ลิสเทริโอซิส (Listeriosis) หรือ ลิสทีเรีย (Listeria)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคลิสเทริโอซิส(Listeriosis)หรือเรียกอีกชื่อว่าโรคลิสทีเรีย(Listeria) เป็นโรคเกิดจากการระบบทางเดินอาหารติดเชื้อแบคทีเรียในสกุล(Genus) ลิสทีเรีย (Listeria) ซึ่งสายพันธุ์ย่อยชนิด (Species) ที่มักก่อให้เกิดโรคในคนคือ Listeria monocyto genes (L. monocytogenes) โดยอาการพบบ่อย คือ มีไข้ร่วมกับท้องเสียหลังจากกินเชื้อนี้ไปแล้วประมาณ 1-90 วัน ทั่วไปประมาณ 30 วัน

อนึ่ง บางคนออกเสียงโรคนี้ว่า ลิสเทอริโอซิส หรือ ลิสเทเรีย

แบคทีเรีย Listeria monocytogenes หรือ เชื้อลิสทีเรียพบได้ใน ดิน ปุ๋ย อาหารสัตว์ และแหล่งน้ำทั่วไปในธรรมชาติ กล่าวคือ แหล่งเหล่านี้เป็นแหล่งรังโรคของเชื้อนี้นั่นเอง นอกจากนั้นยังพบว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งสัตว์ป่าและสัตว์บ้าน นกหลายชนิด หอย ปลา และคนบางคน ก็เป็นรังโรคนี้ได้ โดยจะพบเชื้อนี้อยู่ในอุจจาระของสัตว์/คนเหล่านี้

เชื้อลิสทีเรียเป็นเชื้อที่สามารถอยู่ได้ในอุณหภูมิเย็นจัดที่ต่ำได้ถึง 0 องศาเซลเซียส (Celsius) แต่เจริญได้ดีในช่วง 1- 45 องศาเซลเซียส เชื้อนี้ฆ่าตายด้วยความร้อนตั้งแต่ 70 องศา เซลเซียสขึ้นไปเป็นเวลานานอย่างน้อย 3 - 5 นาทีและด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลายชนิดเช่น Sodium hypochlorite, สารประกอบในกลุ่ม Iodophor compound, และสารประกอบในกลุ่ม Ammonium compound อย่างไรก็ตาม เชื้อนี้มีชีวิตนอกร่างกายคนได้นานมากเมื่ออยู่ในแหล่งรังโรคของเชื้อนี้

การติดเชื้อลิสทีเรียเกิดจากการบริโภคอาหารที่รวมถึงผัก ผลไม้ หรือดื่มน้ำ หรือดื่มนม/ผลิตภัณฑ์นมที่ปนเปื้อนเชื้อนี้ ซึ่งเรียกการติดเชื้อในลักษณะนี้ว่า “Oral-fecal route หรือ Fecal-oral route หรือ Oro fecal route (การติดเชื้อทางปาก-อุจจาระ หรือ อุจจาระ-ปาก)”

โรคลิสเทริโอซิสเป็นโรคพบได้เรื่อยๆไม่บ่อยนักทั้งในประเทศที่เจริญแล้วและในประเทศที่กำลังพัฒนา อุบัติการณ์แตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่พบการระบาดเกิดได้เป็นครั้งคราวตลอด เวลา เป็นโรคพบในทุกอายุตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ซึ่งติดเชื้อผ่านการติดเชื้อจากมารดา ไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสติดเชื้อนี้ได้เท่ากัน

ทั้งนี้ มีรายงานจากประเทศที่เจริญแล้วทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในแต่ละปีพบโรคนี้ได้ประมาณ 0.3-7.5 รายต่อประชากร 1 ล้านคน

โรคลิสเทริโอซิสเกิดได้อย่างไร?

