ยาฆ่าปลวก (Termiticides)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 กรกฎาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ยาฆ่าปลวกมีกี่ประเภท อะไรบ้าง?
- กลไกการออกฤทธิ์ของยาฆ่าปลวกมีอะไรบ้าง?
- ผลกระทบของการใช้ยาฆ่าปลวกมีอะไรบ้าง?
- ใช้ยาฆ่าปลวกอย่างปลอดภัยทำอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาฆ่าปลวกอย่างไร?
- มีวิธีการปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับพิษจากยาฆ่าปลวกอย่างไรบ้าง?
- มีวิธีการป้องกันปลวกโดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าปลวกได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาฆ่าหญ้า
- ยาฆ่าแมลง
- ยากำจัดวัชพืช
บทนำ
ปลวก เป็นแมลงที่มีสังคมอยู่กันเป็นหมู่คณะคล้าย มด และ ผึ้ง นักวิทยาศาสตร์พบว่า ปลวกกำเนิดมาตั้งแต่ช่วงจูลาสสิก (Jurassic) พอๆกับแมลงสาบเลยทีเดียว วงจรชีวิตของปลวกเป็นไปตามแผนภูมิดังข้างล่างนี้
ปลวก ที่เราพบเห็นจะมีทั้งการสร้างรังในดินและในกองไม้ ความเข้าใจวงจรชีวิตของมันสามารถทำให้มนุษย์คิดค้นวิธีกำจัดปลวกไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพหรือใช้สารเคมี อย่าง ‘ยาฆ่าปลวก หรือ ยากำจัดปลวก หรือ สารกำจัดปลวก(Termiticides)’
ยาฆ่าปลวกมีกี่ประเภท อะไรบ้าง?
ประเภทของยากำจัดปลวก/ยาฆ่าปลวกสามารถแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. Repellent termiticides: เป็นยาฆ่าปลวกที่ต้องอาศัยการสัมผัสกับตัวปลวกและทำให้ปลวกตายลงโดยตรง
2. Non-repellent termiticides: เป็นยาฆ่าปลวกที่มีลักษณะการออกฤทธิ์แบบลูกโซ่ โดยพวกปลวกจะนำพายาฆ่าปลวกที่มนุษย์โรยไว้กลับไปที่รัง และทำให้ปลวกตายทั้งรัง นักวิชาการบางกลุ่มกล่าวว่ายาฆ่าปลวกประเภทนี้ก่อให้เกิดฤทธิ์ตกค้างน้อยกว่ากลุ่ม Repellent termiticides
สำหรับยาฆ่าปลวกที่พบเห็นการใช้บ่อยๆในท้องตลาดมีดังนี้
- ไซเพอร์เมทริน(Cypermethrin): เป็นสารอินทรีย์สังเคราะห์ประเภทไพรีทอยด์ (Synthetic pyrethroid) นำมาใช้ฆ่าและไล่แมลงที่เป็นศัตรูพืช โดยมีกลไกออกฤทธิ์ทำลายเซลล์ประสาทของแมลงอย่างรวดเร็ว กรณีนำมาทาหรือฉีดหรือพ่นตาม บานประตู วงกบไม้ ตามบ้าน จะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าสารนี้จะสลายตัว ปัจจุบัน แมลงหลายชนิดสามารถพัฒนาตัวมันให้ทนต่อไซเพอร์เมทรินได้แล้ว
- ไบเฟนทริน(Bifenthrin): เป็นยาฆ่าแมลงที่รวมถึงปลวก ประเภทไพรีทรอยด์ ในช่วงแรก มนุษย์ใช้ไบเฟนทรินสำหรับทำลายมดแดงไฟ ไบเฟนทรินเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำได้น้อย ดังนั้นการปนเปื้อนลงในดินอาจใช้ระยะเวลาในการสลายตัว 7 วัน–8 เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับส่วนประกอบของดินแต่ละแห่ง และสารไบเฟนทรินยังสามารถทำอันตรายต่อระบบประสาทของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้เช่นเดียวกัน
