โรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ (Cerebral AVM: Cerebral arteriovenous malformation)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 22 พฤษภาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- โรคเอวีเอ็มคืออะไร?
- โรคเอวีเอ็มเกิดขึ้นได้อย่างไร?
- ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคเอวีเอ็ม?
- โรคเอวีเอ็มมีอาการอย่างไร?
- อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ?
- ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์จะให้การวินิจฉัยโรคเอวีเอ็มได้อย่างไร?
- โรคเอวีเอ็มรักษาอย่างไร?
- โรคเอวีเอ็มมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- โรคเอวีเอ็มมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันไม่ให้อาการเกิดเป็นซ้ำได้ไหม?
- ป้องกันโรคเอวีเอ็มได้อย่างไร?
- อ่อนแรง อาการอ่อนแรง (Motor Weakness)
- อาการปวดศีรษะร้ายแรง:สัญญาณอันตรายของอาการปวดศีรษะ (Red Flag in Headache)
- โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก (Ischemic and Hemorrhagic Stroke)
- โรคหลอดเลือด โรคของหลอดเลือด (Vascular disease)
- ปวดศีรษะเรื้อรัง (Chronic daily headache)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
บทนำ
ความผิดปกติหรือโรคสมอง มีสาเหตุหลากหลาย แบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลัก คือ
- เป็นโรคแต่กำเนิด
- เป็นโรคที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อเติบโตขึ้นแล้ว
โรคสมองแต่กำเนิดโรคหนึ่งที่ควรทราบ เพราะมีอันตรายค่อนข้างสูง ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ ที่เรียกว่า Cerebral arteriovenous malformation หรือ Cerebral AVM หรือเรียกสั้นๆว่า “โรคเอวีเอ็ม (AVM)” โรคนี้มีอาการผิดปกติอย่างไร อันตรายแค่ไหน ใครมีโอ กาสเป็นได้บ้าง ลองติดตามบทความนี้ครับ
อนึ่ง บทความนี้ขอเรียกโรคนี้สั้นๆว่า “โรคเอวีเอ็ม”
โรคเอวีเอ็มคืออะไร?
โรคเอวีเอ็มคือ โรคที่มีความผิดปกติของกลุ่มหลอดเลือดในสมองตั้งแต่กำเนิด โดยเกิดความผิดปกติตรงรอยต่อระหว่างหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ โดยความผิดปกติของหลอดเลือด/รอยโรค อาจพบบริเวณผิวสมอง/เนื้อสมองส่วนนอก (Cerebral cortex) หรืออยู่ลึกลงไปในเนื้อสมอง ซึ่งอาจเกิดรอยโรคเพียงตำแหน่งเดียว หรือเกิดได้พร้อมๆกันหลายตำ แหน่ง และแต่ละรอยโรค มีขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน
โรคนี้พบน้อย คือประมาณ 15-18 รายต่อประชากร 100,000 คน แต่แสดงอาการให้ปรา กฏเพียงประมาณ 2-10% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ทั้งหมด โรคนี้พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง และถึงแม้จะเป็นโรคแต่กำเนิด แต่มักแสดงอาการเมื่อโตขึ้นแล้วในช่วงอายุ 15-20 ปีขึ้นไป
โรคเอวีเอ็มเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ไม่มีใครทราบที่แน่ชัดว่า โรคเอวีเอ็มเกิดขึ้นได้อย่างไร ทราบแต่ว่าโรคนี้เป็นมาแต่กำ เนิด และค่อยๆมีขนาดรอยโรคที่โตขึ้นเรื่อยๆ
ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคเอวีเอ็ม?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคเอวีเอ็ม คือ
- ผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิง
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ มีโอกาสเป็นโรคนี้บ่อยกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติครอบครัว
- แต่แพทย์ก็ยังไม่พบยีน/จีน (พันธุกรรม) ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโรคนี้อย่างชัดเจน
โรคเอวีเอ็มมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคเอวีเอ็ม ประกอบด้วย 3 กลุ่มอาการหลัก คือ
- กลุ่มอาการจากหลอดเลือดที่ผิดปกตินี้แตกในเนื้อสมอง: ซึ่งอาการได้แก่
- ปวดศีรษะ /ปวดหัว อาเจียน ทันที
- หมดสติ
- แขนขาอ่อนแรง
- พูดไม่ได้
- หรืออาจเสียชีวิตได้ทันที ถ้าก้อนเลือดจากเลือดออกมีขนาดใหญ่มาก หรือเมื่อเกิดการแตกเข้าไปในโพรงน้ำในสมอง ที่ก่อให้เกิดการอุดตันของการไหลของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (CSF, Cerebrospinal fluid)
- กลุ่มอาการชัก: เนื่องจากกลุ่มหลอดเลือดสมองที่ผิดปกตินี้ เกิดอยู่ในตำแหน่งของผิว/เนื้อสมองส่วนนอก ส่งผลให้มีอาการชักเกิดขึ้น เนื่องมาจากมีการระคายเคืองต่อผิวสมอง ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าผิดปกติในสมอง
- กลุ่มอาการเลือดออกใต้เนื้อเยื่อชั้นอะราชนอยด์ของเยื่อหุ้มสมอง/เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid hemorrhage: SAH): เนื่องจากมีการแตกของกลุ่มหลอดเลือดสมองที่ผิดปกตินี้ และแตกออกในบริเวณผิวสมองใต้ต่อชั้นเยื่อหุ้มสมองดังกล่าว ซึ่งเป็นอาการเหมือนกับอาการของกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาต เช่น
- ตาบอด (ตาบอดเหตุจากสมอง)เฉียบพลัน
- พูดลำบาก สื่อสารไม่ได้
- วิงเวียนศีรษะรุนแรง
- อาการชาแขนขา
อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ?
ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการในโรคเอวีเอ็ม ได้แก่
- ความดันโลหิตที่สูงมากขึ้น อาจทำให้มีการแตกของหลอดเลือดได้
- การไหลเวียนของเลือดในร่างกายที่ลดลง อาจก่อให้เกิดปัญหาเลือดเลี้ยงสมองที่ลดลง ส่งผลให้เกิดสมองขาดเลือด และเกิดอาการชักได้
- และ/หรือ การออกแรงเบ่งอย่างแรงเป็นเวลานาน อาจทำให้หลอดเลือดแตกได้
ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
โรคเอวีเอ็มนี้ ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการใดๆเลย จนกว่ากลุ่มหลอดเลือดที่ผิดปกติจะมีขนาดใหญ่จนแตก หรือก่อการระคายเคืองต่อผิวสมอง ทำให้มีอาการชัก ดังนั้นเมื่อมีอาการผิด ปกติทางระบบประสาทใดๆดังได้กล่าวในหัวข้อ อาการ ที่เป็นขึ้นมาทันที ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
*****หมายเหตุ โทรศัพท์เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน เบอร์เดียวทั่วประเทศไทย คือ “โทรฯ 1669” สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สพฉ.) ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
แพทย์จะให้การวินิจฉัยโรคเอวีเอ็มได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคเอวีเอ็มได้จาก
- ข้อมูลจากอาการ และการสอบถามประวัติทางการแพทย์โดยเฉพาะความผิดปกติทางระบบประสาท
- การตรวจร่างกายทั่วไป
- การตรวจร่างกายทางระบบประสาท ร่วมกับ
- การตรวจเพื่อการสืบค้นทางรังสีวิทยาของสมอง เช่น
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน และ/หรือเอมอาร์ไอสมอง เพื่อดูว่ามีรอยโรคในสมองหรือไม่ ซึ่งการตรวจหลอดเลือดสมอง เมื่อพบความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง จึงให้การวินิจฉัยและวางแผนในการรักษาโรคนี้ต่อไป
*ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า การตรวจวินิจฉัยโรคนี้ เป็นการตรวจวินิจฉัยภายหลังผู้ป่วยมีอาการแล้ว ทั้งนี้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยโรคนี้ได้ โดยการตรวจสมองทางรังสีวิทยา แต่แพทย์จะไม่แนะ นำให้ทุกคนตรวจคัดกรอง (การตรวจในคนที่ไม่มีอาการ)โรคนี้ เพราะเกิดความสิ้นเปลืองอย่างยิ่งไม่คุ้มค่า (แม้ในกลุ่มที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ก็ตาม) เพราะมีโอกาสพบโรคนี้น้อยมากมาก เพราะดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ โรคนี้คืออะไร ว่า โรคนี้พบได้น้อยมาก ประมาณ 15-18 ราย ต่อประชากร 100,000 คน และเพียง 2-10% เท่านั้นที่จะเกิดอาการ
โรคเอวีเอ็มรักษาอย่างไร?
