ยาโรคหัวใจ หรือ ยารักษาโรคหัวใจ (Cardiac Medications)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 15 พฤษภาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- ยาโรคหัวใจคืออะไร?
- ยาโรคหัวใจแบ่งยาเป็นประเภทใดบ้าง?
- ยาโรคหัวใจมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?
- มีข้อบ่งใช้ยาโรคหัวใจอย่างอย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้ยาโรคหัวใจอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาโรคหัวใจอย่างไร?
- การใช้ยาโรคหัวใจในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาโรคหัวใจในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาโรคหัวใจในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาโรคหัวใจมีอะไรบ้าง?
- สรุป
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- หัวใจ: กายวิภาคหัวใจ (Heart anatomy) / สรีรวิทยาของหัวใจ (Heart physiology)
- ยาสลายลิ่มเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด (Fibrinolytic drugs or Thrombolytic drugs)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
- ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet drug)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน (Orthostatic hypotension)
ยาโรคหัวใจคืออะไร?
ยาโรคหัวใจ/ยารักษาโรคหัวใจ(Cardiac medication หรือ Heart medication หรือ Heart drug) คือ ยาใช้บรรเทาอาการแสดงต่างๆของโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย และ/หรือ บวมน้ำ
เนื่องจากโรคหัวใจ/โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคไม่หายขาด ผู้ป่วยมักต้องรับประทานยาโรคหัวใจตลอดชีวิตอย่างสม่ำเสมอ และต้องใช้ยาโรคหัวใจและ/หรือยาอื่นๆหลายชนิดร่วมกันเพื่อ ควบคุมอาการจากโรคหัวใจ, เพื่อให้หัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ, ชะลอการดำเนินไปตามธรรมชาติของโรคและความรุนแรงของโรคหัวใจฯ, ป้องกันอาการแทรกซ้อนจาก ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดสมอง/อัมพาต, เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย, ลดอัตราการเข้าโรงพยาบาล, และลดอัตราตายจากโรคหัวใจฯและจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจฯ
ยาโรคหัวใจแบ่งยาเป็นประเภทใดบ้าง?
ยาโรคหัวใจ/ยารักษาโรคหัวใจ แบ่งออกเป็นประเภท/กลุ่มต่างๆ ดังนี้
- ยาละลายลิ่มเลือด (Anticoagulants): เช่นยา ไรวาร็อกซาแบน (Rivaroxaban), ดาบิกาแทรน (Dabigatran), อะพิซาแบน (Apixaban), เฮพาริน (Heparin), วาร์ฟาริน(Warfarin)
- ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelets): เช่น แอสไพริน (Aspirin), โคลพิโดเกรล (Clopidogrel), ไดไพริดาโมล (Dipyridamole), ปราซูเกรล (Prasugrel), ทิก้ากรีลอ (Ticagrelor)
- ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์แองจิโอเทนซินคอนเวิทติ้ง (Angiotensin converting enzyme inhibitors ย่อว่า ACE inhibitors หรือ ACEIs): เช่นยา บีนาซีพริล (Benazepril), แคปโตพริล (Captopril), อีนาลาพริล (Enalapril), โฟซิโนพริล (Fosinopril), ไลซิโนพริล (Lisinopril), เพอรินโดพริล (Perindopril), ควินาพริล (Quinapril), รามิพริล (Ramipril)
- ยาที่ใช้ขัดขวางการจับของแอนจิโอเทนซินทูกับตัวรับ (Angiotensin II receptor blockers ย่อว่า ARBs): เช่นยา แคนดิซาร์แทน (Candesartan), อิโพรซาร์แทน (Eprosartan), เออร์บีซาร์แทน (Irbesartan), ลอซาร์แทน (Losartan), เทลมิซาร์แทน (Telmisartan), วาลซาร์แทน (Valsartan)
- ยาปิดกั้นการทำงานของตัวรับเบต้า (Beta blockers): เช่นยา อะซีบูโทลอล (Acebutolol), อะทีโนลอล (Atenolol), เบต้าโซลอล (Betaxolol), ไบโซโปรลอล (Bisoprolol), เมโทโพรลอล (Metoprolol), นาโดลอล (Nadolol), โพรพราโนลอล (Propranolol), โซทาลอล (Sotalol)
- ยาต้านแคลเซียม (Calcium channel blockers): เช่นยา แอมโลดิปีน (Amlodipine), ดิลไทอาเซม (Diltiazem), ฟิโลดิปีน (Felodipine), ไนเฟดิปีน (Nifedipine), ไนโมดิปีน (Nimodipine), ไนซอลดิปีน (Nisoldipine), เวอราปามิล (Verapamil)
- ยาลดไขมัน (Cholesterol-lowering medications): เช่นยา ซิมวาสแตติน (Simvastatin), อะโทรวาสแตติน (Atorvastatin), โรซูวาสแตติน (Rosuvastatin), โลวาสแตติน (Lovastatin)
- ยาดิจิทาลิส (Digitalis Preparations): เช่นยา ดิจ๊อกซิน (Digoxin)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics): เช่นยา อะมิโลไรด์ (Amiloride), บูมีทาไนด์ (Bumetanide), คลอโรไทอะไซด์ (Chlorothiazide), คลอธาลิโดน (Chlorthalidone), ฟูโรซีไมด์ (Furosemide), ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydro-chlorothiazide), อินดาพาไมด์ (Indapamide), สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone)
- ยาขยายหลอดเลือด (Vasodilators): เช่นยา ไอโซซอร์ไบด์ไดไนเตรต (Isosorbide dinitrate), ไฮดราลาซีน (Hydralazine), ไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerin), ไมน็อกซิดิล (Minoxidil), โซเดียมไนโตรพลัสไซด์ (Sodium nitroprusside)
ยาโรคหัวใจมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?
