ซาลิไซลาไมด์ (Salicylamide)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

 ซาลิไซลาไมด์ (Salicylamide) จัดเป็นยาประเภทยาแก้ปวด - ยาลดไข้ หากจะมองภาพ รวมในหลายประเทศได้กำหนดให้ยาซาลิไซลาไมด์จำหน่ายให้กับผู้บริโภคได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ อีกทั้งหาซื้อได้ตามร้านขายยาโดยทั่วไป หลายสูตรตำรับที่ผลิตออกมาจะมีการนำยาซาลิไซลาไมด์มาผสมร่วมกับตัวยาอื่น เช่น แอสไพริน (Aspirin), กาเฟอีน/คาเฟอีน, พาราเซตามอล (Paracetamol), ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine), และอื่นๆ, โดยระบุสรรพคุณบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ข้ออักเสบ เป็นไข้จากโรคหวัด รวมถึงอาการปวดประจำเดือน

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานทั้งชนิดเม็ด แคปซูล ชนิดน้ำ และยาทาเฉพาะที่ โดยจะเป็นลักษณะของยาผสม ไม่ค่อยพบสูตรตำรับในลักษณะของยาเดี่ยว

ทั้งนี้มีข้อควรระวังบางประการเกี่ยวกับยานี้ เช่น      

  • ห้ามใช้ลดไข้ในเด็กที่ป่วยด้วยโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคอีสุกอีใส ก่อนที่จะมีการปรึกษาแพทย์ ด้วยสูตรตำรับยามักมียาอื่นที่สามารถส่งผลกระทบต่ออาการโรคดังกล่าวได้โดยตรง
  • ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบทั้งนี้มีเหตุผลมาจากตัวยาซาลิไซลาไมด์สามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ได้เช่น มีเลือดออกในทางเดินอาหาร อาจเกิดผลกระทบต่อการทำงานต่อหัวใจ
  • การใช้ยานี้กับผู้ที่มี โรคเกาต์  โรคเบาหวาน หรือผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกง่าย อาจทำให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น

 ประการสำคัญในการใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ และโดยปกติเมื่อใช้ยานี้ไปแล้ว 3 วันอาการป่วยยังไม่ทุเลาหรือเป็นรุนแรงมากขึ้น ควรต้องหยุดการใช้ยานี้แล้วกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา และเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงต่างๆของการใช้ยานี้ ผู้บริโภคควรขอคำปรึกษาการใช้ยาจากแพทย์หรือจากเภสัชกรก่อนการใช้ยานี้ทุกครั้ง

ซาลิไซลาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ซาลิไซลาไมด์

ยาซาลิไซลาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ใช้เป็น ยาแก้ปวด ยาลดไข้

ซาลิไซลาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซาลิไซลาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์คือ ยาซาลิไซลาไมด์เป็นอนุพันธุ์ของกรดซาลิไซลิก(Salicylic acid) ชนิดที่ไม่ได้เปลี่ยนรูปไปเป็นซาลิไซเลต (Salicylate) ตัวยาจะออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็วหลังดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย โดยจะทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด และออกฤทธิ์กดการทำงานของสมอง จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ซาลิไซลาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซาลิไซลาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:   

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Phenylephrine HCl/Hydrochloride 10 มิลลิ กรัม + Clemizole HCl/ยาแก้แพ้ 20 มิลลิกรัม + Salicylamide 150 มิลลิกรัม + Paracetamol 200 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำเชื่อมชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Paracetamol 65 มิลลิกรัม + Salicyla mide 75 มิลลิกรัม + Chlorpheniramine maleate 1 มิลลิกรัม + Phenylephrine HCl 5 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

ซาลิไซลาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

 ขนาดรับประทานของยาซาลิไซลาไมด์จะขึ้นอยู่กับแต่ละสูตรตำรับยาซึ่งมียาอื่นผสมอยู่ ประกอบกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นสำคัญ ทั้งนี้ต้องนำข้อมูลทางสุขภาพของผู้ป่วยมาพิจารณาด้วยเช่น โรคประจำตัว อายุ น้ำหนักตัว