- เฟนิโทรไทออน(Fenitrothion): เป็นยาฆ่าแมลง/ฆ่าปลวกกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต(Organophosphate) มีราคาถูกและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก ยาฆ่า แมลงชนิดนี้สามารถส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของกล้ามเนื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและในหมู่สัตว์ปีก
- เพอร์เมทริน (Permethrin): เป็นสารประกอบประเภทไพรีทรอย(Pyrethroid) นำมาใช้เป็นทั้งยารักษาการติดเชื้อหิด-เหาในมนุษย์ และใช้เป็นยากำจัดแมลง/ยาฆ่าแมลง อย่างปลวกได้ด้วย
- เฟนวาเลอเรท(Fenvalerate): เป็นยาฆ่าแมลง/ฆ่าปลวกที่มีพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในระดับกลางๆ และยังเป็นพิษกับปลา รวมถึงแมลงเศรษฐกิจอย่างผึ้ง
- อิมิดาโคลพริด(Imidacloprid): เป็นยาในกลุ่ม นีโอนิโคตินอย(Neonicotinoids) ออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาทของแมลง/ปลวก ถูกนำมาฆ่าแมลงในแปลงเกษตร และใช้กำจัดปลวกตามบ้านเรือน อิมิดาโคลพริดมีความเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และผึ้ง เป็นผลให้สหภาพยุโรปต่อต้านและยกเลิกการใช้ยาฆ่าแมลงชนิดนี้ในปี ค.ศ.2018 (พ.ศ.2561)
- ฟิโปรนิล (Fipronil): มีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทของแมลง/ปลวก มีความเป็นพิษกับ ผึ้ง กระต่าย ปลา และแพลงตอนสัตว์ กรณีปนเปื้อนลงดินจะต้องใช้เวลานาน 4 เดือน–1 ปี เพื่อการสลายตัว
กลไกการออกฤทธิ์ของยาฆ่าปลวกมีอะไรบ้าง?
ยาฆ่าปลวก มีกลไกการออกฤทธิ์ที่เหมือนและต่างกันออกไปตามโครงสร้างทางเคมี ดังนี้
1. สร้างความเป็นพิษต่อระบบประสาทของปลวก โดยรบกวนการขนส่งเกลือโซเดียมในเซลล์ประสาทของปลวก(Interfering with sodium channel gating) ทำให้ปลวกสูญเสียความสามารถในการควบคุมร่างกาย ตัวอย่างของยาฆ่าปลวกประเภทนี้ เช่น Bifenthrin, Cypermethrin และ Permethrin
2. ทำลายระบบการส่งกระแสประสาทโดยแสดงฤทธิ์ในลักษณะ Cholinesterase inhibitor ตัวอย่างยาฆ่าปลวกในกลุ่มนี้ ได้แก่ Fenitrothion และ Fenvalerate
3. รบกวนการส่งกระแสสัญญาณในตัวแมลง/ปลวก โดยมีการออกฤทธิ์บริเวณ Post-synaptic nicotinic acetylcholine receptor เป็นผลให้ระบบประสาทของแมลงล้มเหลว ตัวอย่างยาฆ่าปลวกกลุ่มนี้ ได้แก่ Imidacloprid
4. ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทของแมลง/ปลวกในลักษณะยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทประเภท Gamma-aminobutyric acid หรือจะเรียกว่าเป็น GABA inhibitors ส่งผลให้แมลง/ปลวกตายได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างยาฆ่าปลวกกลุ่มนี้ ได้แก่ Fipronil
ผลกระทบของการใช้ยาฆ่าปลวกมีอะไรบ้าง?