ยาโรคหัวใจมีรูปแบบจำหน่าย ดังนี้
- ยาเม็ด (Tablet)
- ยาน้ำใส (Solution)
- ยาอิลิกเซอร์ (Elixir)
- ยาอมใต้ลิ้น (Sublingual Tablet)
- สเปรย์พ่นใต้ลิ้น (Lingual Spray)
- แผ่นแปะผิวหนัง (Transdermal patch)
อนึ่ง: แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม
มีข้อบ่งใช้ยาโรคหัวใจอย่างอย่างไร?
มีข้อบ่งใช้ยาโรคหัวใจ เช่น
- บรรเทาอาการต่างๆจากภาวะหัวใจล้มเหลว
- บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก
- บรรเทาอาการหัวใจเต้นผิดปกติ
- ป้องกันการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
- ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหัวใจและในหลอดเลือด
- ป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดที่จะทำให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด และ/หรือในหัวใจ
- ลดความดันโลหิต
- ลดภาวะบวมน้ำ
มีข้อห้ามใช้ยาโรคหัวใจอย่างไร?
มีข้อห้ามใช้ยาโรคหัวใจ เช่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ
- ห้ามใช้ยากลุ่ม Anticoagulants และกลุ่ม Antiplatelets ในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออก เช่น เลือดแข็งตัวช้า ปริมาณเกล็ดเลือดต่ำ มีภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ และมีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร
- ห้ามใช้ยากลุ่ม Beta blockers ในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถบีบตัวได้ตามปกติ (Systolic dysfunction) ผู้ป่วยที่รับการรักษาอยู่ในห้องผู้ป่วยหนัก (Intensive care unit, ICU) ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหัวใจอย่างรุนแรง มีภาวะบวมน้ำ เป็นโรคหืด มีความดันโลหิตต่ำ และมีหัวใจเต้นช้าผิดปกติ
- ห้ามใช้ยา Digoxin ในกรณีที่หัวใจมีการคลายตัวผิดปกติ, หัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติ (Ventricular fibrillation, VF), หัวใจเต้นช้าผิดปกติ (AV block)
- ห้ามใช้ยาขับปัสสาวะในผู้ป่วยที่ มีความดันโลหิตต่ำ และมีภาวะขาดน้ำ (Hypovolemia)
มีข้อควรระวังการใช้ยาโรคหัวใจอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโรคหัวใจ เช่น
- การใช้ยาอมใต้ลิ้น ให้ผู้ป่วยอมยา 1 เม็ดไว้ใต้ลิ้น โดยปล่อยให้ยาละลายจนหมด ห้ามเคี้ยว ห้ามกลืนทั้งเม็ด ห้ามบ้วน หรือกลืนน้ำลาย นอกจากนี้ อาจอมยาเพื่อป้องกันการเกิดอาการทางโรคหัวใจ(ตามแพทย์แนะนำ)ประมาณ 5-10 นาที ก่อนประกอบกิจกรรมที่คาดว่าจะทำให้มีอาการทางโรคหัวใจ
- ยา Digoxin และ ยา Warfarin เป็นยาที่มีช่วง Therapeutic index แคบ (ขนาดของยาที่ให้ผลการรักษา และขนาดของยาที่ทำให้เกิดอันตราย/ผลข้างเคียงใกล้เคียงกัน) ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยาเหล่านี้อย่างเคร่งครัด หากลืมรับประทานยาเหล่านี้ภายใน 12 ชั่วโมงจากที่กำหนด ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ ถ้าเกิน 12 ชั่วโมงให้ข้ามยามื้อนั้นไป และรับประทานมื้อถัดไปตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา หากผู้ป่วยลืมรับประทานยามากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพราะอาจจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ยา
- ไม่ควรหยุดใช้ยากลุ่ม Beta blockers ทันทีหลังจากใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก จนอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างฉับพลันได้ ดังนั้นจึงควรค่อยๆลดขนาดยานี้ลงตามแพทย์แนะนำก่อนที่จะหยุดยานี้