ลิสทีเรีย

โรคลิสเทริโอซิสเกิดจาก การกินอาหาร ดื่มน้ำ ดื่มเครื่องดื่ม ที่ปนเปื้อนเชื้อลิสทีเรีย ที่พบได้บ่อยคือ ผัก สลัด เนื้อสัตว์ทุกชนิดที่ปรุงสดหรือสุกๆดิบๆ เนื้อสัตว์สำเร็จรูป/แปรรูปในรูปของอาหารแช่แข็งเช่น ฮอดดอก แฮม ซาลามิ เนย นมโดยเฉพาะนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ ไอศกรีม และที่มีการระบาดในสหรัฐอเมริกาจนมีผู้เสียชีวิตหลายรายในเดือน กันยายน พ.ศ. 2554 คือจากการปนเปื้อนในแคลตาลูป อย่างไรก็ตาม มีรายงานบางครั้งพบการติดเชื้อเกิดจากอาหาร เครื่อง ดื่มสำเร็จรูปที่ฆ่าเชื้อแล้ว แต่มาเกิดการปนเปื้อนเชื้อในช่วงการหีบห่อหรือในการขนส่ง

ทั้งนี้เมื่อเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะรุกรานเข้าสู่กระแสเลือด (โลหิต) ผ่านทางลำไส้เล็ก ซึ่ง เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว จะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ ในกระแสเลือด, ในทุกๆเนื้อเยื่อ, และในทุกๆอวัยวะ ก่อให้เกิดอาการได้หลากหลายขึ้นกับว่าเป็นการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ/อวัยวะใด ซึ่งอาจเกิดติดเชื้อพร้อมๆกันได้หลายๆเนื้อเยื่อ/อวัยวะ ที่พบมีการติดเชื้อได้บ่อย คือ เยื่อหุ้มสมอง, สมอง, เยื่อบุหัวใจ, กระเพาะอาหารและลำไส้, เยื่อบุช่องท้อง, ตา, ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลือง รวมทั้งรกในหญิงตั้งครรภ์

โรคลิสเทริโอซิสมีอาการอย่างไร?

เมื่อได้รับเชื้อลิสทีเรีย ผู้ป่วยมักมีอาการภายใน 1 - 90 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) ทั้งนี้ขึ้น กับความรุนแรงของโรคและปริมาณเชื้อที่ได้รับว่าน้อยหรือมาก แต่โดยทั่วไปมักเกิดอาการภายใน 30 วันหลังได้รับเชื้อ

อาการของโรคลิสเทริโอซิสมีได้หลากหลายอาการ ทั้งนี้ขึ้นกับว่ามีการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ/ อวัยวะใดบ้าง นอกจากนั้นความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละคนยังแตกต่างกันด้วยขึ้นกับ ปริมาณเชื้อที่ได้รับ อายุ และภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของแต่ละคน

ก. ในผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรง: ผู้ติดเชื้อนี้อาจมีเพียง อาการไข้ ซึ่งอาจเป็นไข้สูงหรือไข้ต่ำร่วมกับท้องเสียที่ไม่รุนแรง และอาการมักดีขึ้นภายใน 2 - 3 วันหลังการรักษา หรือบางคนอาการอาจดีขึ้นเองด้วยการดูแลตนเองตามอาการ อนึ่งในภาพรวม อาการอาจคล้ายไข้หวัดใหญ่หรือ อาหารเป็นพิษที่ไม่รุนแรง

ข. ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงของโรค: อาการที่พบได้คือ มีไข้สูง, ปวดกล้ามเนื้อทั่วตัว, ปวดหัว, อ่อนเพลีย, อาจมีคลื่นไส้-อาเจียน, และท้องเสียรุนแรง, โดยอาการเริ่มแรกจะคล้ายไข้หวัดใหญ่หรืออาหารเป็นพิษเช่นกัน แต่อาการจะรุนแรง และมีอาการจากมีการติดเชื้อในอวัยวะต่างๆร่วมด้วย เช่น

