ยาวาลซาร์แทน (Valsartan)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาวาลซาร์แทน (Valsartan) เป็นยารักษาภาวะความดันโลหิตสูง/ ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง จัดอยู่ในกลุ่ม แองจิโอ เทนซิน 2 รีเซพเตอร์ บล็อกเกอร์ (Angiotensin II receptor blocker/ Angiotension II receptor antagonist: ARB) โดยยาในกลุ่มนี้ มีผลปิดกั้นตัวรับแองจิโอเทนซิน 2 (Angiotensin II receptor) จึงมีผลทำให้หลอดเลือดขยายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอดเลือดแดงที่ไต แต่มีผลน้อยต่อหลอดเลือดแดงที่สมอง ปอด และกล้ามเนื้อลาย ซึ่งทำให้มีผลรวมแรงต้านภายในหลอดเลือด (Total peripheral resistance ) ลดลง ความดันโลหิตจึงมีค่าลดลง

นอกจากนี้ยาวาลซาร์แทน ยังสามารถลดการหลั่งสารอัลโดสเตอโรน (Aldersterone) จากต่อมหมวกไต ซึ่งฮอร์โมนนี้ส่งผลทำให้ลดการขับแร่ธาตุโพแทสเซียม เพิ่มการขับแร่ธาตุโซเดียม และน้ำออกจากร่างกาย ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง แต่ยานี้ไม่มีผลต่อ แบรดดีไคนิน (Bradykinin: สารช่วยขยายหลอดเลือด) ดังนั้นยาในกลุ่มนี้จึงไม่มีผลข้างเคียงจากแบรดดีไคนิน คือ อาการไอแห้ง บวมชนิดแองจิโอเอดดิมา (Angioedema: การบวมที่เกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือด)

ทั้งนี้ แพทย์สามารถเลือกใช้ยาวาลซาร์แทน เป็นยาชนิดเดี่ยวในการรักษา หรือใช้ควบคู่กับยารักษาความดันโลหิตสูงชนิดอื่น เพื่อรักษาภาวะความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยที่ไม่ทราบสา เหตุชัดเจน (Primary/Essential Hypertension) ได้

นอกจากนี้ยาวาลซาร์แทนยังช่วยลดอัตราการตายในผู้ป่วยที่มีภาวะหลังกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายขาดเลือด (Left Ventricular dysfunction postmyocardial infarction) และใช้ในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) ได้

ยาวาลซาร์แทนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาวาลซาร์แทน

ยาวาวซาแทนมีข้อบ่งใช้/สรรพคุณ เช่น

  • รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
  • รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)
  • รักษาภาวะหลังกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายขาดเลือด (Left Ventricular dysfunction post myocardial infarction) (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย)

ยาวาลซาร์แทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาวาวซาแทนมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะปิดกั้นตัวรับแองจิโอเทนซิน 2 รีเซพเตอร์ (Angiotensin II receptor blocker/ Angiosentin II receptor antagonist: ARB) ซึ่งตัวรับชนิดดังกล่าวมีผลต่อหลอดเลือดแดง โดยทำให้หลอดเลือดแดงหดตัว ซึ่งส่งผลทำให้ผลรวมแรงต้านภายในหลอดเลือดเพิ่มสูง ขึ้น ความดันโลหิตจึงสูงขึ้น และส่งผลเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอัลโดสเตอโรน (Aldosterone) จากต่อมหมวกไต โดยฮอร์โมนดังกล่าวมีผลเพิ่มการขับโพแทสเซียมออกทางปัสสาวะ, การดูดกลับโซเดียมและน้ำเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบยาในกลุ่มนี้ คู่กับยาในกลุ่ม Angiotensin-converting enzyme inhibitors (ACE inhibitors: ยาลดความดันโลหิตโดยช่วยทำให้ผนังหลอดเลือดหย่อน) เช่น Captopril, Enalapril, lisinopril, Perindopril, Ramipril, Moexipril ซึ่งยาทั้งสองกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ต่อ Renin angiotensin system/ระบบฮอร์โมน Renin จากไตที่ช่วยคงความดันโลหิตโดยการควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือแร่ที่จะปล่อยออกทางปัสสาวะ (RAS blocking agents)

ยาในกลุ่ม ARB ซึ่งรวมยาวาลซาร์แทนด้วย ไม่มีกลไกเกี่ยวข้องกับสารแบรดดีไคนิน (Bradykinin) ดังนั้นยาในกลุ่มนี้จึงไม่มีผลข้างเคียงจากแบรดดีไคนิน คือ อาการไอแห้ง บวมชนิดแองจิโอเอดดิมา (Angioedema) แพทย์จึงอาจเปลี่ยนแปลงการใช้ยาในผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่ม ACE inhibitors แล้วมีผลข้างเคียงจากยามาเป็นยาในกลุ่ม ARB ได้

ยาวาลซาร์แทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาวาลซาร์แทน:

  • ยาเม็ดขนาด 80, 160, และ 320 มิลลิกรัม
  • นอกจากนี้ยังมียาสูตรผสมระหว่างยาวาลซาร์แทนกับยาลดความดันโลหิตสูงชนิดอื่นๆจำหน่ายเช่นกัน ซึ่งจะไม่ขอกล่าวในบทความนี้

ยาวาลซาร์แทนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาวาลซาร์แทนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น

