มะเร็งกล้ามเนื้อลาย (Rhabdomyosarcoma)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 18 กุมภาพันธ์ 2566
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือมะเร็งอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายมีกี่ชนิด?
- โรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- โรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายมีกี่ระยะ?
- รักษาโรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายอย่างไร?
- โรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายมีการพยากรณ์โรคอย่างไร ?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายไหม?
- ป้องกันโรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- มะเร็งในเด็ก (Pediatric cancer)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- ซาร์โคมา มะเร็งซาร์โคมา (Sarcoma)
- มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue sarcoma) / มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue sarcoma)
- มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ (Leiomyosarcoma)
บทนำ: คือมะเร็งอะไร? พบบ่อยไหม?
มะเร็งกล้ามเนื้อลาย (Rhabdomyosarcoma ย่อว่า RMS/อาร์เอมเอส) คือ มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ของกล้ามเนื้อลาย (กล้ามเนื้อทั่วไปของร่างกาย เช่น ศีรษะ เบ้าตา ใบหน้า ลำคอ แขน ขา ลำตัว และระบบทางเดินปัสสาวะ), จัดเป็นกลุ่ม มะเร็งซาร์โคมา (Sarcoma), มะเร็งชนิดนี้เกิดได้กับกล้ามเนื้อลายทุกมัด ซึ่งตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ ศีรษะลำคอ (ประมาณ 32%), ระบบทางเดินปัสสาวะ (ประมาณ 31%), แขน ขา (ประมาณ 13%), เบ้าตา (ประมาณ 9%), ลำตัว (ประมาณ 5%), ช่องท้องตำแหน่งหลังเยื่อบุช่องท้อง/Retropeitoneum (ประมาณ 7%) และตำแหน่งอื่นๆ (ประมาณ 3%)
มะเร็งกล้ามเนื้อลาย เป็นมะเร็งที่มีธรรมชาติของโรครุนแรง เป็นมะเร็งที่พบน้อย พบทั้ง 2 เพศ เพศชายพบบ่อยกว่าผู้หญิงประมาณ 1.3-1.5 เท่า, พบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ, แต่ส่วนใหญ่มักพบในเด็ก(จึงมักจัดอยู่ในโรคมะเร็งเด็ก), โดยในเด็กสหรัฐอเมริกามีรายงานพบได้ปีละประมาณ 4.5 รายต่อประชากรเด็ก 1 ล้านคน ,ทั้งนี้มี 2 ช่วงอายุที่พบโรคนี้ได้สูง คือ ช่วงอายุ 2-6 ปี และช่วงวัยรุ่น โดย 2/3 ของผู้ป่วยเด็กพบในอายุต่ำกว่า 10 ปี,พบน้อยมากในผู้ใหญ่ประมาณ 1 % ของมะเร็งทั้งหมดในผู้ใหญ่
ส่วนในประเทศไทย ทะเบียนมะเร็งแห่งชาติไม่มีรายงานโรคนี้แยกเฉพาะ แต่รายงานรวมอยู่ในโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน) รายงานในปี ค.ศ. 2021 พบในเพศชายและในเพศหญิงเท่ากัน คือ 1.1 รายต่อประชากรไทย ชาย หรือ หญิง 1 แสนคน
โรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายมีกี่ชนิด?
