วิธีฉีดอินซูลินให้ตนเอง (How to inject insulin)
- โดย ปรัศนีย์ อัมพุธ
- 26 ตุลาคม 2562
- Tweet
- ยาอินซูลินใช้รักษาโรคอะไร?
- ข้อบ่งชี้การรักษาด้วยยาอินซูลินคืออะไร?
- ขั้นตอนการฉีดยาอินซูลินทำอย่างไร?
- มีวิธีฉีดยาอินซูลินในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างไร?
- มีวิธีเก็บยาอินซูลินอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น (Juvenile diabetes mellitus)
- เบาหวานกับการตั้งครรภ์ (Diabetes mellitus and pregnancy)
- ยาอินซูลิน (Insulin)
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- ตับอ่อน (Pancreas)
- เบาหวานขึ้นตา เบาหวานกินตา (Diabetic retinopathy)
- การดูแลเท้าในโรคเบาหวาน (Diabetic foot care)
ยาอินซูลินใช้รักษาโรคอะไร?
ก่อนที่จะเรียนรู้วิธีการฉีดยาอินซูลิน (Insulin) เราควรทำความรู้จักว่ายาอินซูลินคือยาอะ ไร ใช้รักษาผู้ป่วยในโรคใดกันก่อน
อินซูลิน (Insulin) เป็นยาชนิดฉีดที่ใช้สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานให้เป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติเท่าที่ทำได้ ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาหลักสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ทุกราย และผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีด้วยการควบคุมอาหารและการใช้ยาเม็ดลดระดับน้ำตาล
ข้อบ่งชี้การรักษาด้วยยาอินซูลินคืออะไร?
การรักษาโรคเบาหวานด้วยยาฉีดอินซูลินมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน ดังนี้
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1
- ผู้ป่วยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน มีภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตน (Diabetic ketoacidosis) หรือภาวะเลือดเข้มข้นจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงมาก (Hyperglycemic hyperosmolar non-ketotic syndrome)
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีปัญหาดังต่อไปนี้
- ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมาก
- ใช้ยาเม็ดรับประทาน 2 ชนิด ในขนาดสูงสุดแล้ว ยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
- อยู่ในภาวะผิดปกติ เช่น มีการติดเชื้ออย่างรุนแรง เกิดอุบัติเหตุรุนแรง และมีระดับน้ำ ตาลในเลือดสูง รวมทั้งภาวะขาดสารอาหาร (Malnutrition)
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อยู่ในระหว่างการผ่าตัด
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีความผิดปกติของตับและไต
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่แพ้ยาโรคเบาหวานชนิดเม็ด
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารได้
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เกิดจากตับอ่อนถูกทำลาย เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง หรือผู้ป่วยถูกตัดตับอ่อน
ขั้นตอนการฉีดยาอินซูลินทำอย่างไร?
ขั้นตอนในการฉีดอินซูลินด้วยตนเองมีดังนี้
- เตรียมอุปกรณ์ ได้แก่