  • เมื่อมีการติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมองส่งผลให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมีไข้สูง, ปวดหัวมาก, คอแข็ง, อาจร่วมกับมีอาการชัก
  • เมื่อมีการติดเชื้อในเนื้อสมองส่งผลให้เกิด สมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการ ไข้สูง ปวด หัวมาก แขน/ขาอ่อนแรง ชัก และทรงตัวไม่ได้
  • เมื่อมีการติดเชื้อในตับ จะส่งผลให้มีไข้ได้ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ ปวด/เจ็บใต้ชายโครงขวา (ตำแหน่ง ที่อยู่ของตับ) คลื่นไส้-อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • เมื่อมีการติดเชื้อในลูกตา จะส่งผลให้เกิดตาแดงจากเยื่อบุตาอักเสบ, ตาพร่า, เห็นภาพไม่ชัด
  • เมื่อเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง จะเกิดแผลและ/หรือฝี/หนองที่ผิวหนัง
  • เมื่อมีการติดเชื้อที่ต่อมน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองจะโต คลำได้ เจ็บ
  • เมื่อมีการติดเชื้อในม้ามจะมีม้ามโต คลำได้ (ปกติจะคลำม้ามไม่ได้) เจ็บ
  • เมื่อมีการติดเชื้อในช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ) จะมีอาการไข้สูง ปวดท้องมาก ท้องอืด อาจมีน้ำในท้อง/ ท้องบวม/ ท้องมาน
  • ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ มักมีอาการเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่คือ มีไข้สูง (บางคนอาจมีไข้ต่ำได้), ปวดเมื่อยเนื้อตัว/กล้ามเนื้อ, อาจมีหรือไม่มีอาการท้องเสีย, หลังจากนั้นมักคลอดก่อนกำหนด หรือ เกิดการแท้งบุตร หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือเด็กแรกคลอดติดเชื้อรุนแรงจากติดเชื้อนี้ผ่านทางรกและอาจรุนแรงจนเป็นเหตุให้เด็กตายได้ในเวลาต่อมา แต่ถ้าให้การรักษามารดาได้รวดเร็วตั้งแรกที่มารดาติดเชื้อ ทารกที่คลอดมักเป็นทารกปกติและไม่มีการติดเชื้อนี้

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง?

ผู้ที่เมื่อติดโรคลิสเทริโอซิสแล้วจะมีความรุนแรงโรคสูง หรือที่เรียกว่า “กลุ่มเสี่ยง” คือ

  • หญิงตั้งครรภ์
  • ทารกในครรภ์
  • เด็กแรกเกิด
  • เด็กเล็ก
  • ผู้สูงอายุ และ
  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง และผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมโรคได้ไม่ดี

แพทย์วินิจฉัยโรคลิสเทริโอซิสได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคลิสเทริโอซิสได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการบริโภคอาหาร น้ำดื่ม นม และ /หรือบริโภคผลิตภัณฑ์ต่างๆจากนม
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจเลือด เช่น ซีบีซี (CBC) เพื่อดูการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การเพาะเชื้อ อาจจากสารคัดหลั่งจากแผลในตำแหน่งต่างๆ, จากเลือด, จากน้ำไขสันหลัง และ/หรือจากอุจจาระ และ
  • อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม เช่น การตรวจภาพอวัยวะที่ก่ออาการเช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์

รักษาโรคลิสเทริโอซิสอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคลิสเทริโอซิสคือ การใช้ยาปฏิชีวนะ และการรักษาตามอาการ

ก. ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคนี้มีหลายชนิด: เช่น ยาในกลุ่ม Penicillin, Gentamycin, Trimetho prim-Sulfamethoxazole (Co-trimoxazole), Chloramphenicol ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ยาชนิดใด และอาจใช้ยาเพียงชนิดเดียวหรือ 2 ชนิดร่วมกัน ขึ้นกับความรุนแรงของโรคและดุลพินิจของแพทย์

ข. การรักษาตามอาการ: เช่น

  • ยาลดไข้เมื่อมีไข้สูง
  • ยาแก้ปวดเมื่อ ปวดหัว หรือปวดเมื่อยเนื้อตัว
  • การใช้ยาผงเกลือแร่ โออาร์เอส (ORS) เมื่อท้องเสีย และ/หรือ
  • การให้สารน้ำ/สารอาหารทางหลอดเลือดเมื่อกินหรือดื่มน้ำได้น้อย

โรคลิสเทริโอซิสรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงโรคของโรคลิสเทริโอซิส คือ

  • ลิสเทริโอซิส จัดเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงในผู้ที่เป็น ‘กลุ่มเสี่ยง’ ดังกล่าวใน ’ หัวข้อ ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง’ มีโอกาสตายได้ประมาณ 20 - 30% ถึงแม้จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรกมีอาการ
  • ส่วนในหญิงตั้งครรภ์ มีโอกาส ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ได้ประมาณ 20%
  • แต่ในผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงโรคมักรักษาหายได้ภาย ในประมาณ 7 - 10 วันด้วยการรักษาแบบผู้ป่วยนอก

