ยาฆ่าแมลง (Insecticide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฆ่าแมลง(Insecticide) หมายถึง สารประกอบที่มีฤทธิ์ฆ่าแมลงตัวเต็มวัย(Insect) ตัวอ่อน(Larvae) รวมถึงไข่(Egg) ยาฆ่าแมลงยังมีความหมายคลอบคลุมถึงแบคทีเรีย บางชนิดที่สามารถก่อโรคในตัวแมลงอีกด้วย มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกรรมเพื่อควบคุมและป้องกันแมลงที่เข้ามาทำลายต้นพืชและผลผลิต ส่วนภาคอุตสาหกรรมนำมาใช้ป้องกันกลุ่มแมลงประเภท ปลวก มอด ที่อาจเข้าทำลายโครงสร้างอาคารและวัตถุดิบ ที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบหรือใช้ไล่แมลงอย่างเช่น ยุง แมลงวัน แมลงสาบ ที่ก่อความรำคาญตามที่พักอาศัย แม้แต่บนร่างกายของมนุษย์และสัตว์ก็มีโอกาสใช้ยาฆ่าแมลงที่เป็นลักษณะ ยาฆ่าเหา/ยารักษาโรคเหา ยากำจัดเห็บ-หมัด ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา มีการใช้ยาฆ่าแมลงเพิ่มขึ้นเป็นปริมาณมากจนเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปนเปื้อนในผลผลิตทางด้านเกษตรกรรมต ลอดจนกระทั่งก่อให้เกิดโรคกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

ยาฆ่าแมลงมีกี่ประเภท?

ยาฆ่าแมลง

หากจะนับจำนวนสารเคมีที่ใช้เป็นยาฆ่าแมลง มีมากกว่า 200 รายการ อย่างไรก็ตามในแง่วิชาการ อาจแบ่งยาฆ่าแมลงได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆคือ

1.ซิสเตมิก อินเซคติไซด์ (Systemic insecticides) หมายถึง ยาฆ่าแมลงที่มีการดูดซึมเข้าสู่ส่วนต่างๆของต้นพืช มีการแทรกซึมเข้าเซลล์หรือเนื้อเยื่อของพืชทำให้ส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ใบ กิ่ง ลำต้น ราก มีความเป็นพิษ เมื่อแมลงมากัดกินต้นพืช จะทำให้แมลงตายลง วิทยาการในโลกปัจจุบันสามารถใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมโดยใส่โปรตีนจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Bacillus thuringiensis ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง(Biocidal protein) เข้าในดีเอนเอ(DNA)ของพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ทำให้ได้ต้นข้าวโพดที่ปลอดจากแมลงมารบกวน เราเรียกพืชที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมเหล่านี้ว่า Transgenic plants หรือ Genetically modified plant ย่อว่า GM plants

2.คอนแทค อินเซคติไซด์ (Contact insecticides) หมายถึง ยาฆ่าแมลงที่ออกฤทธิ์โดยตรงกับตัวแมลง หากแมลงมาสัมผัสกับคอนแทค อินเซคติไซด์จะทำให้ระบบการทำงานของแมลงล้มเหลว ยาฆ่าแมลงกลุ่มนี้มักเป็นสารประเภทอนินทรีย์ที่มีธาตุจำพวกโลหะเป็นองค์ประกอบ เช่น ทองแดง เกลืออาร์ซีเนท (AsO43-) รวมถึงสารประกอบของฟลูออรีน(Fluorine compounds) แต่ที่พบเห็นการใช้บ่อยจะเป็นกลุ่มกำมะถัน(Sulfur) ปัจจุบันได้มีการคิดค้นคอนแทค อินเซคติไซด์ที่เป็นสารอินทรีย์ขึ้นมา และถูกนำมาใช้ในภาคเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามพบว่า คอนแทค อินเซคติไซด์ก่อให้เกิดพิษตกค้างกับพืชผลเป็นปริมาณน้อย การชำระล้างด้วยน้ำฝนหรือน้ำที่เพียงพอก็สามารถชำระยาฆ่าแมลงประเภทนี้ได้

