ลาโซโฟซิฟีน (Lasofoxifene)
- โดย ภก.วิชญ์ภัทร ธรานนท์
- 11 ธันวาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาลาโซโฟซิฟีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาลาโซโฟซิฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาลาโซโฟซิฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาลาโซโฟซิฟีนมีขนาดการใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาลาโซโฟซิฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาลาโซโฟซิฟีนอย่างไร?
- ยาลาโซโฟซิฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาลาโซโฟซิฟีนอย่างไร?
- ยาลาโซโฟซิฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เซิร์ม: กลุ่มยาเซิร์ม (SERMs: Selective Estrogen Receptor Modulators)
- ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- กระดูกหัก (Bone fracture)
- หลอดเลือดดำจอตาอุดตัน โรคซีอาร์วีโอ (Central retinal vein occlusion หรือ CRVO)
บทนำ: คือยาอะไร?
ลาโซโฟซิฟีน (Lasofoxifene) คือยาในกลุ่มยา Selective estrogen receptor modulators หรือเรียกสั้นๆว่า ‘เซิร์ม (SERMs)’ ยาในกลุ่มนี้จะเป็นสารในกลุ่มเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่มีผลต่อเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายโดยเฉพาะในระบบอวัยวะสืบพันธุ์
ในอดีตยาในกลุ่ม ‘เซิร์ม’พัฒนาขึ้นโดยการค้นคว้าวิจัยเพื่อให้ได้สารที่คงประสิทธิภาพโดยมีอาการไม่พึงประสงค์น้อยที่สุดของฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยเป้าหมายหลักในอดีตคือ ใช้ในการรักษามะเร็งเต้านม แต่ในอดีตยายังไม่ได้รับการพัฒนามากนักจึงทำให้ฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเอสโตรเจนของยาเกิดผลเสียต่ออวัยวะในระบบอื่นๆ
ต่อมาจึงมีการพัฒนายาในกลุ่มเซิร์มจนมีคุณสมบัติในการรักษาทั้ง โรคมะเร็งเต้านม โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ, และไม่ส่งผลเสียต่ออวัยวะอื่นๆ เช่น มดลูก เป็นต้น
ยาลาโซโฟซิฟีน มีข้อบ่งใช้สำหรับการรักษาโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) โดยสามารถเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกทั้งที่กระดูกสันหลังและกระดูกสะโพก ลดอุบัติการณ์ของกระดูกหักได้
สำหรับผลอื่นๆของยานี้ เช่น ผลต่อระดับไขมันในเลือด และปัจจัยต่างๆที่ส่งผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง, โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ, ซึ่งมีแนวโน้มค่อนข้างดี รวมถึงยังมีข้อมูลในการอาจป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้ อย่างไรก็ตามยังพบอุบัติการณ์ของผลข้างเคียง คือ ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำในผู้ป่วยที่ได้รับยานี้
ยาลาโซโฟซิฟีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาลาโซโฟซิฟีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- สำหรับการรักษาโรคกระดูกพรุน โดยมีผลยับยั้งการสลายกระดูกและลดการหมุนเวียนของกระดูก ลดการสูญเสียมวลกระดูก/เนื้อกระดูก และคงอสภาพคุณภาพของกระดูกและรักษาความแข็งแกร่งของกระดูกได้ โดยจะมีประสิทธิผลต่อการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นของกระดูกทั้งที่ กระดูกสันหลังส่วนเอว กระดูกสะโพก
- ยาลาโซโฟซิฟีนยังได้รับการพิจารณาให้ใช้ในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก (Postmenopausal women at increased risk of fractures)
- รวมทั้งยังมีผลลดระดับไขมันในเลือดชนิดแอลดีแอล/ชนิดไม่ดี (LDL, Low density lipoprotein)
ยาลาโซโฟซิฟีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่ม เซิร์ม (SERMs) ที่รวมถึงยาลาโซโฟซิฟีนคล้ายกับกลไกการออกฤทธิ์ ของเอสโตรเจน (Estrogen) โดยจะออกฤทธิ์ผ่านตัวรับ (Receptor)เอสโตรเจน(Estrogen receptor, ER receptor*)ที่อยู่ในเซลล์ แต่สำหรับความแตกต่างระหว่างยา กลุ่มเซิร์มกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายนั้นคือ เซิร์ม สามารถทำให้เกิดฤทธิ์ของเอสโตรเจน (Estrogenic effect)ได้ในบางอวัยวะ และยังสามารถทำให้เกิดฤทธิ์ต้านเอสโตรเจน (Antiestrogenic) ได้ในบางอวัยวะ ขึ้นกับแต่ละชนิดเนื้อเยื่อและชนิดอวัยวะว่าจะประกอบด้วยชนิดของโปรตีนที่ทำหน้าที่เพื่อการออกฤทธิ์เสริม หรือ เพื่อการต้านฤทธ์ Estrogen ที่เรียกว่า Coregulators ชนิดใดอยู่
*ตัวรับ/หน่วยรับความรู้สึกเอสโตรเจน (Estrogen receptor) เป็นโปรตีนที่พบได้ในอวัยวะต่างๆ เช่น อวัยวะสืบพันธุ์ เต้านม ต่อมใต้สมอง สมองไฮโปธาลามัส กระดูก ตับ เป็นต้น ซึ่งตัวรับ เอสโตรเจนจะมีรูปร่าง หรือโครงสร้างที่แตกต่างกันจึงมีผลในการออกฤทธิ์ต่างกัน อีกทั้งยังขึ้นกับประเภทของยาในกลุ่มเซิร์มด้วยเช่นกันว่าเมื่อโครงสร้างของยาจับกับตัวรับเอสโตรเจนแล้วจะออกฤทธิ์อย่างไร เสริมหรือต้านเอสโตรเจน
ยาลาโซโฟซิฟีนเป็นยาในเซิร์มรุ่นที่ 3 ได้รับการออกแบบและพัฒนาโครงสร้างจนสามารถจับกับตัวรับเอสโตรเจนได้ดีมาก และโครงสร้างของยานี้ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงโดยกระบวนการทำลายยาที่บริเวณผนังลำไส้ จึงทำให้การบริหารยา/การใช้ยาด้วยวิธีการรับประทานดีขึ้น กลไกของยาลาโซโฟซีฟีนจะเหมือนเอสโตรเจนในการทำให้เซลล์ออสทีโอคลาสท์ (Osteoclast) ตาย โดยเซลล์ออสทีโอคลาสเป็นเซลล์ที่มีผลในการทำลายกระดูก ดังนั้นจึงทำให้ยานี้มีคุณสมบัติในการยับยั้งการสลาย/การทำลายกระดูก ลดการสูญเสียมวลกระดูก อีกทั้งในการศึกษาเพิ่มเติมยังพบว่า ยานี้ยังสามารถช่วยคงสภาพคุณภาพของกระดูกและรักษาความแข็งแกร่งของกระดูกได้อีกด้วย
ยาลาโซโฟซิฟีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาลาโซโฟซิฟีน:
- ยาเม็ดเคลือบฟิล์ม (Film-coated tablet) สำหรับรับประทาน ขนาด5 มิลลิกรัม (500 ไมโครกรัม)
ยาลาโซโฟซิฟีนมีขนาดการใช้ยาอย่างไร?