  • สามารถรับประทานยาวาลซาร์แทนได้ทั้งก่อนหรือหลังอาหาร โดยอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยา
  • ขนาดยาวาลซาร์แทนสำหรับความดันโลหิตสูง: คือ 80 มิลลิกรัม หรือ 160 มิลลิ กรัม วันละ 1 ครั้ง โดยจะเห็นผลในการลดความดันภายใน 2 สัปดาห์หลังใช้ยา และยาจะออกฤทธิ์สูงสุดหลังให้ยาประมาณ 4 สัปดาห์ สามารถเพิ่มขนาดยาเป็น 320 มิลลิกรัมต่อวันได้ หรือเพิ่มยาขับปัสสาวะร่วมด้วยได้ในกรณีที่ควบคุมความดันโลหิตไม่ได้
  • ขนาดยาวาล์ซาร์แทนสำหรับภาวะหัวใจล้มเหลว: อาจเริ่มด้วยขนาด 40 มิลลิ กรัม วันละ 2 ครั้ง โดยอาจเพิ่มขนาดยาสูงสุดเป็น 80 มิลลิกรัม หรือ 160 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง (ขนาดยาสูงสุดต่อวันไม่เกิน 320 มิลลิกรัม) โดยจำเป็นต้องประเมินผลการทำงานของไตร่วมด้วยก่อนและระหว่างใช้ยา
  • การรักษาภาวะหลังกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด: โดยเริ่มรักษาได้ภายใน 12 ชั่ว โมงหลังการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยเริ่มต้นที่ขนาดยา 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง และเพิ่มสูงสุด 160 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง สามารถใช้ยาวาลซาร์แทนคู่กับยาสลายลิ่มเลือดได้

*อนึ่ง:

  • ขนาดยานี้ที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น เป็นขนาดยาในผู้ใหญ่ กรณีผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาวาร์ซาลแทน แต่ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในรายที่มีภาวะการทำงานของไตบกพร่องรุนแรง [ค่าการทำงานของไต (GFR: Glomerular infiltration rate) น้อยกว่า 10 มิลลิลิตร/นาที] เนื่องจากข้อมูลยังมีไม่เพียงพอ
  • กรณีผู้ป่วยเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก):
    • อายุ 6 - 16 ปี : มีข้อบ่งใช้เฉพาะในภาวะความดันโลหิตสูง โดยขนาดยาแนะนำคือ เริ่มต้น 1.3 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละครั้ง ขนาดยาสูงสุดต่อวัน คือไม่เกิน 40 มิลลิกรัม อาจเพิ่มขนาดยาเป็นมากกว่า 2.7 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม กรณีต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของยา โดยขนาดยาสูงสุดกรณีเพิ่มขนาดยาไม่เกิน คือ 160 มิลลิกรัม แต่ขนาดยานี้ยังไม่มีผลการศึกษายืนยัน
    • กรณีอายุต่ำกว่า 6 ปี การใช้ยานี้ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาวาลซาร์แทน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด รวมทั้งเคยแพ้ยาวาลซาร์แทนหรือไม่
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาวาลซาร์แทน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาต่างๆรวมทั้งยาวาลซาร์แทน สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาที่นึกขึ้นได้ใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ให้รับประทานยามื้อนั้นในขนาดปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาวาลซาร์แทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา หรือผลข้างเคียง(อาการข้างเคียง)ของยาวาลซาร์แทน เช่น

  • อาการปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • มึนงง (Dizziness)
  • ค่าการทำงานของไตลดลง
  • อาการบวม (Angioedema)
  • ขึ้นผื่น คัน

มีข้อควรระวังการใช้ยาวาลซาร์แทนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาวาลซาร์แทน ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ใน หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ปรึกษาและพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที ที่เมื่อกินยานี้แล้วมีอาการ ซึม คลื่นไส้-อาเจียน เกิดขึ้นรวมไปถึงมีอาการบวมของใบหน้า ริมฝีปาก ลำคอ (หลอดลม กล่องเสียงและสายเสียง: แน่น หายใจลำบาก เสียงแหบ) ที่อาจก่อให้เกิดการอุดตันของทางเดินหายใจ
  • ยานี้อาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้ จึงควรระมัดระวังการใช้ยา โดยใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
  • ยานี้สามารถทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงได้ (อาการเช่น อ่อนเพลีย หัวใจเต้นผิดปกติ)
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาวาลซาร์แทน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาวาลซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาวาลซาร์แทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การให้ยาวาลซาร์แทนคู่กับยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่นยา ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen ), ยาเอนโดเมททาซิน (Indomethasin), รวมถึงยากลุ่ม Selective COX-2 inhibitors (เช่น Celecoxib) อาจทำให้ฤทธิ์ของยาลดความดันโลหิตสูงลดลง รวมถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการทำให้ไตมีการทำงานผิดปกติมากขึ้น จึงแนะนำให้ตรวจภาวะการทำงานของไต โดยติดตามค่าการทำงานของไตอย่างใกล้ชิด กรณีผู้ป่วยกำลังได้รับยาทั้งสองชนิดร่วมกันอยู่

ควรเก็บรักษายาวาลซาร์แทนอย่างไร?

ควรเก็บยาวาลซาร์แทน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
  • ไม่เก็บยาในที่ร้อน ถูกแสง/แสงแดด ความชื้น
  • ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุเดิม
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาวาลซาร์แทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาวาลซาร์แทน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Diovan (ดีโอแวน) Novartis
Valatan (วาลาแทน) Silom medica

บรรณานุกรม

1. ณัฐวุธ สิบหมู่ และคณะ. เภสัชวิทยา: เนื้อหาสำคัญและแบบฝึกหัด. กรุงเทพฯ: บริษัท โฮลิสติก พับลิชชิ่ง จำกัด; 2552

2. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2011-12.

3. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013

4. Novartis Pharma AG. International Package Leaflet (Diovan). Switzerland; 2012.