เซลล์มะเร็งกล้ามเนื้อลายมีหลายชนิด แต่สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ 3 กลุ่มตามความรุนแรงของโรค คือ
- กลุ่มมีความรุนแรงโรคต่ำ หรือมีการพยากรณ์โรคที่ดี: ได้แก่ เซลล์มะเร็งชนิดBotryoid rhabdomyosarcoma และ Spindle cell rhabdomyosarcoma ที่มักพบในเด็กเล็ก
- กลุ่มมีความรุนแรงโรค หรือการพยากรณ์โรคดีปานกลาง: ได้แก่ เซลล์มะเร็งชนิด Embryonal rhabdomyosarcoma มักพบเกิดในเด็ก
- กลุ่มมีความรุนแรงโรคสูง หรือการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี: ได้แก่ เซลล์มะเร็ง ชนิด Alveolar rhabdomyosarcoma, Undifferentiated rhabdomyosarcoma, และชนิด Anaplastic rhabdomyosarcoma มะเร็งกลุ่มนี้มักพบใน วัยรุ่น และในผู้ใหญ่
โรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
สาเหตุเกิดมะเร็งกล้ามเนื้อลายที่ชัดเจน ยังไม่ทราบ แต่พบปัจจัยเสี่ยง อาจเกิดจาก
- บิดา มารดา สูบบุหรี่ ช่วงมารดาตั้งครรภ์
- มารดาได้รังรังสีเอกซ์ (เอกซเรย์) ปริมาณสูงช่วงตั้งครรภ์
- มารดาเสพสารเสพติด โดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์
- ทารกที่มีความพิการแต่กำเนิด: เช่น โรคหัวใจแต่กำเนิด, อวัยวะระบบทางเดินปัสสาวะเจริญเติบโตผิดปกติ
- มีพันธุกรรมผิดปกติ: เช่น เด็กเป็นโรคหรือมีคนในครอบครัวเป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น เนื้องอกเส้นประสาทชนิด Neurofibromatosis type I, และ Li –Fraumeni syndrome (โรคพันธุกรรมที่มีความผิดปกติในจีน/ยีน/Geneที่ควบคุมไม่ให้เซลล์ปกติเปลี่ยนไปเป็นมะเร็ง/Tumor suppressor gene ผู้ป่วยจึงเป็นมะเร็งต่างๆได้ง่ายและได้หลายชนิดพร้อมๆกัน)
โรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายมีอาการอย่างไร?
อาการของมะเร็งกล้ามเนื้อลาย ‘ไม่มีอาการเฉพาะ’ ของโรค และอาการจะแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วยขึ้นกับว่าโรคเกิดกับอวัยวะใด, โดยอาการจะเหมือนกับโรคเนื้องอก หรือโรคมะเร็งต่างๆของอวัยวะนั้นเพราะเป็นอาการเกิดจากก้อนมะเร็ง กด เบียดทับ ลุกลาม ทำลายเนื้อเยื่อ ร่วมกับการก่อให้เกิดการอักเสบของอวัยวะนั้นๆเช่นเดียวกัน
อาการที่พบบ่อย คือ การมีก้อนเนื้อผิดปกติในอวัยวะที่เกิดโรค เช่น
- เมื่อโรคเกิดที่กล้ามเนื้อแขน ขา ลำตัว ใบหน้า: จะคลำได้ก้อนเนื้อที่โตเร็ว เช่น ที่ใบหน้า ต้นขา สะโพก
- เมื่อก้อนกดทับเส้นประสาท: จะส่งผลให้ปวดเจ็บที่ก้อน, และถ้าก้อนโตมากขึ้น จะแตกเป็นแผลเรื้อรัง เกิดเลือดออกเรื้อรังจากแผลได้
- เมื่อเกิดในบริเวณศีรษะ: เมื่อก้อนโตมากขึ้น จะมีอาการปวดหัวร่วมด้วย
- เมื่อเกิดในเบ้าตา: ตาจะบวม มองเห็นภาพซ้อน ตาพร่า/ตามัว
- เมื่อเกิดในระบบทางเดินปัสสาวะ: จะมีอาการ ปวดเบ่งเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะขัด /ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือด
- เมื่อเกิดในช่องท้อง หรือ ช่องท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน: จะมีอาการปวดท้อง/ปวดท้องน้อย เรื้อรัง ท้องผูกจากก้อนกดทับลำไส้ และอาจคลำได้ก้อนในท้อง/ท้องน้อยเมื่อก้อนเนื้อโตมาก
- เมื่อโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง: จะมีต่อมน้ำเหลืองบวม/โตคลำได้ เช่น ต่อมน้ำเหลืองหน้าใบหู หรือที่ลำคอโตเมื่อเป็นโรคที่เบ้าตา หรือ ที่ศีรษะและลำคอ, ต่อมน้ำเหลืองรักแร้โต ถ้าโรคเกิดที่แขน, ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบโต ถ้าโรคเกิดที่ขา, หรือต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้าโต เมื่อโรคเกิดในช่องท้อง/ท้องน้อย
- แต่มะเร็งชนิดนี้ มักไม่ค่อยลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง โดยจะลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในระยะท้ายๆของโรค
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เมื่อคลำพบก้อนเนื้อผิดปกติ หรือ มีก้อนเนื้อ หรือ ต่อมน้ำเหลืองที่โตเร็ว โตเกิน 1 เซนติเมตร หรือมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวแล้วใน‘หัวข้อ อาการฯ’
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายได้อย่างไร?
ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งกล้ามเนื้อลาย ได้จาก
- ประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆช่วงการตั้งครรภ์ ประวัติโรคในครอบครัว
- การตรวจร่างกาย การตรวจคลำก้อนเนื้อ
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) หรือเอมอาร์ไออวัยวะที่เกิดโรค
- อาจมีการส่องกล้องถ้าโรคเกิดที่อวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ
- แต่การวินิจฉัยที่แน่นอน คือการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
และเมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งกล้ามเนื้อลาย แพทย์จะมีการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาระยะโรคและเพื่อประเมินสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เช่น ตรวจเลือดดู การทำงานของ ตับ ไต, การตรวจปัสสาวะดูโรคของระบบทางเดินปัสสาวะ, เอกซเรย์ปอดดูโรคแพร่กระจายมาปอดและดูโรคหัวใจ, ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอมอาร์ไออวัยวะที่เกิดโรคถ้ายังไม่ได้ตรวจช่วงวินิจฉัยโรค, ตรวจอัลตราซาวด์ตับเพื่อดูโรคแพร่กระจายสู่ตับ, และ/หรือการตรวจสะแกนกระดูก ดูโรคแพร่กระจายเข้ากระดูก, และอาจเจาะตรวจไขกระดูกดูโรคแพร่กระจายเข้าไขกระดูก
โรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายมีกี่ระยะ?
การจัดระยะโรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายมีหลายระบบและยุ่งยากมากทุกระบบ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการจัดระบบตามแบบ ‘สมาคมโรคมะเร็งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society: ACS)’ กล่าวคือ จะขึ้นกับ 3 ปัจจัยหลัก (ก,ข,ค ดังจะกล่าวต่อไป) ร่วมกัน ได้แก่
- ระยะ 1: โรคเกิดในอวัยวะที่ธรรมชาติของโรคมักรุนแรงน้อย เช่น เบ้าตา, ศีรษะและลำคอ(ยกเว้นอวัยวะที่ลุกลามเข้าสมองได้ง่าย เช่น หู, จมูก, ไซนัส, ลำคอตอนบน), อวัยวะเพศและระบบทางเดินปัสสาวะ(ยกเว้น กระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมาก), ท่อน้ำดีส่วนนอกตับ, โดย
- ก้อนมะเร็งมีขนาดเท่าไรก็ได้ และลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียงได้แต่ไม่มาก,
- ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเฉพาะที่หรือไม่ก็ได้
- แต่ยังไม่แพร่กระจายทางกระแสเลือดและ/หรือกระแสระบบน้ำเหลือง
- ระยะ 2: ก้อนมะเร็งเกิดในเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่มีธรรมชาติของโรครุนแรง เช่น กระเพาะปัสสาวะ, ต่อมลูกหมาก, แขน,ขา,อวัยวะติด/ใกล้สมอง, และเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆที่ไม่ใช่กลุ่มมีธรรมชาติของโรครุนแรงน้อย และร่วมกับ
- ก้อนมะเร็งต้องโต 'ไม่เกิน 5 ซม.' และ ไม่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง
- ยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเฉพาะที่
- มะเร็งยังไม่แพร่กระจายทางกระแสเลือดและ/หรือกระแสระบบน้ำเหลือง
- ระยะ 3: ก้อนมะเร็งเกิดในเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่มีธรรมชาติของโรครุนแรงเช่นเดียวกับโรคระยะที่ 2 และร่วมกับ