* ในส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

  • แพทย์ต้องให้การรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล อาจรักษาได้หายภายในประมาณ 2 สัปดาห์เมื่อมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
  • แต่อาจต้องใช้ระยะเวลารักษานานขึ้นเป็นประมาณ 3 - 6 สัปดาห์เมื่อมีการติดเชื้อในสมอง (เยื่อหุ้มสมอง อักเสบและ/หรือสมองอักเสบ) หรือเมื่อสมองเกิดเป็นฝี/หนอง (ฝีสมอง)

ผลข้างเคียง:

ส่วนผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้ที่สำคัญคือ

  • เมื่อติดเชื้อนี้ในหญิงตั้งครรภ์จะมีโอกาส แท้งบุตร, เด็กคลอดก่อนกำหนด, ทารกเสียชีวิตในครรภ์, และเด็กเสียชีวิตหลังคลอดได้ ทั้งนี้เกิดจากเด็กมีการติดเชื้อนี้ที่รุนแร
  • นอกจากนั้น
  • ยังพบว่า เด็กเล็กที่มีการติดเชื้อนี้ที่สมอง ภายหลังการรักษาหายแล้ว เด็กอาจจะมีความผิดปกติทางสมองตลอดไป

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองโดยเฉพาะผู้เป็น “กลุ่มเสี่ยง” เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลภายใน 1 - 2 วันเมื่ออาการไม่ดีขึ้นหรืออาการเลวลงหลัง จากดูแลตนเอง

ส่วนเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลิสเทริโอซิสและพบแพทย์แล้ว การดูแลตนเองที่บ้าน คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเองถึงแม้อาการ จะปกติแล้ว
  • พักผ่อนให้เต็มที่
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ และ
  • รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • มีอาการผิดไปจากเดิม
    • อาการต่างๆเลวลง
    • อาการที่เคยหายไปแล้วกลับเป็นใหม่อีก เช่น อาการไข้ และ/หรือ
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคลิสเทริโอซิสได้อย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือตัวยาที่ใช้ป้องกันโรคลิสเทริโอซิส แต่เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อใน กลุ่มติดเชื้ออุจจาระ-ปาก โรคลิสเทริโอซิสจึงสามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับในโรคติดเชื้อกลุ่มนี้ทั้งหมดเช่น โรคไทฟอยด์ เป็นต้น ซึ่งวิธีป้องกันที่สำคัญที่สุดคือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • กินอาหารปรุงสุกอย่างทั่วถึงทั้งชิ้นอาหาร
  • ล้างมือบ่อยๆและล้างมือเสมอก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • ดื่มนมเฉพาะจากนมที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว และดื่มแต่ที่สะอาด
  • เมื่อจะกินอาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง หรืออาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง โดยเฉพาะใน “กลุ่มเสี่ยง” ควรต้องอุ่นอาหารให้สุกทั่วถึงด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้น ไปอย่างน้อยนาน 3 - 5 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อนี้
  • รักษาความสะอาดเครื่องปรุงอาหารทุกชนิด ผัก ผลไม้ รวมทั้งภาชนะต่างๆที่ใช้ในการปรุงอาหาร กินอาหาร ดื่มน้ำ
  • การเก็บอาหารในตู้เย็น ควรแยกเก็บไม่ให้ปะปนกัน และมีภาชนะที่ใช้เก็บที่เหมาะ สมระหว่าง เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และอาหารแช่แข็งต่างๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Doganay, M. (2003). Listeriosis: clinical presentation. FEMS Immunology and Medical Microbiology. 35, 173-175.
  3. Listeriosishttp://en.wikipedia.org/wiki/Listeriosis [2020,Jan4]
  4. Listeriosis (Listeria infection) http://www.cdc.gov/listeria/ [2020,Jan4]
  5. Listeria infection http://emedicine.medscape.com/article/965841-overview#showall [2020,Jan4]
  6. Listeria monocytogenese http://en.wikipedia.org/wiki/Listeria_monocytogenes [2020,Jan4]
  7. Listeriosis http://www.merckvetmanual.com/mvm/index.jsp?cfile=htm/bc/51400.htm [2020,Jan4]
  8. Weimstein, K. Listeria monocytogenes http://emedicine.medscape.com/article/220684-overview#showall [2020,Jan4]
  9. https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/listeria-monocytogenes.html [2020,Jan4]