รีโทซิแบน (Retosiban)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยารีโทซิแบน(Retosiban) เป็นยากลุ่มออกซิโทซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Oxytocin receptor antagonist) ถูกพัฒนาโดยบริษัทยา GlaxoSmithKline มีฤทธิ์ลด/ยับยั้งการบีบตัวของมดลูก หรือที่เรียกว่ามีอิทธิพลของโทโคไลติก(Tocolytic effect) ทางคลินิก จึงนำยานี้มาป้องกันการคลอดก่อนกำหนด(Preterm labor) ซึ่งจะช่วยให้ทารกยังคงอยู่ในครรภ์เพื่อได้มีเวลาพัฒนาการได้อย่างปกติ เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ข้อมูลวิจัยยารีโทซิแบนใน ช่วงระยะที่ 2 (a phase II pilot) โดยมีการศึกษาทดลองการบริหารยาแบบรับประทานและยาฉีด การศึกษาได้ลงลึกไปถึงการตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจรวมถึงความดันโลหิตของทารกในครรภ์เมื่อมารดาได้รับยาชนิดนี้ สิ่งสำคัญคือการยืดระยะเวลาการคลอดออกไปจนทารกในครรภ์แข็งแรงพอนั้น มีข้อ สรุปเชิงบวกและทำให้เกิดการวิจัยยานี้ต่อเนื่องในช่วงที่ 3 (Phase III) ด้วยเหตุผลของงานวิจัยและพัฒนา ทำให้ตัวยารีโทซิแบนถูกกำหนดเป็นรหัสเชิงเอกลักษณ์ที่ประกอบด้วยตัวเลขและตัวอักษรว่า “GSK221149A”

ปัจจุบันยารีโทซิแบนยังไม่มีการผลิตออกมาจำหน่ายในรูปของยาแผนปัจจุบันแต่คาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้ เราน่าจะพบเห็นการใช้ยานี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตของทารกด้วยเหตุคลอดก่อนกำหนดอย่างแน่นอน

รีโทซิแบนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

รีโทซิแบน

ยารีโทซิแบน มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ป้องกันการคลอดก่อนกำหนด

รีโทซิแบนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยารีโทซิแบน มีกลไกการออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของฮอร์โมน Oxytocin ทำให้ลด การกระตุ้นการหดตัวของผนังมดลูก ส่งผลให้ทารกสามารถอยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่ง ครบกำหนดคลอดได้

อนึ่ง ก่อนใช้ยารีโทซิแบน ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจสภาพครรภ์จากสูติแพทย์ว่า อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือไม่ โดยแพทย์มักใช้เกณฑ์พิจารณาดังต่อไปนี้

  • มีอายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ (30–36 สัปดาห์)
  • มดลูกมีการบีบตัว/หดตัวตั้งแต่ 6 ครั้งขึ้นไปต่อชั่วโมง
  • การบีบตัวของมดลูกแต่ละครั้งใช้เวลาอย่างน้อย 30 วินาทีขึ้นไป

รีโทซิแบนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รีโทซิแบนจะมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • มีทั้งยาชนิดรับประทาน และยาฉีด ที่ยังรอสรุปขนาดความแรงที่เหมาะสม

รีโทซิแบนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการบริหารยา/ใช้ยารีโทซิแบน ยังอยู่ในช่วงการศึกษา และรอสรุปขนาดการใช้ยานี้ทางคลินิก ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ “บทนำ”

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยารีโทซิแบน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผิ่นหรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยารีโทซิแบนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยา อื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

รีโทซิแบนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

งานศึกษาวิจัยของยารีโทซิแบน จะกล่าวถึงประสิทธิผลของการรักษาและข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ยานี้โดยมีการบันทึกทางสถิติและรอการสรุปอย่างเป็นทางการ แต่อย่างไรก็ตาม พบว่ารีโทซิแบนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น ปวดศีรษะ อาหารไม่ย่อย ปวดหลัง คลื่นไส้ ปวดท้อง และ/หรือท้องผูก เป็นต้น

มีข้อควรระวังการใช้รีโทซิแบนอย่างไร?

สำหรับข้อควรระวังการใช้ยารีโทซิแบน ตลอดจนกระทั่งข้อห้ามใช้ ยังคงอยู่ในระหว่างงานศึกษาวิจัย ที่รอการบันทึกเป็นข้อสรุปทางคลินิก แต่พอจะกล่าวสรุปในเบื้องต้นได้ เช่น

  • ห้ามใช้กับสตรีที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้/ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานโดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้โดยมิได้ปรึกษาแพทย์
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยารีโทซิแบนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ฌสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ควรเก็บรักษารีโทซิแบนอย่างไร?

ควรเก็บยารีโทซิแบน ตามคำแนะนำของเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

รีโทซิแบนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยารีโทซิแบน ยังไม่ยามีชื่อการค้า เพราะยังอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนา จึงยังไม่มีการจัดจำหน่ายเป็นทางการ โดยยานี้ถูกระบุชื่อเรียกที่เป็นลักษณะรหัสว่า “GSK221149A” และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ GlaxoSmithKline

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Retosiban [2017,Dec9]
  2. https://www.revolvy.com/main/index.php?s=Retosiban&uid=1575 [2017,Dec9]
  3. http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/bcp.13336/pdf [2017,Dec9]
  4. https://clinicaltrials.gov/ct2/show/record/NCT00404768 [2017,Dec9]
  5. https://newdrugapprovals.org/2015/03/20/retosiban/ [2017,Dec9]
  6. https://clinicaltrials.gov/ct2/archive/NCT02377466 [2017,Dec9]
  7. http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/bcp.12646/full [2017,Dec9]