- ก้อนมะเร็งต้องโต 'ไม่เกิน 5 ซม', แต่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเฉพาะที่
- ก้อนมะเร็งโตมากกว่า 5 ซม., โดยจะลุกลามหรือไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเฉพาะที่ก็ได้, และ
- มะเร็งยังไม่แพร่กระจายทางกระแสเลือดและ/หรือกระแสระบบน้ำเหลือง
- • ระยะ 4: ก้อนมะเร็งเกิดตำแหน่งใดก็ได้ ขนาดใดก็ได้ แต่
- แพร่กระจายทางกระแสเลือดแล้ว พบบ่อยที่ ปอด,รองลงไปคือ ตับ, กระดูก, และไขกระดูก
- และ/หรือ แพร่กระจายทางกระแสระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองนอกเหนือต่อมน้ำเหลืองเฉพาะที่
- กรุ๊ป/Group1: คือผู้ป่วยที่มะเร็งยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเฉพาะที่, ยังไม่แพร่กระจายทั้งทางกระแสเลือดและกระแสระบบน้ำเหลือง, และแพทย์ผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมดรวมถึงจากตาเปล่าและการตรวจทางพยาธิ(ย่อว่า R0)
- โรคกรุ๊ปนี้รวมผู้ป่วยเด็กที่โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเฉพาะที่ด้วยแต่ผ่าตัดออกได้ทั้งหมด (R0)
- กรุ๊ป2: ผู้ป่วยในกรุ๊ป1, แพทย์ผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้หมด แต่ผลการตรวจทางพยาธิ ยังพบมีเซลล์มะเร็งเหลืออยู่ (R1), แต่โรคยังไม่แพร่กระจายทั้งทางกระแสเลือดและกระแสระบบน้ำเหลือง
- กรุ๊ป3: แพทย์ไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้หมด ยังเหลือโดยเห็นได้จากตาเปล่า และโรคอาจลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเฉพาะที่, แต่โรคยังไม่แพร่กระจายทั้งทางกระแสเลือดและกระแสระบบน้ำเหลือง
- กรุ๊ป4: มะเร็งแพร่กระจายทั้งทางกระแสเลือดและกระแสระบบน้ำเหลืองแล้ว พบบ่อยที่ ปอด, รองลงไปคือ ตับ, กระดูก, และไขกระดูก
- กรุ๊ปความรุนแรงต่ำ (Low risk group): พบประมาณ 1/3 ของผู้ป่วย ได้แก่
- ก่อนผ่าตัดระยะโรค 1, หลังผ่าตัด กรุ๊ป 1-3, และ 'ไม่มี' พันธุกรรม/จีนชนิด 'PAX/FOX01 fusion gene'
- ก่อนผ่าตัดระยะโรค 2 หรือ 3, หลังผ่าตัด กรุ๊ป 1-2, และ 'ไม่มี' พันธุกรรม/จีนชนิด ‘PAX/FOX01 fusion gene’
- กรุ๊ปความรุนแรงปานกลาง (Intermediate risk group): พบประมาณ 1/2 ของผู้ป่วย ได้แก่
- ก่อนผ่าตัด ระยะโรค 2 หรือ 3, หลังผ่าตัด กรุ๊ป 3, และ ‘ไม่มี’ พันธุกรรม/จีนชนิด ‘PAX/FOX01 fusion gene’
- ผู้ป่วยระยะที่ยัง ’ไม่มี’ โรคแพร่กระจาย (ระยะ/กรุ๊ป4), แต่ ‘มี’ พันธุกรรม/จีนชนิด ‘PAX/FOX01 fusion gene’
- ผู้ป่วยเด็ก ’อายุน้อยกว่า’ 10 ปี ที่มะเร็งแพร่กระจาย (ระยะ/กรุ๊ป4), แต่ ‘ไม่มี’ พันธุกรรม/จีนชนิด ‘PAX/FOX01 fusion gene’
- กรุ๊ปความรุนแรงสูง (High risk group): พบประมาณ 20-30%ของผู้ป่วย ได้แก่
- เด็กอายุ 'ตั้งแต่' 10 ปีขึ้นไป ที่มะเร็งแพร่กระจาย (ระยะ/กรุ๊ป4), แต่ 'ไม่มี' พันธุกรรม/จีนชนิด ‘PAX/FOX01 fusion gene’
- เด็กทุกคนที่มะเร็งแพร่กระจาย (ระยะ/กรุ๊ป4) ,และ 'มี' พันธุกรรม/จีนชนิด ‘PAX/FOX01 fusion gene’
รักษาโรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายอย่างไร?
