รีเซอร์พีน (Reserpine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 ธันวาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- รีเซอร์พีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- รีเซอร์พีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- รีเซอร์พีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- รีเซอร์พีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- รีเซอร์พีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้รีเซอร์พีนอย่างไร?
- รีเซอร์พีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษารีเซอร์พีนอย่างไร?
- รีเซอร์พีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคจิต (Psychosis)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
บทนำ
ยารีเซอร์พีน (Reserpine) เป็นสารประเภท อินโดล อัลคาลอยด์ (Indole alkaloid, สารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท) ประโยชน์ทางการแพทย์ในปัจจุบันคือ นำมาเป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูง
สารรีเซอร์พีนถูกสกัดได้จากรากของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rauwolfia serpetina ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) ในประเทศอินเดีย เคยใช้เป็นยาลดไข้และรักษาผู้ที่ถูกงูกัด อาการข้างเคียงของรีเซอร์พีนที่พบได้บ่อยเห็นจะได้แก่ อาการคัดจมูก
สูตรตำรับของรีเซอร์ปีนในยาแผนปัจจุบันจะผลิตออกมาในรูปแบบของยาเม็ดชนิดรับประทาน โดยตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้เพียงประมาณ 50% ยาส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างจากกระเพาะอาหารและลำไส้ รวมถึงตับก็จะร่วมเปลี่ยนโครงสร้างเคมีของยานี้เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดด้วยเช่นกัน
ยารีเซอร์พีน สามารถดูดซึมผ่านเข้าไปกับน้ำนมมารดา และผ่านเข้าสมองของมนุษย์ได้อีกด้วย จึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่วงการแพทย์นำยานี้มาใช้รักษาอาการของผู้ป่วยด้านจิตประสาท
สำหรับประเทศไทยเราจะพบเห็นการใช้ยารีเซอร์พีนทั้งเป็นแบบยาเดี่ยวและยาผสมร่วมกับยาอื่นในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง และการจะเลือกใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้บริโภค/ผู้ป่วยไปหาซื้อยามารับประทานเอง
รีเซอร์พีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยารีเซอร์พีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- รักษาอาการทางจิตประสาท/โรคจิต (Psychoses)
รีเซอร์พีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยารีเซอร์พีน คือ ตัวยาจะเข้าไปลดสารสื่อประสาทบางตัว เช่น Noradrenaline, Catecholamine และยังลดการสะสมของสารสื่อประสาท Serotonin จากผลดังกล่าวจึงทำให้ความดันโลหิตลดลง หัวใจเต้นช้าลง และทำให้ปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจน้อยลง อีกทั้งเกิดฤทธิ์ของการกดการทำงานของประสาทส่วนกลางหรือกดการทำงานของสมอง อีกด้วย จากกลไกดังกล่าวจึงทำให้รีเซอร์พีนมีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
รีเซอร์พีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยารีเซอร์พีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 0.25 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น
- Dihydroergocristine mesilate 0.5 มิลลิกรัม + Clopamide 5 มิลลิกรัม + Reserpine 0.1 มิลลิกรัม
- Reserpine 0.1 มิลลิกรัม + Hydralazine HCl 25 มิลลิกรัม + Hydrochlorothiazide 15 มิลลิกรัม
รีเซอร์พีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยารีเซอร์พีนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับรักษาความดันโลหิตสูง:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 0.50 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 2 สัปดาห์โดยประมาณ จากนั้นแพทย์อาจค่อยๆปรับลดขนาดรับประทานลงมาเท่าที่ร่างกายจะตอบสนองต่อยาได้มากที่สุด ซึ่งขนาดที่คงการรักษาให้รับประทาน 0.10 - 0.25 มิลลิกรัม/วัน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 0.50 มิลลิกรัม/วัน
ข. สำหรับรักษาอาการทางจิตประสาท (Phychoses):
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 1 มิลลิกรัม/วัน
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารเพื่อลดอาการไม่สบายในกระเพาะอาหารและลำไส้
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กจะมีผลข้างเคียงค่อนข้างสูง ดังนั้นการใช้ยาจึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยารีเซอร์พีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยารีเซอร์พีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยารีเซอร์พีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
รีเซอร์พีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยารีเซอร์พีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่างๆ เช่น
- เกิดอาการคัดจมูก
- ปวดหัว
- รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหารและลำไส้
- ในหญิงผู้ใหญ่อาจมีน้ำนมไหลหรือมีภาวะนมคัด/เต้านมคัดตึง (Breast engorgement)
- เกิดภาวะเกลือโซเดียมในเลือดสูง
- อาจมีภาวะตัวบวมตามเนื้อตัว มือ เท้า
- ยานี้ยังทำให้เพิ่มหรือลดความอยากอาหารได้
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
- ปากคอแห้ง
- ปัสสาวะขัด
- ผื่นคันขึ้นตามร่างกาย
ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะมีอาการซึมเศร้า ง่วงนอนมากจนถึงขั้นโคม่าได้ ซึ่งหากพบอาการดังกล่าวหลังรับประทานยานี้ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันที
มีข้อควรระวังการใช้รีเซอร์พีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยารีเซอร์พีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มี แผลในกระเพาะอาหาร - ลำไส้ , ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า, ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน รวมถึงผู้ป่วยเนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิด ฟีโอโครโมไซโตมา(Pheochromocytoma)
- ยานี้อาจกระตุ้นให้เกิดการแพ้ยาได้
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร หากจำเป็นต้องใช้ยาควรเลี้ยงบุตรด้วยนมผงดัด แปลงที่ได้มาตรฐานแทน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรค หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยารีเซอร์พีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
รีเซอร์พีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยารีเซอร์พีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยารีเซอร์พีน ร่วมกับ ยาขับปัสสาวะ เช่นยา Thiazide หรือร่วมกับ ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง ชนิดอื่นๆ เช่นยา Propranolone สามารถก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยารีเซอร์พีน ร่วมกับ ยาต้านซึมเศร้าประเภท MAOI สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ยารีเซอร์พีน สามารถทำให้ร่างกายของผู้ป่วยตอบสนองต่อยารักษาโรคพาร์กินสัน เช่นยา Levodopa ได้ลดน้อยลง ดังนั้นการใช้ยาร่วมกันจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- การใช้ยารีเซอร์พีน ร่วมกับ ยาโรคหัวใจ เช่นยา Digitalis หรือ Quinidine อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษารีเซอร์พีนอย่างไร?
ควรเก็บยารีเซอร์พีน:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
รีเซอร์พีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยารีเซอร์พีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bedin (เบดิน) | Central Poly Trading |
Hydrares (ไฮดราเรส) | Central Poly Trading |
Mano-Ap-Es (มาโน-แอพ-เอส) | Lam Thong |
Reser (รีเซอร์) | T. O. Chemicals |
Reserpine Chew Brothers (รีเซอร์พีน จิว บราเดอร์ส) | Chew Brothers |
Reserpine-P (รีเซอร์พีน-พี) | P P Lab |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Reserpine [2020,Dec5]
2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2freserpine%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage [2020,Dec5]
3. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fReserpine%2520Chew%2520Brothers%2f [2020,Dec5]
4. http://www.drugs.com/pro/reserpine.html [2020,Dec5]
5. http://www.drugs.com/pro/reserpine.html#i4i_dosage_admin_id_6ed74108-c96b-4f92-8680-c315e7309032 [2020,Dec5]