ยาลาโซโฟซิฟีนมีขนาดการใช้ยา เช่น
- ไม่มีข้อบ่งใช้ของยาลาโซโฟซิฟีนในทารก หรือเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) หรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ขนาดยานี้ในผู้ใหญ่สำหรับรักษาภาวะกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือน: เช่น 0.5 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้งก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- ขนาดยานี้ในผู้ป่วยไตบกพร่องในผู้ใหญ่: ยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอด ภัยจึงไม่มีขนาดยาที่แนะนำในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีการทำงานของไตบกพร่องจึงใช้ขนาดยาตามปกติ แต่ควรให้ความระมัดระวังพิเศษในผู้ป่วยกลุ่มที่มีการทำงานของไตบกพร่องรุนแรงหรือกำลังได้รับการบำบัดทดแทนไต/การล้างไต
- ขนาดยาในผู้ป่วยตับบกพร่องในผู้ใหญ่: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีการ ทำงานของตับบกพร่องระดับน้อยถึงปานกลางหมายถึง แพทย์ประเมินแล้วอยู่ในระดับการทำงานตับที่เรียกว่า *Child-Pugh A และ B และอาจพิจารณาหยุดใช้ยานี้หากการทำงานของตับบกพร่อง คือ เอนไซม์การทำงานของตับเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 เท่าของขีดจำกัดบนของค่าปกติ (Upper normal limit) ที่สามารถตรวจวัดได้
*Child-Pugh เป็นชื่อแพทย์ชาวอเมริกัน 2 คนที่ร่วมกันคิดวิธีประเมินระดับ/scoreการทำงาน ของตับเรียกว่า “Child-Pugh score” แบ่งเป็น 3 ระดับ จากบกพร่องต่ำ = A, ปานกลาง = B และบกพร่องรุนแรง = C โดยใช้ค่าต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตับมาประเมินร่วมกันเช่น เอนไซม์ตับ การมีน้ำในช่องท้อง อาการของผู้ป่วย ฯลฯ
- มีข้อแนะนำสำหรับการเสริมแคลเซียมและวิตามินดีควบคู่กับการใช้ยาลาโซโฟซิฟีนในหญิง วัยหมดประจำเดือน ควรได้รับแคลเซียมเฉลี่ย 1,500 มิลลิกรัมต่อวันและวิตามินดี 400 - 800 ยูนิต ต่อวัน
*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาลาโซโฟซิฟีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาลาโซโฟซิฟีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่
- แจ้งแพทย์ของท่านให้ทราบ หากท่านมีประวัติความเจ็บป่วยในอดีต เช่น มะเร็งเต้านม, ประวัติเต้านมมีความผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ, การทำงานของไตหรือตับผิดปกติรุนแรง
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
ยาลาโซโฟซิฟีนเป็นยาที่มีวิธีการรับประทานยาวันละ 1 ครั้งต่อวันโดยสามารถรับประทานเวลาใดก็ได้เนื่องจากอาหารไม่มีผลต่อยา เพื่อให้การรับประทานยาเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและป้องกันการลืมรับประทานยา ผู้ป่วยควรเลือกช่วงเวลาในการรับประทานยาเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน
กรณีลืมรับประทานยาลาโซโฟซิฟีนให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อคือ เกิน 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยาปกติ) ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมไป รอรับประทานยามื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเช่น ปกติรับประทานยาวันละ 1 ครั้งเวลา 8.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 12.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 8.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ใน ช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยามื้อถัดเช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 8.00 น. ตอนเวลา 21.00 น. ให้รอรับประทานยามื้อถัดไปคือ 8.00 น. วันถัดไปในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับ ประทานมารับประทานเพิ่ม
ยาลาโซโฟซิฟีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง)ของยาลาโซโฟซิฟีน เช่น
- อาการไม่พึงประสงค์ของยาลาโซโฟซิฟีนที่พบได้บ่อยๆ: เช่น อาการตะคริว (Muscle cramps), อาการร้อนวูบวาบบริเวณใบหน้า (Hot flushes) โดยพบว่าอาการร้อนวูบวาบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกของการเริ่มใช้ยา, อาการท้องผูก, เหงื่อออกมากกว่าปกติ, มีอาการปวดหรือรู้สึกโดนกดบริเวณหลัง คอ ข้อต่อ และหน้าอก
- อาการไม่พึงประสงค์ของยาลาโซโฟซิฟีนที่พบได้น้อย: เช่น มีภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้, ความรู้สึกแสบร้อนขณะถ่ายปัสสาวะหรือกลั้นปัสสาวะยาก, ตาแห้ง, ผมร่วง, หรือเกิดผื่นขึ้นบริเวณผิวหนัง