การรักษาหลักของมะเร็งกล้ามเนื้อลาย คือ การผ่าตัด และยาเคมีบำบัด ซึ่งอาจให้ยาเคมีบำบัดก่อนหรือหลังผ่าตัด ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา, ส่วนรังสีรักษา โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก (เด็กจะมีผลข้างเคียงจากรังสีรักษาสูงกว่าในผู้ใหญ่) แพทย์จะพิจารณาให้ในผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป ทั่วไปมักเป็นในผู้ป่วยที่ผ่าตัดมะเร็งออกได้ไม่หมด
โรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
มะเร็งกล้ามเนื้อลาย จัดเป็นมะเร็งที่มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ค่อยดี, โดยการพยากรณ์โรคจะขึ้นอยู่กับระยะโรค, ขนาดของก้อนมะเร็ง, ชนิดของเซลล์มะเร็ง, ตำแหน่งที่เกิดโรค, อายุ [ในเด็กการพยากรณ์โรคดีกว่าในผู้ใหญ่, ในเด็กเล็ก (ยกเว้นเด็กอ่อน) และที่อายุต่ำกว่า10ปี การพยากรณ์โรคดีกว่าในเด็กโต], อวัยวะที่โรคแพร่กระจาย (แพร่กระจายไปปอด การพยากรณ์โรคดีกว่าแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆ ยกเว้นมีการแพร่กระจายไปปอดในหลายตำแหน่งของปอด), การตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อยาเคมีบำบัด, และ สุขภาพพื้นฐานของผู้ป่วย
ในผู้ใหญ่: เนื่องจากเป็นโรคพบน้อย จึงไม่มีรายงานอัตรารอดที่ห้าปีที่ชัดเจน แพทย์จะประเมินอัตรารอดที่ห้าปีของผู้ป่วยผู้ใหญ่เป็นรายๆไป แต่อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์โรคของมะเร็งกล้ามเนื้อลายในผู้ใหญ่ จะเลวกว่าในเด็กมาก เพราะมักเป็นชนิดเซลล์ที่มีความรุนแรงโรคสูง, ระยะโรคมักสูงกว่า, และมักตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดได้ไม่ดีเท่าในเด็ก
ในเด็ก: แบ่งอัตรารอดที่ห้าปีตามกรุ๊ปความรุนแรงของโรค(ในหัวข้อ ระยะโรคมะเร็งฯ)
- กรุ๊ปความรุนแรงโรคต่ำ: การพยากรณ์โรคดี, อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 70-90%
- กรุ๊ปความรุนแรงโรคปานกลาง: การพยากรณ์โรคดีปานกลาง, อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 50-70%
- กรุ๊ปความรุนแรงโรคสูง: การพยากรณ์โรคไม่ดี: อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 0-30% ทั่วไป ถ้าอายุน้อยกว่า 10 ปี, เป็นชนิดเซลล์มะเร็งที่ความรุนแรงโรคต่ำ, และตอบสนองดีต่อยาเคมีบำบัด อัตรารอดฯมักประมาณ 20%-30%
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งกล้ามเนื้อลายก่อนที่จะมีอาการ ดังนั้น เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวใน 'หัวข้ออาการฯ' โดยเฉพาะการคลำพบก้อนเนื้อที่โตเร็วควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
ป้องกันโรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายอย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันมะเร็งกล้ามเนื้อลาย แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆของมารดาในช่วงก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ในเด็กลงได้บ้าง
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในมะเร็งทุกชนิดที่รวมทั้งโรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายจะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ แนะนำอ่านรายละเอียดการดูแลฯเพิ่มเติมจาก เว็บ haamor.com บทความเรื่อง
- การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
*อนึ่ง: การดูแลผู้ป่วยมะเร็งในเด็กและในผู้ใหญ่ จะใกล้เคียงกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ แต่สำหรับในเด็กแพทย์/พยาบาลจะแนะนำการดูแลเป็นแต่ละรายไป, ผู้ปกครองต้องเอาใจใส่เด็กป่วยเป็นพิเศษและต้องสื่อสารแทนเด็กกับแพทย์/พยาบาล เพราะเด็กไม่สามารถบอกเล่าอาการต่างๆได้ และยังไม่สามารถดูแลตนเองได้ดีพอ ถึงแม้ในเด็กโตหรือวัยรุ่นจะพอดูแลตนเองได้ในบางเรื่องก็ตาม
บรรณานุกรม
- Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia.
- Rojanamatin.J.et al.(2021).Cancer in Thailand Vol X, 2016-2018,Thailand
- https://www.cancer.org/cancer/rhabdomyosarcoma/detection-diagnosis-staging/staging.html [2023,Feb18]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Rhabdomyosarcoma [2023,Feb18]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK507721/ [2023,Feb18]