแล้วว่าควรมีการพัฒนาระบบการส่งยาถึงบ้านผู้ป่วย ก็มาทำความร่วมมือกันกับภาคเอกชนที่พร้อมในการส่งยาถึงบ้านแบบมีประสิทธิภาพ ร่วมมือกับภาคประชาชน เพื่อทำความเข้าใจว่าวิธีนี้เป็นการรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบบริการอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด และยังคงไว้ซึ่งความปลอดภัย ถ้าร่วมมือกันครบทุกฝ่ายแบบนี้ก็เริ่มลงมือทำ ซึ่งขั้นตอนในข้อที่ 1 และ 2 นี้ควรใช้เวลาให้สั้นที่สุดไม่น่าจะเกิน 1 เดือนก็ได้คำตอบแล้วว่าจะทำแบบไหน อย่างไร ก็ลงมือทำแล้วปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องที่พบ มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปัญหาที่พบร่วมกันกับโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศไทย
- การจัดกลุ่มผู้ป่วยก็ควรเป็นกลุ่มโรคที่เรื้อรัง และต้องการรับการรักษาต่อเนื่อง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันสูง โรคหอบหืด โรคลมชัก โรคหลอดเลือดสมอง โรคโลหิตจาง โรคธัยรอยด์ โรคเข่าเสื่อม และอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องให้หมอแต่ละโรงพยาบาล แต่ละสาขานั้นระดมความเห็นว่าสามารถจัดยาให้ได้ โดยไม่ต้องให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ หรือนานแค่ไหนที่ต้องมาติดตามการรักษาเป็นระยะๆ หรือต้องติดตามตรวจวัดความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือดที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล แล้วมีการประสานข้อมูลมาที่โรงพยาบาล ตรงนี้เป็นรายละเอียดในแต่ละโรค แต่ละโรงพยาบาล แต่ละความรุนแรงของโรคที่มีความจำเป็นแตกต่างกัน ก็ต้องพิจารณาปรับให้เข้ากับแต่ละเหตุการณ์ แต่ละกรณี
- มีการจัดทำคู่มือการใช้ยาในแต่ละชนิด แต่ละโรค และจัดทำเป็น QR code ให้ผู้ป่วยหรือเจ้าหน้าที่ อสม. เจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมทั้งผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยเข้าไปดูได้ง่าย หรือถ้าไม่มั่นใจ เกิดปัญหาก็โทรศัพท์ หรือไลน์มาสอบถามเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้
- การป้องกันข้อผิดพลาดก็คงต้องอาศัยระบบการจ่ายยาที่ทำเหมือนกับตอนที่ผู้ป่วยมาตรวจตามปกติ แล้วเพิ่มระบบการนำส่งตามที่อยู่ที่ผู้ป่วยหรือญาติได้ให้ไว้ หรือจะจัดส่งไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ความจำเป็น โดยระบบการจัดส่งเน้นให้ใช้แบบของภาคเอกชนที่มีอยู่แล่วในการจัดส่งที่มีการตรวจเช็ครายละเอียดมาก เพื่อป้องกันความผิดพลาด โดยมีการติดตามประเมินผลความถูกต้อง และหาทางแก้ไขข้อผิดพลาดอย่างใกล้ชิด สม่ำเสมอ
- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ก็ต้องให้ผู้ป่วยรับผิดชอบ เพราะอย่างไรเสียก็ประหยัดกว่าการเดินทางมาพบแพทย์แน่นอน ส่วนเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ผมเห็นว่าน่าจะใช้คนเท่าเดิม และประสานกับทางบริษัทเอกชนที่ทำหน้าที่นำยาส่งว่าจะเข้ามาร่วมมือในการพัฒนาระบบนี้อย่างไรบ้าง
- ความปลอดภัย ผมเชื่อว่าระบบนี้ยังคงไว้ซึ่งความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพเช่นเดิม เพราะทุกอย่างเหมือนเดิม ในด้านการประเมินก็เป็นหน้าที่ของแพทย์ร่วมกับผู้ป่วยที่ต้องให้ความร่วมมือกันอย่างดีเหมือนเดิมอยู่แล้ว และน่าจะมีเวลาในการประเมินพูดคุยมากขึ้น ถ้าจำนวนผู้ป่วยนั้นลดลงในแต่ละวัน ประกอบกับต้องมีระบบการคัดกรองผู้ป่วยที่ดี ยิ่งทำให้เกิดการประเมินคนไข้ที่ละเอียด และเป็นระบบมากขึ้น ด้านเภสัชกรก็ทำหน้าที่ตรวจสอบใบสั่งยา รายการยา และบรรจุใส่หีบห่อเพื่อนำส่ง (แต่เดิมใส่ถุงแบบเดิม) การตรวจเช็ครายชื่อก็ทำเป็นระบบบาร์โค้ดที่ซองยา กล่อง ห่อพัสดุ สถานที่นำส่ง ยาบางชนิดที่ต้องเก็บในอุณหภูมิที่จำกัด หรือแตกง่าย สูญเสียคุณสมบัติง่าย ก็ต้องพัฒนาหาวิธีนำส่งอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งน่าจะพบน้อยมากในยากลุ่มดังกล่าวนี้
- กรณีเกิดข้อผิดพลาด ข้อนี้สำคัญมาก เราจะต้องให้คำแนะนำที่ดี มีการเตรียมความพร้อมในการให้คำแนะนำ สอบถามข้อสงสัยกรณีเกิดความไม่มั่นใจ และการตกลงกันล่วงหน้าก่อนการส่งยาแล้วว่าแพทย์ เภสัชกร พยาบาลนั้นทำงานในนามของโรงพยาบาล ในนามของกระทรวงสาธารณสุขหรือกระทรวงต้นสังกัด ถ้าเกิดกรณีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นนั้นเป็นการรับผิดชอบของสถานบริบาล ถ้าพิสูจน์แล้วว่าเกิดจากความผิดของสถานพยาบาล มิใช่ตัวบุคคลที่รับผิดชอบ
เริ่มเลยครับโครงการนี้ผมสนับสนุนเต็มที่ครับ ยิ่งมีคนเป็นห่วงเยอะๆ ยิ่งดีครับ จะได้คิดอย่างรอบครอบ ครอบคลุม แต่อย่าให้ความวิตกกังวลมากเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการริเริ่มสิ่งดีๆ ครับ
ด้วยความปรารถนาดีจาก
หมอสมศักดิ์ เทียมเก่า