ยาฆ่าปลวก ที่มีใช้ในปัจจุบันจะมีระยะเวลาของความคงตัวในสภาพแวดล้อมได้ยาวนานไม่เท่ากัน อาจสรุปผลกระทบ/ความเป็นพิษจากการใช้ยาฆ่าปลวกอย่างขาดความเข้าใจ หรือด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมดังนี้ เช่น
1. กรณีดูดซึมหรือสูดดมยาฆ่าปลวกเป็นเวลายาวนานต่อเนื่อง สามารถทำให้ตับอ่อน และตับของมนุษย์ทำงานผิดปกติ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงกับอวัยวะต่างๆในร่างกายจนพัฒนาเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว(Leukemia) กรณีตั้งครรภ์จะทำให้มีภาวะ แท้งคุกคาม หรือก่อให้เกิดสภาพความเป็นหมันในบุรุษ ผู้ที่ได้รับพิษจากยาฆ่าปลวก อาจแสดงอาการต่างๆเช่น ปวดศีรษะ ปวดปลายประสาท หอบหืด หรือเกิดผื่นคันตามร่างกาย
2. กรณีเด็กเล็กที่วิ่งหรือคลานบนสนามหญ้าที่มียาฆ่าปลวกปนเปื้อน มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับพิษ ด้วยร่างกายเด็กเล็กมีระบบการเผาผลาญที่เร็วกว่าในผู้ใหญ่และมีผิว ที่บอบบาง จึงทำให้มีการดูดซึมและเกิดปฏิกิริยาต่างๆในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การวิเคราะห์อาการป่วยของเด็กที่ได้รับพิษจากยาฆ่าปลวก อาจต้องใช้ เวลาในการสืบค้นเพื่อหาสาเหตุ การช่วยเหลือ ต้องรีบนำเด็กมาพบแพทย์ที่สถานพยาบาลทันที
3. การปนเปื้อนใน ดิน น้ำ อากาศ ของยาฆ่าปลวกหลายตัว จะส่งผลให้เกิดมลภาวะและเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ เช่น ผึ้ง ผีเสื้อ ไส้เดือน นก ตลอดจนกระทั่งแพลงตอนสัตว์(Zooplankton, สัตว์น้ำตัวเล็กๆที่เป็นอาหารสัตว์น้ำขนาดเล็ก)ที่อาศัยอยู่ในน้ำ
ใช้ยาฆ่าปลวกอย่างปลอดภัยทำอย่างไร?
ยาฆ่าปลวก เป็นกลุ่มยาฆ่าแมลง ที่ต้องอาศัยความเข้าใจในเคมีภัณฑ์ที่มีฤทธิ์กำจัดปลวกที่เข้ามารุกรานพื้นที่ภายในบ้าน หรือในคลังจัดเก็บสินค้าของบริษัท ห้างร้าน โรงงานต่างๆ การใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญหรือบริษัทกำจัดปลวกเป็นหนึ่งทางเลือกที่นิยมใช้ในปัจจุบัน กรณีต้องกำจัดปลวกในพื้นที่บ้านด้วยตนเอง สามารถใช้ขั้นตอนดังต่อไปนี้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ อาทิ
1. อ่านคู่มือการใช้ยาฆ่าปลวกโดยละเอียด ศึกษาวิธีการเตรียมยาฆ่าปลวกในสัดส่วนที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อ ผู้ใช้งาน ผู้บริโภค และต่อสภาพแวดล้อม ห้ามผสม ยาฆ่าปลวกที่มีคุณสมบัติต่างกัน หรือเป็นยาฆ่าแมลงคนละกลุ่ม เพื่อนำมาใช้ฆ่าปลวกในครั้งเดียว
2. ศึกษาวิธีปฐมพยาบาลของยาฆ่าปลวกชนิดนั้นๆจนเข้าใจ และสามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้จริง
3. ใช้อุปกรณ์การฉีดพ่นที่มีมาตรฐาน ห้ามใช้อุปกรณ์การปรุงอาหารไม่ว่าจะเป็น ของมนุษย์ หรือของสัตว์มาประยุกต์ใช้กับยาฆ่าปลวก
4. สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น แว่นป้องกันสารเคมีเข้าตา หน้ากากกรองสารพิษ หมวกคลุมผม ชุดเสื้อผ้าที่ป้องกันการซึมผ่านของสารเคมีมาสัมผัสผิวหนัง ถุงมือ รองเท้าที่ปกคลุมเท้าอย่างมิดชิด
5. ไม่ดื่ม กินอาหาร สูบบุหรี่ เคี้ยวหมากฝรั่ง ขณะฉีดพ่นยาฆ่าปลวก
6. ดูแลมิให้บุคคลและสัตว์เข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่ต้องพ่นยาฆ่าปลวก
7. ไม่ใช้ยาฆ่าปลวกที่หมดอายุแล้ว ต้องใช้ยาฆ่าปลวกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเท่านั้น
8. ขณะฉีดพ่นยาฆ่าปลวกต้องระวังมิให้ไปปนเปื้อนพืชผักสวนครัวใกล้บ้าน
9. อาบน้ำชำระร่างกาย ฟอกสบู่ สระผมหลังปฏิบัติงานกับยาฆ่าปลวก ไม่ล้าง อุปกรณ์การฉีดพ่นยาฆ่าปลวกลงในแม่น้ำ คูคลองตามธรรมชาติ
10. หากพบอาการ คลื่นไส้ วิงเวียน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่น ลมพิษ ขึ้นตามร่างกายหลังใช้ยาฆ่าปลวก ให้รีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
ควรเก็บรักษายาฆ่าปลวกอย่างไร?
