ลีนาลิโดไมด์ (Lenalidomide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาลีนาลิโดไมด์(Lenalidomide) เป็นยารักษามะเร็งที่เกิดขึ้นในไขกระดูก(Bone marrow cancer/Multiple myeloma/มัลติเพิลมัยอีโลมา) รวมถึงโรคทางโลหิตวิทยา/ โรคเลือดที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูกที่เรียกว่า โรค Myelodysplastic syndrome/ โรคเลือดเอ็มดีเอส

ทางคลินิก เริ่มนำยานี้มาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548) รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาแคปซูลชนิดรับประทาน ปกติทั่วไป แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาเพียงวันละ 1 ครั้ง และเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดต่อตัวผู้ป่วย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาสเตียรอยด์ Dexamethasone ร่วมในการรักษาโรคมะเร็งดังกล่าว

ยาลีนาลิโดไมด์ สามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ร่วมกับอาหารจำพวกไขมัน ด้วยจะทำการดูดซึมของตัวยาลดลง ร่างกายต้องใช้เวลา 3-5 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปทางปัสสาวะ

สำหรับผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยมักได้รับจากยานี้ ได้แก่ เกิดภาวะโลหิตจาง/โรคซีด, มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่าย, นอกจากนี้อาจพบ อาการท้องเสีย, เกิดผื่นคัน, และอ่อนเพลีย, เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียงดังกล่าวสามารถหายได้เองเมื่อหยุดการใช้ยาลีนาลิโดไมด์

การใช้ยาลีนาลิโดไมด์กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ เป็นเรื่องที่ต้องห้ามอย่างยิ่งด้วยตัวยานี้สามารถก่อให้เกิดภาวะวิกลรูป/ความพิการ และทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิต(ตาย)ได้ จึงถือเป็นข้อพึงระวังของสตรีขณะที่ได้รับยาลีนาลิโดไมด์จะต้องป้องกันการตั้งครรภ์อย่างเข้มงวด

องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ยาลีนาลิโดไมด์เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของสถานพยาบาลที่เปิดทำการรักษาโรคมะเร็ง และในประเทศไทยจะพบเห็นการจำหน่ายยาชนิดนี้ภายใต้ยาชื่อการค้าว่า ‘Revlimid’

ลีนาลิโดไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ลีนาลิโดไมด์

ยาลีนาลิโดไมด์มีสรรพคุณ/ ข้อบ่งใช้:

  • ใช้รักษาโรคมะเร็งและความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูก เช่นในโรค
    • Multiple myeloma / มัลติเพิลมัยอีโลมา
    • Myelodysplastic Syndrome ย่อว่า MDS /โรคเลือดเอ็มดีเอส
    • Mantle Cell Lymphoma /มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่ง
    • Lymphoma /มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ลีนาลิโดไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ของยาลีนาลิโดไมด์อย่างแน่ชัด แต่พบว่าตัวยาสามารถยับยั้งการแบ่งตัวและสนับสนุนให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งในเม็ดเลือด นอกจากนี้ ยาลีนาลิโดไมด์ยังช่วยกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกัน T-Cell และ Natural Killer Cell ของร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น ทางคลินิกพบว่ายาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยา Dexamethasone

ลีนาลิโดไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาลีนาลิโดไมด์:

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย ตัวยา Lenalidomide ขนาด 5, 10, 15, 20 และ 25 มิลลิกรัม/แคปซูล

ลีนาลิโดไมด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การใช้ยาลีนาลิโดไมด์ ในการรักษามะเร็งตามสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ปกติทั่วไป แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้เพียงวันละ 1 แคปซูล เมื่อรับประทานยาครบเทอมการรักษา แพทย์จะสั่งหยุดการใช้ยา แต่อาจต้องมารับการให้ยาซ้ำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วย และ/หรือ การตอบสนองต่อยานี้ของผู้ป่วย

ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับลีนาลิโดไมด์?

การดูแลตนเองขณะได้รับ ยาลีนาลิโดไมด์ เช่น

  • ดื่มน้ำอย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน หรือเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์
  • ล้างมือบ่อยๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค
  • หากมีอาการคลื่นไส้เมื่อจะรับประทานอาหาร ให้ใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนตามที่แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น ห้ามซื้อยาอื่นใดมาใช้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถปรับการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น เพื่อลดอาการคลื่นไส้ดังกล่าว
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมหนักที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็นแผลเลือดออก
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • พักผ่อนให้เต็มที่ และรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วนตามที่แพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ
  • หลีกเลี่ยงการออกแดดจัดๆ หากมีความจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง ควรใช้โลชั่น หรือครีมกันแดด (ค่าSPFตั้งแต่15) พร้อมกับสวมใส่เสื้อผ้าปกปิดร่างกายอย่างมิดชิด
  • กรณีมีอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ให้ผู้ป่วยรีบกลับไปปรึกษาแพทย์ผู้ที่ให้การรักษา/มาโรงพยาบาล

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาลีนาลิโดไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/ หายใจลำบาก
  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/ หายใจลำบาก มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลีนาลิโดไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ผู้ป่วยต้องรับประทานยาลีนาลิโดไมด์ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด กรณีลืมรับประทานยาต้องรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามรับประทานยาเพิ่มเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น

ลีนาลิโดไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาลีนาลิโดไมด์ อาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ มีเลือดกำเดาไหล หายใจขัด ปอดบวม
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ วิงเวียน ปวดศีรษะ/ ปวดหัว
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย คลื่นไส้ เกิดแผลในลำคอ อาเจียน
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น บวมน้ำตามข้อและเท้า
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ผิวแห้ง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจาง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น มีการติดเชื้อง่ายขึ้น

ทั้งนี้ อาการข้างเคียงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายของแต่ละบุคคล และอาการข้างเคียงข้างต้นจะดีขึ้นเองเมื่อหยุดการใช้ยานี้

มีข้อควรระวังการใช้ลีนาลิโดไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาลีนาลิโดไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
  • การใช้ยากับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และ ผู้สูงอายุ ต้องอยู่ ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามรับการฉีดวัคซีนใดๆขณะใช้ยาลีนาลิโดไมด์
  • ห้ามใช้ยาอื่นใดร่วมรับประทานกับยาลีนาลิโดไมด์ นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามมารดาที่เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมมารดาขณะที่ได้รับยานี้
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมาย เพื่อการตรวจร่างกาย และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาลีนาลิโดไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ลีนาลิโดไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาลีนาลิโดไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาลีนาลิโดไมด์ ร่วมกับ ยา Adalimumab ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อได้อย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยาลีนาลิโดไมด์ ร่วมกับ ยา Atezolizumab ด้วยจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงอย่างรุนแรงต่อผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาลีนาลิโดไมด์ ร่วมกับ ยาAtorvastatin ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย(Rhabdomyolysis) ตามมา
  • ห้ามฉีดวัคซีนบีซีจี(BCG Vaccine) ขณะที่ได้รับยาลีนาลิโดไมด์ ด้วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากตัววัคซีนนี้เสียเอง

ควรเก็บรักษาลีนาลิโดไมด์อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาลีนาลิโดไมด์ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
  • ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

ลีนาลิโดไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาลีนาลิโดไมด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Revlimid (เรบลิมิด)Celgene Corporation

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/Lenalidomide.aspx [2019,Nov16]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Lenalidomide[2019,Nov16]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/lenalidomide?mtype=generic[2019,Nov16]
  4. https://www.drugs.com/dosage/lenalidomide.html [2019,Nov16]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/lenalidomide-index.html?filter=3[2019,Nov16]