มีข้อควรระวังการใช้ยาลาโซโฟซิฟีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาลาโซโฟซิฟีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ ( Deep vein thrombosis), ภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด(Pulmonary embolism) และ โรคหลอดเลือดดำจอตาอุดตัน (Retinal vein thrombosis) หรือเคยมีประวัติการเกิดภาวะดังที่กล่าวมานี้ในอดีต
- ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่กำลังให้นมบุตร
- ควรหยุดยานี้อย่างน้อย 3 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัดหรือหัตถการใดๆที่ส่งผลทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับยาลาโซโฟซิฟีนต้องพักฟื้นบนเตียงและไม่ได้ขยับ/บริหารร่างกายเป็นเวลานานเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน
- หญิงที่กำลังได้รับยานี้อยู่แล้วต้องเดินทางไกลโดยไม่ได้ขยับร่างกายเป็นเวลานานเช่น จำ เป็นต้องเดินทางโดยเครื่องบินเป็นเวลานาน ควรได้รับคำแนะนำให้ลุกขึ้นจากที่นั่งและบริหารร่างกาย เช่น เดินไปมา ขยับ/แกว่งแขนและขา เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน
- สตรีที่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ควรเริ่มใช้ยานี้โดยเด็ดขาดก่อนได้รับการวินิจฉัยจากสูตินรีแพทย์ถึงสาเหตุของการเกิดเลือดออกทางช่องคลอด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาลาโซโฟซิฟีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาลาโซโฟซิฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาลาโซโฟซิฟีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- เมื่อใช้ยาลาโซโฟซิฟีนคู่กับยาดังต่อไปนี้ซึ่งคาดว่าสามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 (Cytochrome P450 3A4, เอนไซม์ทำลายยา) ได้เช่น ฟีโนบาร์บีทาล (Phenobarbital: ยากันชัก), คาร์บามาซีปิน (Carbamazepine: ยากันชักฯ), ฟีนีทอย (Phenytoin: ยากันชักฯ), ไรแฟม ปินซิน (Rifampicin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาวัณโรค), ไรฟาบูติน (Rifabutin: ยาฆ่าเชื้อแบคที เรีย, ยาวัณโรค) หรือสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิรท์ (St. John's wort: สมุนไพรคลายเครียด) ดังนั้น หากใช้ยาเหล่านี้ที่กล่าวมาคู่กับยาลาโซโฟซิฟีนอาจทำให้ระดับยาลาโซโฟซิฟีนลดลง ประสิทธิภาพของยาจึงลดลงเช่นกันจึงไม่ควรใช้ยาร่วมกัน
- เมื่อใช้ยาลาโซโฟซิฟีนคู่กับยาดังต่อไปนี้ซึ่งคาดว่าสามารถลดการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 ได้ เช่นยา คีโตโคนาโซล (Ketoconazole: ยาต้านเชื้อรา) และยาต้านเชื้อราชนิดอื่นๆที่อยู่ในกลุ่มอาโซล (Azole Antifungal) ส่งผลทำให้ระดับยาลาโซโฟซิฟีนเพิ่มสูงขึ้นได้ แต่พบว่าไม่มีนัย สำคัญทางคลินิกจึงไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาเมื่อใช้ร่วมกัน
- เมื่อใช้ยาลาโซโฟซิฟีนคู่กับยาดังต่อไปนี้ซึ่งคาดว่าสามารถลดการทำงานของเอนไซม์ CYP2D6 (Cytochrome P450 2D6, เอนไซม์อีกชนิดที่ทำลายยา) ได้เช่นยา พาล็อกซิทีน(Paroxetine: ยาต้านเศร้า) ส่งผลทำให้ระดับยาลาโซโฟซิฟีนเพิ่มสูงขึ้น แต่พบว่าไม่มีนัยสำคัญทางคลินิกจึงไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาเมื่อใช้ร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาลาโซโฟซิฟีนอย่างไร?
แนะนำเก็บยาลาโซโฟซิฟีน: เช่น
- เก็บยา ณ อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง
- หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดดหรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน
- ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ หรือห้องครัว
- ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาลาโซโฟซิฟีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาลาโซโฟซิฟีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Fablyn (แฟบลิน) 0.5 mg film-coated tablets | Pfizer |
บรรณานุกรม
- Product Information: Fablyn, Lasofoxifene, Pfizer.
- เอกลักษณ์ วโนทยาโรจน์, ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล. Selective Estrogen Receptor Modulators: SERMsใน: ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล., บรรณาธิการ. ตำราโรคกระดูกพรุน กรุงเทพมหานคร: บริษัทโฮลิสติก พับลิชชิ่ง. 2552