สารละลายริงเกอร์ (Ringer’s solution or Lactated ringer’s solution)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

สารละลายริงเกอร์ (Ringer’s solution  หรือ  สารละลายแลคเตทริงเกอร์/Lactated ringer’s solution) คือ ยาสารน้ำที่ทางแพทย์ให้ทางหลอดเลือดดำกับผู้ป่วยที่มีการสูญเสียเลือด, สูญเสียน้ำจากมีแผลไฟไหม้ขนาดใหญ่,  และ/หรือ ในผู้ป่วยไตวายเพื่อกระตุ้นการปัสสาวะ,  โดยสารน้ำนี้ เป็นยาสารละลายที่ประกอบด้วยเกลือแร่/แร่ธาตุหลายชนิดที่นำมาละลายในน้ำกลั่น และผ่านกระบวนการอบไอน้ำให้ปราศจากเชื้อ(Sterilization), ซึ่งความเข้มข้นของแร่ธาตุในสารละลายริงเกอร์จะมีค่าเท่ากับความเข้มข้นของของเหลวภายในเซลล์ของร่างกาย

ผู้คิดค้นสารน้ำนี้คนแรก คือ  นพ. Sydney Ringer แพทย์ชาวอังกฤษ ซึ่งทดลองในกบ โดยให้สารละลายที่มีเกลือ โพแทสเซียม, โซเดียม, และแคลเซียมกับกบ เพื่อให้หัวใจของสัตว์ทดลองกบเต้นได้เป็นระยะเวลานาน

สำหรับสารละลายริงเกอร์ที่ใช้กับมนุษย์ จะมีสูตรเฉพาะและเหมาะสม โดยมีชื่อเรียกว่า ‘Lactated Ringer’s Solution’ ซึ่งมีส่วนประกอบของเกลือแร่ต่างๆต่อน้ำกลั่น 1 ลิตร ดังนี้

  • เกลือโซเดียมคลอไรด์ 6 กรัม
  • เกลือโซเดียมแลคเตท 1 กรัม
  • เกลือโพแทสเซียมคลอไรด์ 3 กรัม
  • เกลือแคลเซียมคลอไรด์ 2 กรัม

ทั้งนี้ ประโยชน์ทางการแพทย์ของสารละลายนี้ คือ ใช้เป็นสารน้ำให้ทางหลอดเลือดดำกับผู้ที่มีการสูญเสียเลือดอันเนื่องจากได้รับอุบัติเหตุ หรือผู้ที่เสียเลือดจากการผ่าตัด ผู้ที่มีแผลไฟไหม้ นอกจากนี้ ยังมีการใช้สารละลายริงเกอร์กระตุ้นให้ผู้ป่วยโรคไตวายขับถ่ายปัสสาวะอีกด้วย,  การใช้สารน้ำชนิดนี้จะมีเฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น โดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ทุกครั้งไป

สารละลายริงเกอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

สารละลายริงเกอร์

 

ยาสารละลายริงเกอร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:  เช่น

  • สำหรับผู้ป่วยที่สูญเสียน้ำและเกลือแร่จากร่างกายด้วยอุบัติเหตุและ/หรือมีการเสียเลือดและ/หรือในผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้
  • ช่วยปรับค่าความเป็นกรดด่างของเลือดภายในร่างกาย

สารละลายริงเกอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาสารละลายแลคเตทริงเกอร์ คือ ตัวสารละลายจะช่วยชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป พร้อมกับช่วยปรับความเป็นกรดด่างของเลือดให้กลับเข้าสู่ภาวะปก

สารละลายริงเกอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาสารละลายริงเกอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ในรูปสารละลายที่มีขนาดความจุ 250, 500 และ 1,000 มิลลิลิตร/ขวด

สารละลายริงเกอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การให้ยาสารละลายแลคเตทริงเกอร์กับผู้ป่วย หรือการบริหาร/การใช้ยานี้ ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ โดยอาศัยผลการตรวจสอบเลือดของผู้ป่วยเป็นแนวทางวินิจฉัย สามารถหารายละเอียดข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมจากเอกสารกำกับยา/ฉลากยาที่แนบมาพร้อมผลิตภัณฑ์ยานี้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด ที่รวมถึงยาสารละลายแลคเตทริงเกอร์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น        

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาสารละลายแลคเตทริงเกอร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนฃ
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือ รก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

สารละลายริงเกอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาสารละลายแลคเตทริงเกอร์อาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก  
  • หัวใจเต้นช้า หรือไม่ก็ หัวใจเต้นเร็ว
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • หลอดลมเกร็งตัว/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  •  ไอ, ระคายคอ
  • เป็นลมพิษ, ผื่นคันตามผิวหนัง, ใบหน้าแดง
  • เกิดความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • คลื่นไส้
  • วิตกกังวล
  • ปวดหัว