*หมายเหตุ นักวิชาการบางกลุ่มอาจจำแนกยาฆ่าแมลงออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

1. ยาฆ่าแมลงจากต้นพืชในธรรมชาติ (Natural insecticides) เช่น น้ำมันสะเดา(Neem oil), นิโคติน(Nicotine) จากใบยาสูบ, และไพรีทรัม(Pyrethrum) จากพืชสกุล Tanacetum

2. ยาฆ่าแมลงกลุ่มอนินทรีย์ (Inorganic insecticides) เป็นสารประกอบที่มีธาตุโลหะเป็นองค์ประกอบ

3. ยาฆ่าแมลงกลุ่มอินทรีย์(Organic insecticides) เป็นยาฆ่าแมลงกลุ่มเดียวกับ คอนแทค อินเซคติไซด์

ยาฆ่าแมลงมีลักษณะการออกฤทธิ์อย่างไรบ้าง?

มีข้อสรุปกลไกการออกฤทธิ์ของยาฆ่าแมลงที่มีจำหน่ายในท้องตลาดดังนี้

  • สร้างความเป็นพิษให้กับเนื้อเยื่อของพืช โดยผ่านการดูดซึมจากส่วนต่างๆของพืช เช่น ซิสเตมิก อินเซคติไซด์ เมื่อแมลงเข้ากัดกินจึงทำให้ได้รับสารพิษและตายลง
  • มีลักษณะเป็นโปรตีนหรือเอนไซม์ หรือแอลคาลอยด์(Alkaloid) เมื่อแมลงได้รับหรือสัมผัส จะทำให้ระบบการทำงานของตัวแมลงล้มเหลว เช่น ผลต่อระบบประสาทโดย ทำให้เกิดภาวะอัมพาต ผลต่อระบบการหายใจทำให้ระบบหายใจล้มเหลว/แมลงขาดอากาศ
  • ยาฆ่าแมลงบางประเภทเป็นแบคทีเรียที่ก่อโรคต่อแมลง ทำให้แมลงอ่อนแอ และตายลง แต่พืชนันๆไม่เป็นพิษกับพืชหรือมนุษย์และสัตว์เลี้ยง
  • เป็นฮอร์โมนที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของตัวอ่อนแมลง ส่งผลให้แมลงหมดสภาพ ที่จะพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย

ตัวอย่างกลุ่มยาฆ่าแมลงที่มีใช้ในปัจจุบันมีอะไรบ้าง?