- ยา Digoxin เป็นยาที่ถูกทำลายได้โดยแบคทีเรียในลำไส้ จึงควรระวังการรับประทานยานี้ร่วมกับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ เพราะยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ให้เหลือน้อยลง จึงอาจทำให้เกิดเพิ่มการสะสมยา Digoxin ในร่างกายจนอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
- ระวังการใช้ยากลุ่ม ACE Inhibitors และ ARBs ร่วมกับยา Spironolactone เพราะอาจทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงได้ และระวังการใช้ยา 2 กลุ่มดังกล่าวในผู้ป่วยที่การทำงานของไตบกพร่อง หรือมีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง
- ระวังการใช้ยาขยายหลอดเลือดร่วมกับยากลุ่ม Phosphodiesterase-5 (PDE-5) Inhibitors เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงมากเกินไป
การใช้ยาโรคหัวใจในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
หากผู้ป่วยโรคหัวใจ เกิดการตั้งครรภ์ก็ยังคงต้องใช้ยาโรคหัวใจเพื่อคุมอาการโรคหัวใจ และเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจที่อาจเกิดขึ้นต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ นอกจากนี้ ต้องดูประวัติยาเดิมที่ป่วยเคยได้รับ เพราะยาบางกลุ่มอาจทำให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ซึ่งห้ามใช้ในขณะที่ตั้งครรภ์ เช่น ยากลุ่ม ACE Inhibitors และยากลุ่ม ARBs
ยาโรคหัวใจที่ควรเลือกใช้ในหญิงตั้งครรภ์ คือ ยาที่มีการใช้กันมานานแล้ว เพราะจะมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากเพียงพอ เช่น ยากลุ่ม Beta blockers (ที่ควรเลือกใช้ เช่นยา Labetalol, Propanolol, Metoprolol), ยากลุ่ม Calcium channel blockers (ที่ควรเลือกใช้ เช่นยา Nifedipine, Verapamil) แต่หากจำเป็นต้องใช้ยากลุ่ม Anticoagulants ควรเลือกใช้ยา Heparin โดยตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Warfarin เพราะควบคุมระดับยานี้ในเลือดได้ยาก และเสี่ยงต่อการทำให้ทารกในครรภ์พิการ และ/หรือเกิดเลือดออกมากผิดปกติในทารกฯ และ/หรือในมารดาได้
การใช้ยาโรคหัวใจในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
โรคหัวใจเป็นโรคที่พบมากและมีความรุนแรงในผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่นๆ ยาโรคหัวใจที่เลือกใช้เป็นยาหลักในผู้สูงอายุ ได้แก่ ยากลุ่ม ACE Inhibitors และยากลุ่ม Beta blockers เช่นยา Carvedilol, Metoprolol, Bisoprolol โดยควรเริ่มจากขนาดยาน้อยๆ แล้วจึงค่อยปรับขนาดยาเพิ่มขึ้น เพื่อเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากยานั้นๆ ยาโรคหัวใจอื่นๆที่มีการใช้ในผู้ป่วยสูงอายุ เช่น ยากลุ่ม ARBs, Digoxin, Hydralazine, Isosorbide dinitrate และยาขับปัสสาวะ
นอกจากนี้ ควรระมัดระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยาโรคหัวใจ ซึ่งที่พบได้มากในผู้สูงอายุ คือ ภาวะความดันโลหิตตก/ต่ำเนื่องจากเปลี่ยนอิริยาบถอย่างฉับพลัน(ความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกยืน) ดังนั้น จึงควรแนะนำให้ผู้ป่วยลุกขึ้นจากเก้าอี้หรือจากเตียงช้าๆ เพราะอาจทำให้หน้ามืด/เป็นลมได้
การใช้ยาโรคหัวใจในเด็กควรเป็นอย่างไร?