*สำหรับผู้ที่ได้รับยาสารละลายแลคเตทริงเกอร์เกินขนาด สามารถพบภาวะแคลเซียมใน เลือดสูง,   ภาวะ Metabolic alkalosis/ภาวะเลือดเป็นด่าง,   หรือ มีภาวะน้ำและเกลือโซเดียมในเลือดสูงติดตามมา

มีข้อควรระวังการใช้สารละลายริงเกอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาสารละลายริงเกอร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้หรือแพ้ Sodium lactate
  • ห้ามใช้ร่วมกับ ยาปฏิชีวนะ ชื่อ Ceftriaxone ที่ให้ทางหลอดเลือดด้วยจะเกิดการตกตะกอนของเกลือแคลเซียมกับยาCeftriaxone ได้ง่าย
  • *หยุดการให้ยาสารละลายแลคเตทริงเกอร์ทันที หากพบว่าขณะผู้ป่วยได้รับยานี้แล้วมีอาการแพ้ยาเกิดขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการให้ยาสารละลายแลคเตทริงเกอร์กับผู้ที่มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ด้วยความเข้มข้นของเกลือโพแทสเซียมในผลิตภัณฑ์อาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยเกลือโพแทสเซียมที่ร่างกายขาดไป
  • ห้ามใช้ยาสารละลายแลคเตทริงเกอร์เพื่อรักษาภาวะที่เรียกว่า Lactic acidosis (ภาวะเลือดเป็นกรด) หรือ Severe metabolic acidosis (เลือดเป็นกรดเมตะบอลิก)ที่รุนแรง
  • ระวังการให้ยาสารละลายแลคเตทริงเกอร์กับผู้ป่วยที่มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในร่างกายสูง รวมถึงผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด, ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะ Alkalosis (เลือดเป็นด่าง), ผู้ป่วยโรคไต, ผู้ที่อยู่ในภาวะบวมน้ำ
  • ระวังการเกิดภาวะเกลือแร่แลคเตท(Lactate)เกินในกระแสเลือด (ภาวะเลือดเป็นกรด)เมื่อใช้กับผู้ป่วยโรคตับ
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกสนับสนุนถึงความปลอดภัยและประสิทธิ ภาพของการใช้ยาสารละลายแลคเตทริงเกอร์กับเด็ก
  • ระวังการใช้กับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • การหยดยาแลคเตทริงเกอร์เข้าหลอดเลือด ต้องใช้อัตราการหยดที่เหมาะสม โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะมีน้ำเกินในร่างกายหรือเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในเลือด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมสารละลายริงเกอร์) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

สารละลายริงเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาสารละลายริงเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น  เช่น

  • ห้ามใช้สารละลายแลคเตทริงเกอร์ ร่วมกับ ยาปฏิชีวนะ ชื่อ  Ceftriaxone ด้วยจะเกิดการตกตะกอนระหว่างแคลเซียมจากสารละลายแลคเตทริงเกอร์กับยา Ceftriaxone

ควรเก็บรักษาสารละลายริงเกอร์อย่างไร?

สามารถเก็บยาสารละลายแลคเตทริงเกอร์: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น, อุณหภูมิสูงสุดของการเก็บรักษาไม่ควรเกิน 40 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงง

สารละลายริงเกอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาสารละลายแลคเตทริงเกอร์ มียาชื่อการค้าอื่นๆ และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Ringers Lactate (ริงเกอร์ แลคเตท) Taj Pharmaceuticals Ltd.
Lactated Ringers Solution (แลคเตท ริงเกอร์ โซลูชั่น) DOH-CO
Lactated Ringer’s Injection (แลคเตท ริงเกอร์ อินเจ็คชั่น) Thai Nakorn Patana
Lactated Ringer’s and 5% Dextrose Injection (แลคเตท ริงเกอร์ และ 5% เด็กซ์โทรส อินเจ็คชั่น) Baxter
Lactated Ringer’s Injection (แลคเตท ริงเกอร์ อินเจ็คชั่น) Hospira

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Ringer%27s_solution [2023,April 29]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Ringer%27s_lactate_solution [2023,April 29]
  3. https://www.drugs.com/pro/lactated-ringers.html [2023,April 29]
  4. https://www.medicinenet.com/ringers-lactated_ringers_solution-intravenous/article.htm  [2023,April 29]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/lactated%20ringers%20solution/ [2023,April 29]
  6. https://doh.gov.ph/sites/default/files/DOHCOPriceReportjan2013.pdf [2023,April 29]
  7. https://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/archives/fdaDrugInfo.cfm?archiveid=16808 [2023,April 29]
  8. https://www.academia.edu/3702730/Effects_of_hypertonic_saline_and_lactated_Ringers_solutions_on_bacterial_translocation_in_a_rat_model_of_intestinal_obstruction_and_ischemia   [2023,April 29]