ตัวอย่างกลุ่มยาฆ่าแมลงที่พบเห็นการใช้บ่อยมีดังนี้

  • Organochlorides: ตัวอย่างยาฆ่าแมลงที่โดดเด่นของกลุ่มนี้ คือ ดีดีที (DDT ที่ย่อมาจาก Dichlorodiphenyltrichloroethane)ซึ่งมีใช้กันมาเกือบจะ 80 ปีแล้ว Organochlorides มีกลไกทำลายเซลล์ประสาทของแมลง และสามารถก่อพิษให้กับพืชและมนุษย์ได้เช่นกัน หากปนเปื้อนลงใน แหล่งน้ำ พื้นดิน อากาศ จะส่งผลเกิดมลภาวะต่อระบบนิเวศน์ในธรรมชาติ
  • Organophosphates: เป็นกลุ่มยาฆ่าแมลงประเภท คอนแทค อินเซคติไซด์ ออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาทและก่อให้เกิดภาวะอัมพาตในแมลง สารประกอบประเภทนี้สามารถก่อพิษสะสมในระบบนิเวศน์และส่งผลเสียต่อชีวิตสัตว์ป่าในธรรมชาติได้
  • Carbamates: มีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายกับ Organophosphates แต่มีระยะเวลา การออกฤทธิ์และความเป็นพิษน้อยกว่า
  • Pyrethroids: เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีโครงสร้างคล้าย Pyrethins สามารถ สกัดได้จากดอกของพืชจำพวกไพรีทรัม(Pyrethrum) ด้วยมีความเป็นพิษน้อยกว่ากลุ่ม
  • Neonicotinoids: เป็นสารประกอบสังเคราะห์เลียนแบบ Nicotine ที่พบในใบยาสูบ มีการออกฤทธิ์ในลักษณะ Acetylcholine receptor agonists หรือ Nicotinic agonist ใช้กำจัดแมลงที่มีการเคลื่อนที่หรือบินเร็วที่อาศัยการดูดน้ำเลี้ยงจากต้นพืช เช่น เพลี้ยกระโดด (Planthopper)
  • Ryanoids: เป็นเคมีสังเคราะห์เลียนแบบสารประกอบประเภท Ryanodine ซึ่งพบมากในพืชที่ขึ้นทางอเมริกาใต้ที่มีชื่อเรียกว่า Ryania speciosa ทางเภสัชวิทยา Ryanoids มีฤทธิ์ต่อ หัวใจ กล้ามเนื้อ และสามารถปิดกั้นการส่งกระแสประสาท การนำมาใช้กับแมลงจะทำให้แมลงเป็นอัมพาตและตายลง
  • Insect growth regulator: เป็นสารประกอบที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของ แมลง เช่น ปิดกั้นการสร้างเปลือกของตัวแมลง สร้างความเสียหายต่อระบบประสาทในตัวอ่อนแมลง หรือทำให้แมลงคงสภาพตัวอ่อนไปตลอดชีวิต
  • สารอนุพันธ์จากพืช(Derived from plants): เป็นสารอินทรีย์ที่สกัดได้จากพืชใน ธรรมชาติหลายชนิด อาจอยู่ในรูปของน้ำมันหอมระเหยต่างๆ พบเห็นบ่อยในการ ใช้เป็นยาฆ่าลูกน้ำของยุง
  • แบคทีเรียที่ก่อโรคในแมลง(Biologicals หรือ Biological insecticide): จัดว่าเป็นศัตรูชีวภาพของแมลง ส่วนมากจะเป็นแบคทีเรียสกุล Bacillus

ผลกระทบต่อการใช้ยาฆ่าแมลงแบบไม่รับผิดชอบมีอะไรบ้าง?

ก่อนใช้ยาฆ่าแมลงควรศึกษาผลดี-ผลเสียที่จะเกิดต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค สภาพแวดล้อม ระบบนิเวศน์และสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ การละเลยและใช้แบบผิดๆ สามารถส่งผลกระทบดังนี้

  • ปนเปื้อนลงใน แหล่งน้ำ อากาศ พื้นดิน จนทำให้เสียสมดุลของระบบนิเวศน์ และการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า รวมถึงกับแมลงที่มีประโยชน์อย่าง ผึ้ง ผีเสื้อ ที่ช่วยผสม พันธุ์พืชตามธรรมชาติให้ตายลงเป็นจำนวนมาก ตัวอ่อนของสัตว์น้ำ เช่น ลูกปลาที่ไม่ สามารถเจริญเป็นตัวเต็มวัยด้วยตายลงเสียก่อน หรือการปนเปื้อนในปลาใหญ่ที่ พอจะทนพิษยาฆ่าแมลงได้อาจส่งผลกระทบมาถึงผู้บริโภคปลานั้นๆ

นอกจากนี้ ไส้เดือนซึ่งเป็นสัตว์เกษตรกรที่ผิวดินซึ่งมีหน้าที่ทำให้ดินร่วนซุยและเกิดปุ๋ยตามธรรมชาติจะสูญหายไปจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากยาฆ่าแมลง สัตว์ป่าตาม ธรรมชาติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศน์ภาคเกษตรกรรม เช่น นก อาจสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ ซึ่งเราเคยได้ยินข่าวอยู่บ่อยๆว่า มีช้างป่าตายลงหลายตัวด้วยกินพืชผลที่มียาฆ่าแมลงปนเปื้อน