ควรเก็บยาฆ่าปลวกในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด และความร้อน สามารถเก็บยาฆ่าปลวกภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น และควรอยู่ในสถานที่ที่ระบายอากาศได้ดี เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ห้ามเก็บปะปนกับอาหารของมนุษย์หรืออาหารสัตว์ ห้ามทิ้งยาฆ่าปลวกลงแม่น้ำหรือคูคลองตามธรรมชาติ หรือทิ้งลงพื้นดินโดยตรง
มีวิธีการปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับพิษจากยาฆ่าปลวกอย่างไรบ้าง?
มีวิธีขั้นตอนการปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับพิษจากยาฆ่าปลวกดังนี้ เช่น
- นำผู้ป่วยออกจากพื้นที่ที่มีการฉีดพ่นยาฆ่าปลวกโดยเร็ว
- กรณีผู้ป่วยหมดสติ ให้ตรวจสอบสภาพภายในปากมิให้มี อาหาร น้ำลาย วัตถุต่างๆ เช่น ฟันปลอมอุดหรือปิดกั้นทางเดินหายใจ สามารถใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความ สะอาดภายในปากผู้ป่วย ตรวจสอบว่าผู้ป่วยยังหายใจได้ดีหรือไม่ การทำ CPR หรือ Cardiopulmonary resuscitation/การกู้ชีวิต ผู้ปฏิบัติควรต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี และต้องรีบนำตัวผู้ป่วยที่หมดสติส่งโรงพยาบาลทันที ไม่ควรรอดูอาการ
- หลีกเลี่ยงการทำให้ผู้ป่วยอาเจียนโดยไม่ทราบว่าผู้ป่วยได้รับพิษจากการสูดดมหรือการรับประทาน เพราะผู้ป่วยอาจสำลักอาเจียนเข้าปอดได้
- กรณียาฆ่าปลวกเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดอย่างต่อเนื่อง อาจต้องใช้เวลานานเกิน 15 นาทีเพื่อให้แน่ใจว่ายาฆ่าปลวกไม่หลงเหลือในตา ควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลหลังจากนั้นเพื่อแพทย์ประเมินอาการของตา
- กรณียาฆ่าปลวกสัมผัสผิวหนัง ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนยาฆ่าปลวกออก ล้างทำความสะอาดร่างกายโดยใช้น้ำและสบู่ฟอก เพื่อลดปริมาณยาฆ่าแมลง/ยาฆ่าปลวกออกไปให้มากที่สุด
มีวิธีการป้องกันปลวกโดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าปลวกได้อย่างไร?