- ยาอินซูลิน โดยต้องตรวจดูให้แน่ใจว่ายาฉีดเป็นชนิดที่ถูกต้อง เนื่องจากผู้ป่วยบางรายจะมียาอินซูลินมากกว่า 1 ชนิด และต้องตรวจดูวันหมดอายุ หรือยามีการเปลี่ยนสีที่ผิดปกติ หรืออินซูลินจับเป็นตะกอนหรือไม่ ถ้าตรวจสอบแล้วยาเสื่อมคุณภาพ ต้องทิ้งยา (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่องวิธีทิ้งยา) ไป ไม่ใช้ยานั้น
- เข็มฉีดยาอินซูลิน
- สำลีสะอาดที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
- แอลกอฮอล์ชนิด 70%
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่
- กลิ้งขวดอินซูลินบนฝ่ามือตามแนวนอน ไม่ใช้การเขย่าเพราะจะทำให้เกิดฟองอากาศ และทำให้ปริมาณยาอินซูลินที่ดูดมาใช้ ผิดพลาดได้
- ทำความสะอาดจุกยางขวดยาอินซูลินด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์
- ดูดอากาศเข้าไปในเข็มฉีดยาเท่ากับจำนวนอินซูลินที่จะฉีด แล้วดันอากาศใส่เข้าไปในขวดอินซูลิน
- หากผู้ป่วยต้องใช้อิซูลินแบบผสม ให้ดูดอากาศเข้าไปในเข็มเท่ากับจำนวนอินซูลินที่จะฉีด อินซูลินทั้งชนิดออกฤทธิ์สั้นและออกฤทธิ์ปานกลาง เช่น ฉีดอินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้น 5 ยูนิต ออกฤทธิ์ปานกลาง 10 ยูนิต ให้ดูดลมเข้าไปในเข็มเป็นจำนวน 15 ยูนิต
- คว่ำขวดอินซูลินพร้อมดูดยาอินซูลินตามจำนวน แต่ต้องมั่นใจว่าเข็มจมอยู่ในยาอินซูลินก่อนดูดยาเสมอ เพื่อป้องกันการดูดอากาศเข้าไปในเข็มฉีดยา
- หากฉีดอินซูลินชนิดผสม ให้ใส่ลมเข้าไปในขวดอินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลางก่อน แล้วดูดอินซูลินออกมา 10 ยูนิต แล้วจึงใส่ลมเข้าไปในขวดอินซูลินออกฤทธิ์สั้น แล้วดูดอินซูลินออกมา 5 ยูนิต
- เลือกตำแหน่งที่ฉีดยา ได้แก่ บริเวณหน้าท้องห่างจากสะดือประมาณ 5-20 เซนติเมตร บริเวณต้นแขน ต้นขา และบริเวณแก้มก้น การดูดซึมบริเวณหน้าท้องจะดูดซึมได้ดีกว่าที่บริเวณต้นแขนหรือต้นขา การฉีดยาควรห่างจากตำแหน่งเดิมประมาณ 1.5 นิ้ว เพราะการฉีดยาซ้ำตำ แหน่งเดิมอาจจะเกิด ก้อนไขมันที่เกิดจากยาอินซูลิน (Lipohypertrophy) ได้
- ทำความสะอาดตำแหน่งที่ฉีดยาด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์ และรอให้แห้งประมาณ 5-10 วินา ที ก่อนฉีดยา
- จับผิวหนังยกขึ้นเป็นลำก่อนฉีดยา ซึ่งช่วยทำให้ลดโอกาสที่จะปักเข็มเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อ ทั้งนี้การฉีดยาอินซูลินที่ถูกต้อง จะต้องฉีดยาเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนัง (Subcutaneous injection)
- ฉีดอินซูลินโดยทำมุม 45-90 องศากับผิวหนัง แทงมิดเข็มเมื่อใช้เข็มฉีดเฉพาะอินซูลิน แต่ในกรณีที่ใช้เข็มยาว ให้แทงประมาณ ½ นิ้วของเข็ม โดยทำมุม 45 องศา
- ดันก้านเข็มฉีดอินซูลินจนสุด หลังฉีดยาสำรวจว่ามีเลือดออกหรือไม่ ถ้ามีให้กดบริเวณฉีดยา จนกว่าเลือดหยุด แต่ไม่ควรนวดบริเวณที่ฉีดยา เพราะจะทำให้การดูดซึมยาอินซูลินเร็วขึ้น และถ้าเป็นตุ่มนูนแสดงว่าฉีดยาเข้าผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (ผิวหนังชั้นนอกสุด) ซึ่งแสดงว่าฉีดยาตื้นเกินไป
มีวิธีฉีดยาอินซูลินในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างไร?
