การยืนกระต่ายขาเดียวได้ไม่นาน บอกว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง จริงหรือไม่ ?
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 5 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
ช่วงนี้มีการแชร์ clip ทาง line เกี่ยวกับการยืนกระต่ายขาเดียว ถ้าใครทำได้ไม่นานมากกว่า 20 วินาที ถือว่ามีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพาต และการฝึกยืนกระต่ายขาเดียวก็จะช่วยทำให้สมองดี ป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ จริงเหรอ ผมขอตอบเป็นข้อๆ เพื่อให้เข้าใจได้ดี
คำถาม : การศึกษาที่กล่าวถึงนั้นมีจริงหรือไม่
คำตอบ : การศึกษาที่กล่าวถึงนั้นเป็นเรื่องจริงครับ โดยทีมนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น แล้วได้รับการยอมรับให้เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ที่ชื่อว่า STROKE เมื่อวันที่ 24 เดือนตุลาคม 2557 ครับ โดยมีการตีพิมพ์วารสารดังกล่าวเป็นรูปเล่มในเดือนมกราคม ปี 2558
คำถาม : การศึกษาที่กล่าวว่าผู้สูงอายุที่ไม่สามารถยืนกระต่ายขาเดียวได้นานมากกว่า 20 วินาทีนั้น บ่งชี้ว่ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง จริงหรือไม่
คำตอบ : การศึกษานี้เริ่มทำตั้งปี 2549-2556 ครับ ในการตรวจสุขภาพผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไปจำนวนประมาณ 1400 คน ซึ่งแข็งแรงดี ไม่พบความผิดปกติทางสมองมาก่อน แล้วมีการตรวจให้ยืนกระต่ายขาเดียว ร่วมกับการตรวจประเมินอื่นๆ รวมทั้งสมรรถภาพสมองด้วย พร้อมกับได้มีการตรวจประเมินเพื่อหารอยโรคในสมองด้วยการตรวจเอ็ม อาร์ไอสมอง (การตรวจสนามแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง : MRI สมอง) ซึ่งเป็นการตรวจหารอยโรคในสมองที่ละเอียดมาก
ผลการศึกษาพบว่าผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยนี้มีอายุเฉลี่ย 67 ปี พบมีคนจำนวน 1030 คนยืนได้นานเท่ากับหรือมากกว่า 60 วินาที จำนวน 89 คน ยืนได้ 40-59 วินาที จำนวน 120 คน ยืนได้ 20-39 วินาที และจำนวน 148 คน ยืนกระต่ายขาเดียวได้น้อยกว่า 20 วินาที แล้วนำผลการตรวจเอ็ม อาร์ ไอสมองที่พบความผิดปกติต่างๆ มาหาความสัมพันธ์กับระยะเวลาการยืนกระต่ายขาเดียว
พบว่าผู้ที่ยืนกระต่ายขาเดียวเป็นระยะเวลาสั้นกว่า 20 วินาทีนั้นมีโอกาสตรวจพบความผิดปกติของรอยโรคในสอง เช่น รอยโรคสมองขาดเลือดขนาดเล็กๆ รอยโรคที่บอกว่าหลอดเลือดฝอยในสมองมีการแข็งตัว โดยที่คนเหล่านี้ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลย ซึ่งทั้ง 2 ภาวะผิดปกติดังกล่าวนั้นอาจส่งผลให้ผู้ที่ถูกตรวจพบนั้นมีโอกาสเกิดภาวะความจำบกพร่องเล็กน้อย ส่วนคนอื่นๆ ที่ยืนกระต่ายขาเดียวได้นานกว่า 20 วินาทีนั้นไม่พบความสัมพันธ์กับผลการตรวจ เอ็ม อาร์ ไอสมองที่มีความผิดปกติ หรือมีภาวะความจำบกพร่องเล็กน้อย
คำถาม : การยืนกระต่ายขาเดียวได้ไม่นานหรือยืนไม่ได้นั้น มีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง
คำตอบ : การยืนกระต่ายขาเดียวนั้นมีหลากหลายสาเหตุ ได้แก่
1. ภาวะผิดปกติของกล้ามเนื้อ เช่น อ่อนแรงของขา
2. ภาวะผิดปกติของระบบประสาทการรับรู้สึก การสัมผัส การเคลื่อนไหวของข้อต่อ
3. ภาวะผิดปกติของระบบข้อต่อ เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อเท้า ข้อนิ้ว เป็นต้น
4. ภาวะเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ เช่น เกลือโซเดียมต่ำ
5. ภาวะผิดปกติของไขสันหลัง
6. ภาวะผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคธัยรอยด์
7. ภาวะผิดปกติของสมอง เช่น โรคอัมพาต โรคโพรงน้ำในสมอง โรคพาร์กินสัน เป็นต้น
คำถาม : การตรวจพบว่ามีความผิดปกติของการยืนกระต่ายขาเดียว บ่งบอกว่าจะต้องเป็นโรคอัมพาต โรคสมองเสื่อม จริงหรือไม่
คำตอบ : การศึกษานี้เป็นเพียงหนึ่งการศึกษาที่ตรวจพบความสัมพันธ์ระหว่างการยืนกระต่ายขาเดียวกับความผิดปกติของการตรวจพบรอยโรคในสมองด้วยการตรวจเอ็ม อาร์ ไอสมอง ซึ่งจริงๆ แล้วในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะก็มีโอกาสตรวจพบความผิดปกติของเนื้อสมองด้วยการตรวจเอ็ม อาร์ ไอสมองเช่นเดียวกับการศึกษานี้เช่นเดียวกัน
ดังนั้นการตรวจพบว่าถ้าใครไม่สามารถยืนกระต่ายขาเดียวได้เป็นเวลานานตั้งแต่ 20 วินาทีขึ้นไป จะมีโอกาสเกิดโรคอัมพาต สมองเสื่อมสูงกว่าคนอื่นๆ นั้น ก็เป็นเพียงข้อมูลหนึ่งเท่านั้น และที่สำคัญต้องตรวจดูก่อนว่ามีเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการยืนกระต่ายขาเดียวไม่ได้หรือไม่
คำถาม : การฝึกยืนกระต่ายขาเดียวจะช่วยป้องกันการเกิดโรคอัมพาต สมองเสื่อมได้ จริงหรือไม่
คำตอบ : การฝึกยืนกระต่ายขาเดียวไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ว่าจะช่วยป้องกันการเกิดโรคอัมพาต หรือโรคสมองเสื่อมได้
คำถาม : สรุปว่าควรแชร์ข้อมูลที่ว่า การยืนกระต่ายขาเดียวได้ไม่นาน บ่งบอกว่าเป็นอาการเริ่มต้นของโรคอัมพาต หรือโรคสมองเสื่อม
คำตอบ : ข้อมูลดังกล่าวนั้นไม่เหมาะสมในการแชร์ต่อ เพราะเป็นเพียงการนำเสนอในด้านเดียวเท่านั้น และเป็นเพียงการศึกษาเดียวของคนญี่ปุ่นที่มีอายุมาก ไม่สามารถนำมาขยายผลในคนกลุ่มอื่นๆ เชื้อชาติอื่นๆ ได้ ซึ่งต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมากก่อนที่จะได้ข้อสรุปที่ถูกต้อง แม่นยำ และมีความน่าเชื่อถือ