วิธีการง่ายๆที่ได้รับการถ่ายทอดกันมายาวนานและใช้ได้โดยเกิดผลดีไม่ว่าจะเป็นการป้องกันปลวกเข้าบ้าน ลดการปนเปื้อนจากยาฆ่าปลวก หรือแม้แต่เพิ่มความสบายใจต่อผู้ที่ชอบรักษาศีลห้าที่พอจะแบ่งปันเพื่อนำไปปฏิบัติมีดังนี้ เช่น
1. กำจัดขยะประเภท ไม้ กล่องกระดาษ ที่มีอยู่ในครัวเรือน เพื่อไม่ให้ปลวกเข้ามาทำรัง
2. ทาผลิตภัณฑ์ประเภทเคลือบเงาเนื้อไม้ เช่น แลคเกอร์ ยูรีเทน ซึ่งเป็นของผสมที่มีกลิ่นไล่แมลง และยังช่วยปกป้องเนื้อไม้จากการรุกรานของปลวก
3. เปลี่ยนวัสดุโครงสร้างไปเป็นวัตถุที่แมลง/ปลวกไม่สามารถเข้ามาทำลายได้ เช่น โลหะ พลาสติก หรือการก่อปูนตามความเหมาะสมของโครงสร้างอาคาร
4. สำรวจอาคารบ้านเรือนเป็นประจำ ปิดรอยแตกร้าวของโครงสร้างอาคารให้มิดชิด และสังเกตว่าในบ้านมี แมลงเม่า หรือมีรอยทำลายของปลวกตามที่ต่างๆของอาคารหรือไม่
5. ศัตรูตามธรรมชาติของปลวกที่ควรทราบ เช่น มด บางครั้งการมีรังมดที่อยู่ห่างจากตัวบ้านอย่างเหมาะสม และมิได้สร้างความรำคาญแต่อย่างใด ก็ถือได้ว่าเป็นทหารเฝ้บ้านได้อย่างดีเพราะปลวกกับมดหลายสายพันธุ์ไม่ค่อยจะถูกกันสักเท่าใดนัก
6. ใบขี้เหล็กนำมาตำผสมน้ำแล้วเทรอบบ้าน มีฤทธิ์ป้องกันการรุกรานของปลวก ข้อนี้ให้ใช้ดุลยพินิจหรืออาจศึกษาเพิ่มเติม ด้วยเป็นองค์ความรู้ที่ปราชญ์ชาวบ้านถ่ายทอดกันมา
บรรณานุกรม
- https://www.termiteweb.com/repellent-termiticides/ [2018,June 23]
- https://www.google.co.th/search?q=%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%81&tbm=isch&tbo=u&source=univ&sa=X&ved=0ahUKEwjFy7q3wY_bAhWMPo8KHXJ-DbQQsAQIKA&biw=1920&bih=949#imgrc=DpFry3qK-0rlmM: [2018,June 23]
- http://www.amalpest.com.au/Termites/YourOptions/TermiteTreatments/Termiticides [2018,June 23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cypermethrin [2018,June 23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Bifenthrin [2018,June 23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Fenitrothion [2018,June 23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Fenvalerate [2018,June 23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Imidacloprid [2018,June 23]
- http://npic.orst.edu/factsheets/archive/biftech.html#reprod [2018,June 23]
- http://parasitipedia.net/index.php?option=com_content&view=article&id=2684&Itemid=2972 [2018,June 23]
- https://www.the-piedpiper.co.uk/th13(h).html [2018,June 23]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3648782/ [2018,June 23]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/20109441 [2018,June 23]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3052376/ [2018,June 23]
- http://www.pesticideinfo.org/Detail_Chemical.jsp?Rec_Id=PC35383#Toxicity [2018,June 23]
- http://npic.orst.edu/factsheets/archive/imidacloprid.html#chem [2018,June 23]
- http://parasitipedia.net/index.php?option=com_content&view=article&id=2686&Itemid=2991 [2018,June 23]
- https://healthfully.com/dangers-termite-control-5998192.html [2018,June 23]
- http://www.health.gov.au/internet/publications/publishing.nsf/Content/ohp-enhealth-manual-atsi-cnt-l~ohp-enhealth-manual-atsi-cnt-l-ch5~ohp-enhealth-manual-atsi-cnt-l-ch5.16 [2018,June 23]
- https://www.youtube.com/watch?v=ao_erNAwFOw [2018,June 23]
- https://www.youtube.com/watch?v=gJ2UMcomEN0 [2018,June 23]