เด็กมีโอกาสป่วยเป็นโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิดได้ โดยอาจตรวจพบได้ตั้งแต่แรกเกิดหรือหลังจากนั้น ผู้ปกครองต้องเข้าใจถึงพยาธิสภาพของโรค ดูแลการกินยาโรคหัวใจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เฝ้าระวังโรคแทรกซ้อน รวมทั้งพาผู้ป่วยเด็กไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
ยารักษาโรคหัวใจที่ใช้บ่อยในผู้ป่วยเด็ก เช่น Digoxin, ยาขยายหลอดเลือด (เช่นยา Sodium nitroprusside และ Nitroglycerin), ยากลุ่ม ACE Inhibitors (เช่นยา Captopril และ Enalapril), ยาอื่นๆที่ยังมีการศึกษาน้อยและมีข้อมูลการใช้ไม่เพียงพอในผู้ป่วยเด็ก ได้แก่ ยากลุ่ม Beta blockers และยากลุ่ม ARBs เป็นต้น
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาโรคหัวใจมีอะไรบ้าง?
อาการไม่พึงประสงค์(ผลไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จากการใช้ยาโรคหัวใจ เช่น
- ยากลุ่ม Anticoagulants และกลุ่ม Antiplatelets: เช่น อาจทำให้มีเลือดออกง่ายในอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เกิดภาวะเลือดออกมากผิดปกติ โดยมีจ้ำเลือด/ห้อเลือดใต้ผิวหนัง มีเลือดออกที่ตาขาว/เลือดออกใต้เยื่อตา อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด เลือดออกตามไรฟัน/เลือดออกที่เหงือก ประจำเดือนมามากผิดปกติ
- ยากลุ่ม ACE Inhitors: ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ ทำให้เกิดอาการไอแห้งๆ อาการอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตต่ำ การรับรสเปลี่ยนไป ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง
- ยากลุ่ม ARBs: มีอาการไม่พึงประสงค์เช่นเดียวกันกับยากลุ่ม ACE Inhibitors ยกเว้นไม่มีอาการไอแห้งๆ
- ยากลุ่ม Beta blockers: อาจทำให้เกิดภาวะความดันต่ำได้ โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยได้รับยานี้ครั้งแรก หรือมีการปรับขนาดยาเพิ่ม อาการอื่นๆ เช่น หัวใจเต้นช้า มึนงง เหนื่อยล้า อ่อนแรง ภาวะบวมน้ำ และน้ำตาลในเลือดสูง
- ยากลุ่ม Calcium channel blockers: อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ปวดศีรษะ บวมที่อวัยวะต่างๆ เช่น ข้อเท้าหรือเท้า การมองเห็นหรือการได้ยินเปลี่ยนแปลงไป
- ยา Digoxin: อาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เหนื่อยล้า มึนงง สับสน ปวดหัว บ้านหมุน การมองเห็นเปลี่ยนไป เช่น เห็นแสงวูบวาบ ภาพ/ตาพร่ามัว การมองภาพเห็นสีเปลี่ยนไป เช่นเห็นเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว เมื่อยล้า และกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ยาขับปัสสาวะ: อาจทำให้เกิดความผิดปกติของระดับเกลือแร่ ในร่างกาย (Electrolyte imbalance), ยา Furosemide อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูง เป็นพิษต่อหู โดยความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นถ้าใช้ร่วมกับยาที่มีโอกาสเกิดพิษต่อหูได้เช่นกัน คือ ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Aminoglycosides, นอกจากนี้ ยา Spironolactone อาจทำให้เกิดภาวะเต้านมโตในเพศชาย (Gynecomastia)
- ยาขยายหลอดเลือด: อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หน้าแดง หมดสติ ปวดหัว ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว อ่อนแรง
- ยาลดไขมัน: อาจทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ค่าน้ำตาลในเลือดสูง ตับอักเสบ(พบได้น้อย) สับสนและมีปัญหาด้านความจำ(พบได้น้อย)
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโรคหัวใจ) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- สุรีย์ เจียรณ์มงคล. ยาที่ใช้ในโรคหัวใจล้มเหลว. กรุงเทพมหานคร: คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, (อัดสำเนา)
- วรการ พรหมพันธุ์ และสมเกียรติ โสภณธรรมรักษ์ มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ. Supporting The Failing Heart. http://www.doctordek.com/index.php/ความรู้โรคหัวใจในเด็ก/เรื่องทั่วไปควรรู้/ 550-supporting-the-failing-heart404 [2022,May14]
- Saxena S. Drug Therapy of Cardiac Disease in Children. Indian Pediatrics 46. (April 2009):310–338
- Schaefer, C., Peters, P. and Miller, R. K. Drug During Pregnancy and Lactation, 2. USA: Elsevier, 2007
- https://www.heart.org/en/health-topics/heart-attack/treatment-of-a-heart-attack/cardiac-medications#.V-juYNSLTeg [2022,May14]
- https://www.medscape.com/viewarticle/460844_3 [2022,May14]
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-cholesterol/in-depth/statin-side-effects/art-20046013 [2022,May14]