  • เกิดภาวะกลายพันธุ์ของแมลงที่เป็นศัตรูพืช จนแมลงเหล่านี้สามารถทนพิษของยา ฆ่าแมลง ทำให้เราเรียนรู้ว่าการใช้ยาฆ่าแมลงไม่ใช้วิธียั่งยืนในการกำจัดแมลง แต่กลับก่อให้เกิดผลเสียมากกว่า
  • มนุษย์ที่ได้รับยาฆ่าแมลงโดยตรงหรือโดยอ้อมหรือไม่รู้ตัวว่ากำลังได้รับ ยาฆ่าแมลงอยู่ ส่งผลทำให้เกิดโรคต่อร่างกายได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคระบบ ประสาท โรคทางเดินหายใจ โรคกล้ามเนื้อ โรคหัวใจ และ รวมถึงการเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง

โรคที่เกิดจากยาฆ่าแมลงมีอะไรบ้าง?

โรคที่มีรายงานพบว่า อาจมีสาเหตุเสริมจากยาฆ่าแมลง เช่น

  • Organochloride อย่างเช่น DDT: มีรายงานว่า กระตุ้นการเกิดมะเร็ง รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ เช่น ของต่อมไทรอยด์ใน สัตว์ฟันแทะ นก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และ ในปลา, และทำให้เปลือกไข่ของสัตว์ปีกบางลงจนเสี่ยงต่อการแตกง่าย
  • Organophosphate: สร้างผลกระทบต่อกระบวนการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย เช่น ทำให้สูญเสียการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำลายกระบวนการเจริญเติบโต ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อของ สิ่งมีชีวิต รบกวนการทำงานของต่อมไทรอยด์ในสัตว์ฟันแทะ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ นก และปลา
  • Carbamates: ทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในสัตว์มีกระดูกสันหลังลด ต่ำลง รบกวนการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น การควบคุมอุณหภูมิไม่เป็นไปตาม ธรรมชาติ หรือเกิดภาวะเป็นหมันหมดสภาพในการสืบพันธุ์
  • Pyrethoids : รบกวนการทำงานของต่อมไทรอยด์ใน สัตว์ฟันแทะ สัตว์ปีก สัตว์น้ำ
  • Neonicotinoids: สร้างความเสียหายต่อระบบทางเดินหายใจ การทำงานของ หัวใจ การทำงานของระบบประสาท เป็นพิษต่อระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์ฟันแทะและของมนุษย์

อาการของผู้ที่ได้รับยาฆ่าแมลงเข้าร่างกายเป็นอย่างไร?

สามารถสรุปอาการของผู้ที่ได้รับพิษจากยาฆ่าแมลงโดยสังเกตจากอาการดังต่อไปนี้ เช่น

  • หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี๊ด
  • ปวดศีรษะ เหงื่อออกมากผิดปกติ
  • น้ำตาไหลมาก มีอาการตาแดง
  • น้ำลายในปากมีปริมาณมาก
  • คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง
  • ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
  • ตาพร่า มองภาพไม่ชัดเจน
  • ตัวชาหรือไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกจากการสัมผัสเบาๆ
  • วิงเวียน รู้สึกสับสน การทรงตัวทำได้ไม่ดี
  • ระคายผิวหนัง ผื่นผิวหนังอักเสบ หรือเกิดผื่นแดง
  • กล้ามเนื้อหดเกร็งตัวหรือเกิดตะคริว อาจมีอาการชัก
  • ริมฝีปากหรือเล็บมือ-เท้าซีด
  • มีอาการโคม่า
  • อาจถึงตาย ถ้าได้รับในปริมาณมาก และเป็นยาฆ่าแมลงชนิดอันตรายสูง

ใช้ยาฆ่าแมลงอย่างปลอดภัยทำอย่างไร?

งานภาคเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยได้มีผู้ริเริ่มสานต่อกันมาและมีผู้ให้ความนิยมมากขึ้น ผู้ผลิตจำนวนมากปฏิเสธการใช้ยาฆ่าแมลง และหันมาใช้วิธีการอื่นทดแทน เช่น

  • คัดเลือกสายพันธุ์พืชที่ทนแมลง
  • สนับสนุนศัตรูแมลงทางชีวภาพ เช่น นก แมงมุม ตัวห้ำ เบียน
  • ปลูกพืชหมุนเวียน ทำเกษตรสวนผสมทดแทนเกษตรเชิงเดี่ยว

* อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลง ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ เช่น

1. อ่านคู่มือการใช้งานโดยละเอียดจากฉลาก/เอกสารกำกับการใช้ผลิตภัณฑ์ ศึกษาวิธีการเตรียมยาฆ่าแมลงในสัดส่วนที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ผู้บริโภค และต่อสภาพแวดล้อม

2. ห้ามผสมยาฆ่าแมลงที่มีคุณสมบัติต่างกัน หรือเป็นยาฆ่าแมลงคนละกลุ่มเพื่อนำมาใช้ฆ่าแมลงในครั้งเดียว

3. ศึกษาวิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยกรณีได้รับพิษของยาฆ่าแมลงชนิดนั้นๆจนเข้าใจ และสามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้จริง

4. ใช้อุปกรณ์การฉีดพ่นที่มีมาตรฐาน ห้ามใช้อุปกรณ์การปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็น ของมนุษย์ หรือของสัตว์มาประยุกต์ใช้กับยาฆ่าแมลง

5. เตรียมผสมยาฆ่าแมลงให้พอดีกับการใช้งาน ไม่ควรเตรียมเกินความต้องการ ซึ่งต้องทิ้ง ทำลายและสิ้นเปลือง

6. สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น แว่นป้องกันสารเคมีเข้าตา หน้ากากกรองสารพิษ หมวกคลุมผม ชุดเสื้อผ้าที่ป้องกันการซึมผ่านของสารเคมีมาสัมผัสผิวหนัง ถุงมือ รองเท้าที่ปกคลุมเท้าอย่างมิดชิด

7. ไม่ดื่ม กินอาหาร สูบบุหรี่ เคี้ยวหมากฝรั่ง ขณะฉีดพ่นยาฆ่าแมลง

8. ดูแลมิให้บุคคลและสัตว์เข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่ต้องพ่นยาฆ่าแมลง

9. ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงที่หมดอายุแล้ว ผู้เขียนแนะนำให้ใช้ยาฆ่าแมลงที่ผ่านการ รับรองมาตรฐานเท่านั้น

10. ควรฉีดพ่นยาฆ่าแมลงในช่วงเช้าหรือเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงแนวลมที่มักจะพัดแรง ในระหว่างวัน

11. ขณะฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ต้องระวังมิให้ไปปนเปื้อนพืชหรือพื้นที่เกษตร ที่ไม่เกี่ยวข้องเช่นพื้นที่ใกล้เคียงของเพื่อนบ้าน

12. หลีกเลี่ยงการใช้ยาฆ่าแมลงชนิดเดียวซ้ำซาก ควรสลับ หรือไม่ก็เปลี่ยนมาเป็นการใช้วิธีทางกายภาพ เช่น กางมุ้งในแปลงเกษตร เพาะเลี้ยงศัตรูชีวภาพของ แมลงศัตรูพืช เช่น เบียน ห้ำ แมงมุม นกกินแมลง

13 . อาบน้ำชำระร่างกาย ฟอกสบู่ สระผม หลังปฏิบัติงานกับยาฆ่าแมลง

14. ไม่ล้างอุปกรณ์การฉีดพ่นยาฆ่าแมลงลงในแม่น้ำ คูคลองตามธรรมชาติ

ทั้งนี้ ในความคิดเห็นของผู้เขียนอยากให้เกษตรกรหันมาใช้เกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ผลิตผลที่มาจากฟาร์มปลอดยาฆ่าแมลง จะส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งของผู้ผลิต ผู้บริโภค ปลอดโรค ปลอดภัย และได้รับการยอมรับจากประชากรทั่วประเทศและทั่วโลก

ควรเก็บรักษายาฆ่าแมลงอย่างไร?

