มาตรกลาสโกวโคม่า มาตรวัดกลาสโกวโคม่า (Glasgow Coma Scale: GCS)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 13 มีนาคม 2557
- Tweet
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- อัมพาต อัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- โรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ (Cerebral AVM: Cerebral arteriovenous malformation)
มาตรกลาสโกวโคม่า หรือ มาตรวัดกลาสโกวโคม่า คือ วิธีประเมินความผิดปกติและความรุนแรงทางระบบประสาทวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นวิธีที่ไม่ยุงยาก ง่ายต่อการใช้ และสามารถให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์ประเมินได้ โดยประเมินลักษณะทางคลินิกในการรู้สึกตัวของผู้ป่วยเป็นคะแนน ทั้งนี้ การประเมินประกอบด้วย
1. E (Eye opening) การประเมินการลืมตา (Eye opening) แบ่งเป็น 4 ระดับคะแนน คือ จากความรุนแรงมากได้ 1 คะแนน ไปหาความรุนแรงน้อย/ปกติได้ 4 คะแนน
- 1 คะแนน ไม่ลืมตา ไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นใดๆ
- 2 คะแนน ลืมตาเมื่อเจ็บ
- 3 คะแนน ลืมตาเมื่อเรียก
- 4 คะแนน ลืมตาได้เอง
2. V (Verbal response) การประเมินการพูด Verbal response แบ่งเป็น 5 ระดับคะแนน จากรุนแรงมากได้ 1คะแนน ไปหารุนแรงน้อย/ปกติได้ 5 คะแนนคือ
- 1 คะแนน ไม่พูด ไม่ส่งเสียงใดๆ
- 2 คะแนน ส่งเสียงอือ อา ไม่เป็นคำพูด
- 3 คะแนน ส่งเสียงพูดเป็นคำๆ แต่ฟังไม่รู้เรื่อง
- 4 คะแนน พูดเป็นคำๆ แต่ไม่ถูกต้องกับเหตุการณ์
- 5 คะแนน ถามตอบรู้เรื่องปกติ
3. M (Motor response) การประเมินการเคลื่อนไหวของแขน ขา แบ่งเป็น 6 ระดับคะแนน จากรุนแรงมากได้ 1คะแนน ไปหารุนแรงน้อย/ปกติได้ 6 คะแนนคือ
- 1 คะแนน ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆต่อสิ่งกระตุ้น ไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด
- 2 คะแนน ตอบสนองต่อการกระตุ้นที่ทำให้เจ็บ โดย แขน ขาเหยียดเกร็ง
- 3 คะแนน ตอบสนองต่อการกระตุ้นที่ทำให้เจ็บ โดย แขน ขางอเข้าผิดปกติ
- 4 คะแนน ตอบสนองต่อการทำให้เจ็บแบบปกติ เช่น เคลื่อนแขนขาหนี
- 5 คะแนน ตอบสนองต่อการทำให้เจ็บ ถูกตำแหน่งที่ทำให้เจ็บ เช่น การปัดสิ่งกระตุ้น
- 6 คะแนน เคลื่อนไหวได้ตามคำสั่งถูกต้อง
4. การแปลผล คือ ถ้าค่าคะแนนรวม 15 ค่าคะแนน คือ การรู้สึกตัว/การพยากรณ์โรคดีที่สุด, คะแนนต่ำสุด 3 คะแนน คือ การพยากรณ์โรคแย่ที่สุด
ตัวอย่าง การพยากรณ์โรคกรณีผู้ป่วยเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง ถ้ามีค่าคะแนน GCS ที่ดี ผลการรักษาก็ดี แต่ถ้าค่าคะแนน GCS ต่ำ ผลการรักษาก็ไม่ดี เป็นต้น