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซาลิไซลาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น       

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยา แล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซาลิไซลาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

 เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาซาลิไซลาไมด์ให้ตรงเวลา หากลืมรับ ประทานยานี้สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

ซาลิไซลาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาซาลิไซลาไมด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • รู้สึกระคายเคืองในกระเพาะอาหาร
  • ปวดท้องเล็กน้อยจนถึงขั้นรุนแรง
  • คลื่นไส้
  • วิงเวียน
  • ง่วงนอน
  • ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการผื่นคันทางผิวหนัง
  • อุจจาระเป็นเลือด
  • อาเจียน
  • ปัสสาวะน้อยลง
  • ได้ยินเสียงแว่ว(ประสาทหลอน) หรือสูญเสียการได้ยิน

*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: อาจพบภาวะตับ-ไตมีความเสียหายเกิดขึ้นได้

มีข้อควรระวังการใช้ซาลิไซลาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซาลิไซลาไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยด้วย การแพ้ยาแอสไพริน-กลุ่มอาการราย (Reye’s syndrome)
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)และกับผู้สูงอายุที่มีภาวะนอนไม่หลับ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก โรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (แผลเปบติค) โรคหัวใจ หรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคตับ โรคไต
  • หากพบอาการแพ้ยาหลังใช้ยานี้ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรง พยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • กรณีใช้ยานี้ 3 วันแล้วไข้ยังไม่ลด หรือใช้ยาไป 10 วันแล้วอาการปวดยังไม่ดีขึ้น ให้หยุดการใช้ยานี้แล้วมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซาลิไซลาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ซาลิไซลาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซาลิไซลาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาซาลิไซลาไมด์ ร่วมกับยา Hydrocortisone อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงอย่างมาก มายติดตามมา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันและเพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงดังกล่าวของยาซาลิไซลาไมด์ แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาซาลิไซลาไมด์ ร่วมกับ ยาลดความดัน เช่นยา Quinapril อาจทำให้ฤทธิ์ของยาลดความดันฯ ด้อยประสิทธิภาพลงรวมถึงทำให้ไตทำงานผิดปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าว แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาซาลิไซลาไมด์ ร่วมกับยาเบาหวาน เช่นยา Glimepiride อาจส่งผลเพิ่มฤทธิ์ ของการลดน้ำตาลในเลือดจนทำให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดอาการปวดหัว   วิงเวียน ง่วงนอน คลื่นไส้ หิวอาหาร ตัวสั่น อ่อนเพลีย เหงื่อออกมาก และใจสั่นติดตามมา กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • ห้ามรับประทานยาซาลิไซลาไมด์ ร่วมกับ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร อุจจาระมีสีดำคล้ำ อาเจียนเป็นเลือด รวมถึงไอเป็นเลือด

ควรเก็บรักษาซาลิไซลาไมด์อย่างไร?

 ควรเก็บยาซาลิไซลาไมด์: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ซาลิไซลาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซาลิไซลาไมด์  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Apracur (อะปราเคอร์) Apracure
Fecol (เฟคอล) Nakornpatana
Painol (ไพนอล) The Forty-Two

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Salicylamide  [2022,Jan22]
  2. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=Salicylamide  [2022,Jan22]
  3. https://go.drugbank.com/drugs/DB08797  [2022,Jan22]
  4. https://www.drugs.com/ingredient/salicylamide.html   [2022,Jan22]
  5. https://www.rxwiki.com/salicylamide   [2022,Jan22]
  6. https://www.drugs.com/cdi/acetaminophen-caffeine-salicylamide.html  [2022,Jan22]
  7. https://www.medicinenet.com/salicylamideacetaminophenphenyltoloxamine_capsul/article.htm  [2022,Jan22]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/acetaminophen-aspirin-caffeine-salicylamide-index.html?filter=2&generic_only=#G  [2022,Jan22]