หัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 22 สิงหาคม 2560
- Tweet
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis)
- ยาโรคไทรอยด์ (Thyroid medication)
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- แคฟเฟอีน (Caffeine)
- นิโคติน (Nicotine)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
หัวใจเต้นเร็ว หรือ ชีพจรเต้นเร็ว หรือ อัตราการเต้นของหัวใจเร็ว(Tachycardia) ไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการหรือภาวะที่หัวใจมีอัตราการเต้น(Beat per minute ย่อว่า BPM)เร็วมากกว่า 100ครั้งต่อนาที ซึ่งในภาวะปกติหัวใจจะเต้นอยู่ในช่วง 60-100ครั้งต่อนาที ซึ่งหัวใจเต้นเร็วอาจเกิดกับหัวใจทุกห้อง ทั้งห้องด้านขวา ด้านซ้าย ห้องบน และห้องล่าง หรืออาจเกิดเฉพาะกับห้องด้านบน(Atrial tachycardia) หรือเฉพาะกับห้องด้านล่าง(Ventricular tachycardia) หรือเมื่อเกิดจากการทำงานของแหล่งสร้างไฟฟ้ากระตุ้นการบีบตัวของหัวใจที่เรียกว่า Sinus node จะเรียกว่าเป็นหัวใจเต้นเร็วแบบ Sinus tachycardia
สาเหตุ: สาเหตุของหัวใจเต้นเร็ว อาจเกิดจากปัจจัยที่ไม่ใช่โรค หรือเกิดจากโรค
ก. สาเหตุหัวใจเต้นเร็วที่ไม่ได้เกิดจากโรค เช่นจาก การออกกำลังกาย ภาวะตื่นเต้น ความเครียด ดื่มกาแฟ/กาเฟอีน เสพสารนิโคติน ดื่มเครื่องดื่มโคลา ช็อกโกแลต ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด(เช่น ยาไทรอยด์ฮอร์โมน) ภาวะอากาศร้อน ภาวะเสียเลือดมาก
ข. สาเหตุหัวใจเต้นเร็วจากโรค เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ อาการไข้ โรคหัวใจ โรคปอด ภาวะโลหิตจาง ภาวะช็อก
อาการ: อาการจากมีหัวใจเต้นเร็ว จะส่งผลให้หัวใจไม่สามารถบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญอย่าง สมอง และกล้ามเนื้อหัวใจ ผู้ป่วยจึงมักมีอาการของสมองและของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เช่น วิงเวียน ใจสั่น เป็นลม หายใจเหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก และเมื่อหัวใจเต้นเร็วมากเกินไปจะส่งผลให้หัวใจหยุดเต้นได้
การวินิจฉัย: แพทย์วินิจฉัย อาการหัวใจเต้นเร็วได้จาก ประวัติทางการแพทย์ อาการผู้ป่วย ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ การตรวจวัดสัญญานชีพ การตรวจร่างกาย การตรวจฟังการเต้นของหัวใจด้วยหูฟัง การตรวจเลือดCBCดูภาวะซีด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์และอาการผู้ป่วย เช่น เอคโคหัวใจ เอกซเรย์ปอด
การรักษา: คือการให้ยาลดอัตราการเต้นของหัวใจ เช่น ยา Propranolone และการรักษาสาเหตุ
การพยากรณ์โรค: ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของอาการหัวใจเต้นเร็วขึ้นกับสาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากการออกกำลังกาย หรือมีไข้ การพยากรณ์โรคดี อาการจะหายเป็นปกติหลังหยุดพัก หรือเมื่อไข้ลง แต่ถ้าสาเหตุมาจากโรคปอด หรือโรคหัวใจ การพยากรณ์โรคก็จะขึ้นกับความรุนแรงของโรคนั้นๆ
ทั้งนี้ เมื่อมีหัวใจเต้นเร็วบ่อยครั้ง โดยหาสาเหตุไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์หาสาเหตุเพื่อการรักษาที่เหมาะสม
บรรณานุกรม