ควรเก็บยาฆ่าแมลงในภาชนะที่ ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด และความร้อน สามารถเก็บยาฆ่าแมลงภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น และต้องอยู่ในสถานที่ที่ระบายอากาศได้ดี เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ห้ามเก็บปะปนกับอาหารของมนุษย์หรือของอาหารสัตว์ ห้ามทิ้งยาฆ่าแมลงลงแม่น้ำหรือคูคลองตามธรรมชาติหรือทิ้งลงพื้นดินโดยตรง

มีวิธีการปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับพิษจากยาฆ่าแมลงอย่างไรบ้าง?

มีวิธีขั้นตอนการปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับพิษจากยาฆ่าแมลง ที่สำคัญ ดังนี้

  • รีบนำผู้ป่วยออกจากพื้นที่ที่มีการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงทันที
  • ตรวจสอบสภาพภายในปากผู้ป่วยมิให้มี อาหาร น้ำลาย วัตถุต่างๆ เช่น ฟันปลอม อุดหรือปิดกั้น สามารถใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ดทำความสะอาดภายในปากผู้ป่วยได้
  • ตรวจสอบว่าผู้ป่วยยังหายใจได้ดีหรือไม่ การทำ CPR (Cardiopulmonary resuscitation)/การกู้ชีพด้วยการผายปอดหรือปั๊มหัวใจ ผู้ปฏิบัติควรต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีเท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงการทำให้ผู้ป่วยอาเจียนโดยไม่ทราบว่าผู้ป่วยได้รับพิษจากการสูดดม หรือการรับประทาน
  • กรณียาฆ่าแมลงเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดอย่างต่อเนื่อง อาจต้องใช้เวลานาน เกิน 15 นาที เพื่อให้แน่ใจว่ายาฆ่าแมลงไม่หลงเหลือในตา หลังจากนั้น ควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อประเมินอาการของตา
  • กรณียาฆ่าแมลงสัมผัสผิวหนัง ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงออก ล้างทำ ความสะอาดร่างกายโดยใช้น้ำและสบู่ฟอกเพื่อลดปริมาณยาฆ่าแมลงให้มากที่สุด
  • สำหรับผู้ป่วยที่หมดสติ ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที/แกเฉิน ไม่ควรรอดูอาการ

อนึ่ง สำหรับการดูแลผู้ที่ได้รับยาฆ่าแมลงทางคลินิก เช่น การกลืนยาฆ่าแมลงเพื่อฆ่าตัวตาย แพทย์จะทำหัตถการช่วยเหลือผู้ป่วย เช่น

1. ล้างท้องเพื่อนำยาฆ่าแมลงออกจากกระเพาะอาหารให้มากที่สุด

2. ใช้ยาถ่านกัมมันต์ผสมน้ำให้ผู้ป่วยรับประทาน เพื่อไปรวมตัวกับยาฆ่าแมลงและ เป็นการป้องกันการดูดซึมยาฆ่าแมลงจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด

3. ให้ยาที่เป็นยาต้านพิษของยาฆ่าแมลง เช่น การใช้ยา Atropine ฉีดเข้าหลอดเลือด

4. ดูแลผู้ป่วยตามอาการ/การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น อาจมีการให้น้ำเกลือ และ/หรือ ให้ออกซิเจน ร่วมกับควบคุมสัญญาณชีพ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ให้เป็นปกติ

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Insecticide#Synthetic_insecticide [2018,June16]
  2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4284386/ [2018,June16]
  3. https://citybugs.tamu.edu/factsheets/landscape/sapfeed/ent-6006/ [2018,June16]
  4. https://www.cdc.gov/zika/vector/insecticide-resistance.html [2018,June16]
  5. https://nevegetable.org/insecticides-alphabetical-listing-trade-name [2018,June16]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2408621/ [2018,June16]
  7. https://www.cdc.gov/biomonitoring/DDT_BiomonitoringSummary.html [2018,June16]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Environmental_impact_of_pesticides [2018,June16]
  9. https://www.wikihow.com/Handle-and-Apply-Pesticides-Safely [2018,June16]
  10. https://baansuan.wordpress.com/2007/05/01/%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%A3/ [2018,June16]
  11. https://www.dovemed.com/healthy-living/first-aid/first-aid-insecticide-poisoning/ [2018,June16]