การรักษาโรคเอวีเอ็มประกอบด้วย 3 วิธี คือ
- การผ่าตัด: เหมาะรักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่รอยโรคมีขนาดเล็ก อยู่ตื้น ไม่ลึก
- การใช้รังสีรักษา: โดยการฉายรังสีด้วยเทคนิคที่ซับซ้อนที่บริเวณรอยโรค รังสีรักษาจะส่งผลให้หลอดเลือดที่ผิดปกติค่อยๆฝ่อลงไป เหมาะกับรอยโรคที่มีขนาดไม่ใหญ่เกิน 3 เซนติเมตร
- การอุดหลอดเลือดที่ผิดปกติ (Embolization)โดยการรักษาทางรังสีร่วมรักษา: โดยการใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดที่ผิดปกติ และฉีดสารที่เรียกว่า Glue (สารที่ทำให้หลอดเลือดอุดตัน) หรือ กาว (Glue embolization) ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีรอยโรคได้หลายขนาด
*อนึ่ง ในผู้ป่วยบางรายที่มีรอยโรคขนาดใหญ่ ก็อาจต้องใช้หลายๆวิธี ดังกล่าวร่วมกันในการรักษา
ทั้งนี้ กรณีผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ การรักษาโรคเอวีเอ็ม อาจใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ หรือบางรายอาจนานหลายเดือน ขึ้นกับขนาดของรอยโรค แต่ถ้ามีภาวะแทรกซ้อน หรือการรักษาได้ผลไม่ดี ก็ต้องรักษายาวนาน เพราะผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หลอดเลือดผิดปกติเหล่านั้นหายได้ ก็อาจจะมีการแตกของหลอดเลือดสมองที่ผิดปกติในตำแหน่งอื่น และ/หรือรอยโรคเดิมเกิดการแตกซ้ำ ทำให้เกิดอาการอัมพาต หรือความผิดปกติอื่นๆได้อีก เช่น ชัก ดัง นั้นผู้ป่วยจึงต้องได้รับการรักษาทั้งยากันชัก และรักษาอาการอัมพาตด้วยการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งอาจต้องผ่าตัดสมองซ้ำ
โรคเอวีเอ็มมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคเอวีเอ็มมีการพยากรณ์โรค/ผลการรักษาที่ดีมาก แต่ทั้งนี้ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ขนาดของรอยโรคที่ใหญ่ หรือโรคเกิดในตำแหน่งสมองที่มีโอกาสเกิดอัน ตรายสูง เช่น ที่ก้านสมอง หรือมีอาการเลือดออกที่รุนแรง
โรคเอวีเอ็ม เมื่อรักษาหายแล้ว โอกาสเกิดเป็นซ้ำ หรือเกิดอาการซ้ำมีได้น้อย โดยผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดมีอาการซ้ำ คือ กรณีที่การรักษานั้นไม่ประสบผลสำเร็จอย่างดี เช่น
- การฉายรังสีแล้วหลอดเลือดฝ่อไม่หมด
- การอุดหลอดเลือดด้วยกาวไม่ประสบความสำเร็จ
- หรือรอยโรคมีขนาดใหญ่มาก
โรคเอวีเอ็มมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ในโรคเอวีเอ็ม คือ การที่เนื้อสมองถูกทำลายจากที่หลอดเลือดแตก จึงเกิดอัมพาตขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิด แขนขาอ่อนแรง ชัก ติดเชื้อง่ายจากแผลกดทับ การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากการสำลักอาหาร เครื่องดื่ม หรือจากใส่ท่อช่วยหายใจ และ/หรือการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
การดูแลตนเองที่ดีเมื่อเป็นโรคเอวีเอ็ม คือ
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัดแนะนำ
- ต้องทานยาที่แพทย์สั่งสม่ำเสมอ ไม่ขาดยา
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลต่อเนื่องตามนัดเสมอ เพราะต้องมีการตรวจภาพสมอง และ/หรือหลอดเลือดสมองเป็นระยะๆ ตามดุลพินิจของแพทย์ เพื่อติดตามความผิดปกติของหลอดเลือดว่า เกิดขึ้นใหม่หรือไม่
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- มีอาการต่างๆเลวลง
- หรือมีอาการที่ผิดไปจากเดิม
- หรือเมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันไม่ให้อาการเกิดเป็นซ้ำได้ไหม?
ในโรคเอวีเอ็ม หลังการรักษา การป้องกันอาการเกิดเป็นซ้ำ โดยเฉพาะการเกิดเลือด ออกซ้ำในสมอง คือ
- ป้องกันไม่ให้มีความดันโลหิตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ไม่ออกแรงเบ่งอย่างแรง (เช่น การเบ่งอุจจาระจากท้องผูก หรือ การยกของหนัก) และต้องควบคุมอาการชักให้ได้
- ระมัดระวัง ไม่ทานยาที่ทำให้เลือดออกง่าย เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ในกลุ่มยาเอ็นเสด
- ทานยากันชักต่อเนื่อง ตามแพทย์สั่ง ไม่ขาดยา
- ไม่อดนอน ไม่เครียด ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
ป้องกันโรคเอวีเอ็มได้อย่างไร?
โรคเอวีเอ็มนี้ ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะเป็นโรคแต่กำเนิดที่แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุ