วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Vasopressin receptor antagonist: VRA)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 กุมภาพันธ์ 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
- วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
- วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- โรคตับแข็ง (Liver cirrhosis)
- โซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia)
- โซเดียมในเลือดสูง (Hypernatremia)
- แวปแทน (Vaptans)
บทนำ: คือยาอะไร?
วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Vasopressin receptor antagonist ย่อว่า วีอาร์เอ/VRA) คือ ยาใช้รักษาภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia) กับกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว และผู้ป่วยด้วยโรคตับแข็ง, ยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์กับตัวรับ (Receptor)ในร่างกายที่มีชื่อว่า Vasopressin receptors (V receptor), รูปแบบจะเป็น ยารับประทาน และยาฉีด
ทั้งนี้ ชื่ออื่นของยานี้คือ Vasopressin antagonist, ทั่วไปยาในกลุ่มนี้ยังแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยตามการออกฤทธิ์กับตัวรับ ดังนี้
ก. กลุ่ม แวปแทน (Vaptans): เป็นหมวดยาที่แสดงฤทธิ์ในบริเวณตัวรับที่ชื่อว่า Vasopressin receptor ซึ่งจำแนกเป็น V1A receptor, V1B receptor และ V2 receptor โดยจะส่งผลในการควบคุมความดันโลหิต, การทำงานของไต, รวมถึงพฤติกรรมการแสดงออกทางสังคมของคนเราอีกด้วย, ทางคลินิกสามารถจำแนกยากลุ่ม Vaptans ออกเป็นรายการดังต่อนี้ เช่น
- Conivaptan: มีการออกฤทธิ์ที่ตำแหน่ง V1B receptor และ V2 receptor, ตัวยามีโครงสร้างเหมือนฮอร์โมนที่ยับยั้งการขับปัสสาวะ, ใช้รักษาภาวะเกลือโซเดียมในร่างกายต่ำ, และมีรูปแบบการใช้เป็นยาฉีด
- Relcovaptan: มีการออกฤทธิ์ที่ตำแหน่ง V1A receptor, ปัจจุบันยังไม่พบเห็นการนำมาใช้ทางคลีนิก
- Nelivaptan: มีการออกฤทธิ์ที่ตำแหน่ง V1B receptor, บริษัทยาเคยทดลองนำยานี้ไปรักษาอาการวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า แต่ก็เกิดการหยุดชะงักของงานวิจัย
- Lixivaptan: ออกฤทธิ์ที่ตำแหน่ง V2 receptor, ใช้ป้องกันอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด, จุดเด่นของยานี้คือ สามารถทาให้ร่างกายกำจัดน้ำส่วนเกินออกไปแต่ยังคงรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกายไว้ได้
- Mozavaptan: ออกฤทธิ์ที่ตำแหน่ง V2 receptor, เป็นยาชนิดรับประทาน, มีการจัดจำหน่าย โดยบริษัทยาที่ชื่อ Otsuka
- Satavaptan: ออกฤทธิ์ที่ตำแหน่ง V2 receptor, ถูกพัฒนาโดยบริษัทยาที่มีชื่อว่า Sanofi –Aventis, และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสหภาพยุโรป
- Tolvaptan: ออกฤทธิ์ที่ตำแหน่ง V2 receptor, ใช้รักษาภาวะเกลือโซเดียมในร่างกายต่ำ (Hyponatremia) กับกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลวและผู้ป่วยด้วยโรคตับแข็ง, เป็นยาชนิดรับประทานที่รู้จักภายใต้ชื่อการค้า Samsca
ข. กลุ่ม Demeclocycline และ ยาลิเทียม (Lithium): ยาทั้งสองตัวนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ใช้บำบัดภาวะเกลือโซเดียมในร่างกายต่ำ เพียงแต่ตัวยามีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนวาโซเพรสซินที่ไตได้เช่นกัน จึงนำมาบรรจุอยู่ในบทความนี้ด้วย
ทั้งนี้ เราจะไม่ค่อยพบเห็นการใช้ยากลุ่มวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มากนัก ด้วยตัวยามีความจำเพาะเจาะจงต่อกลุ่มอาการโรคซึ่งมีระดับความรุนแรงแตกต่างกัน อีกทั้งต้องคำนึงถึงโรคที่แทรกซ้อนของผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป, ดังนั้นการใช้ยาใดๆในกลุ่มนี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรไปหาซื้อยามารับประทานด้วยตนเอง
วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บำบัดรักษาภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia) เช่น ยา Conivaptan, Lixivaptan, Mozavaptan และ Tolvaptan
วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กับตัวรับ (Receptor) ที่เรียกว่า V1A receptor, V1B receptor และ V2 receptor โดยหนึ่งในกลไกที่สำคัญ คือ มีการแข่งขันกับการทำงานของฮอร์โมนวาโซเพรสซิน (Vasopressin hormone ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองที่ช่วยควบคุมเกี่ยวกับการขับปัสสาวะของไต) ส่งผลให้ไตขับปัสสาวะโดยที่ยังคงรักษาปริมาณเกลือโซเดียมในร่างกายได้อย่างปกติ จึงทำให้มีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน
- ยาฉีด
วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
เนื่องจากยาในกลุ่มวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีทั้งยารับประทานและยาฉีด และมีหลายรายการยา การใช้ยาแต่ละรายการจึงขึ้นกับแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาเท่านั้นที่จะสามารถบริหารยา/ใช้ยาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ให้ตรงเวลา, แต่หากลืมรับประทานยาวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้, ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประ ทานเป็น 2 เท่า
วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง /อาการข้างเคียง) เช่น
- ปวดท้อง
- ตาพร่า
- ปากคอแห้ง
- ใบหน้าแดง
- ปัสสาวะบ่อย
- หิวเก่ง
- กระหายน้ำ
- คลื่นไส้อาเจียน
- อึดอัด/รู้สึกไม่สุขสบาย
- ไอ
- วิตกกังวล
- ปัสสาวะมีสีคล้ำ
- มีไข้
- เป็นตะคริว
มีข้อควรระวังการใช้วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
- ห้ามใช้ยานี้ใน สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ
- ระวังการใช้ยานี้กับเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยไตทำงานผิดปกติ
- การใช้ยากลุ่มนี้ควรต้องกระทำในสถานพยาบาลเพราะต้องตรวจสอบระดับเกลือโซเดียมในเลือดควบคู่กันไป
- ระวังการเกิดภาวะขาดน้ำรวมถึงมีอาการชักและอาการโคม่าติดตามมา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยา Tolvaptan ร่วมกับยา Amprenavir (ยาต้านไวรัส) เป็นองค์ประกอบด้วยจะทำให้ระดับยา Tolvaptan เพิ่มมากขึ้น จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมาอย่างมากมาย
- การใช้ยา Conivaptan ร่วมกับยา Hydrocodone ด้วยจะทำให้ระดับยา Hydrocodone ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นและส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?
ควรเก็บยาวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
วาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
CONVIZIN (คอนไวซิน) | Ranbaxy |
HYPONAT (ไฮโปแนท) | Zydus |
Samsca (แซมกา) | Otsuka |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Vasopressin_receptor_antagonist [2023,Feb25]
- https://www.mims.com/Indonesia/drug/info/Samsca/?type=full [2023,Feb25]
- https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21836029/ [2023,Feb25]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/a-cof-dh-with-conivaptan-1201-8107-737-0.html [2023,Feb25]