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยอินซูลินไปตลอด มีรูปแบบการฉีดอินซูลินที่นิยมมากที่สุด คือ การฉีดอินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลางหรือชนิดออกฤทธิ์นานก่อนนอน (เวลา 21.00 น. หรือ 24.00 น.) ร่วมกับการรับประทานยาเม็ดลดระดับน้ำตาลในตอนกลางวัน โดยมีหลักการปรับขนาดอินซูลิน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถจัดการตน เองให้มีการควบคุมระดับน้ำตาลที่ดี
ทั้งนี้ ขนาดยา และวิธีปรับปริมาณยาอินซูลิน ต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทย์ผู้ดูแล ซึ่งโดยทั่วไป คำแนะนำ คือ
- ปรับขนาดอินซูลินได้ทุก 3-7 วัน ตามระดับน้ำตาลในเลือดตอนเช้าก่อนอาหาร (จากการตรวจสอบระดับน้ำตาล โดยการเจาะเลือดปลายนิ้วด้วยตนเอง แล้วตรวจด้วยเครื่องตรวจที่ใช้สำหรับการตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองที่บ้าน หรือจากการเจาะเลือดที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน)
- สามารถปรับเพิ่มขนาดอินซูลิน 1-2 ยูนิต ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าระดับเป้าหมายแต่ไม่เกิน 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ปรับเพิ่มขนาดอินซูลิน 2-4 ยูนิต ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าระดับเป้าหมาย แต่เกิน 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ปรับลดขนาดอินซูลินลง 2 ยูนิต ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าเป้าหมาย
- ปรับลดขนาดอินซูลินลง 4 ยูนิต ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
มีวิธีเก็บยาอินซูลินอย่างไร?
วิธีเก็บยาอินซูลิน ได้แก่
- ยาอินซูลินที่เปิดใช้แล้ว ควรเก็บดังนี้
- เก็บในตู้เย็นที่ตั้งอุณหภูมิที่ 2-8 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามวางยาไว้ในช่องแช่แข็งหรือใต้ช่องแช่แข็ง
- และหลังเปิดใช้แล้ว ควรใช้ยาให้หมดภายในเวลา 1-3 เดือน
- แต่ถ้าไม่มีตู้เย็น สามารถเก็บที่อุณหภูมิห้องที่ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียสได้ประมาณ 1 เดือน
- สำหรับอินซูลินชนิดปากกา สามารถเก็บได้โดยใส่ในกล่องปากกาที่จัดมา โดยไม่ถูกความร้อน และไม่ต้องเข้าตู้เย็น จะอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้หมดก่อนเวลา
- ส่วนยาอินซูลินที่ยังไม่เปิดใช้ ให้เก็บในตู้เย็นที่ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 2-8 องศาเซลเซียส
- สำหรับผู้ป่วยที่เดินทาง สามารถนำยาอินซูลินติดตัวไปได้โดย
- ไม่ต้องใส่กระติกน้ำแข็ง ถ้าไม่ถูกความร้อน
- ไม่ควรเก็บอินซูลินในที่ร้อน เช่น หลังรถ
- ควรเก็บในกระเป๋าขนาดเล็ก ที่สามารถหยิบใช้ได้ง่าย
- ในกรณีที่เดินทางไกลและอากาศร้อนมาก ควรเก็บอินซูลินใส่ถุงหรือกระป๋องพลาสติกก่อนใส่ในกระติกน้ำแข็ง
บรรณานุกรม
- วีระศักดิ์ ศรินนภากร. (2553). การใช้ยารักษาโรคเบาหวาน. ใน วีระศักดิ์ ศรินนภากร, ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์, ทองคำ สุนทรเทพวรากุล, สถิต นิรมิตรมหาปัญญา. โรคเบาหวาน: Cases approach for diabetes mellitus management. กรุงเทพฯ: กรุงเทพเวชสาร.
- วีระศักดิ์ ศรินนภากร. (2555). รูปแบบของการฉีดยาอินซูลิน. ใน วีระศักดิ์ ศรินนภากร, ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์, ทองคำ สุนทรเทพวรากุล. ตำราอิซูลิน: Insulin. กรุงเทพฯ: กรุงเทพเวชสาร.
- สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า. (2554). แนวทางเวชปฎิบัติสำหรับโรคเบาหวาน. กรุงเทพฯ: ศรีเมืองการพิมพ์.
- อุระณี รัตนพิทักษ์. (2554). ยารักษาเบาหวาน. ใน สมเกียรติ โพธิรัตย์, วรรณี นิธิยานันท์, อัมพา สุทธิจำรูญ, ยุพิน เบ็ญจสุรัตน์วงศ์. การให้ความรู้เพื่อจัดการโรคเบาหวานด้วยตนเอง: Diabetes education for self-management. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: นิวธรรมดาการพิมพ์.