ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลัง (Post lumbar puncture headache)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 31 มีนาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังคืออะไร?
- ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังเกิดจากสาเหตุใด?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลัง?
- ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อใด?
- แพทย์ให้การวินิจฉัยภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังอย่างไร?
- การรักษาภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังมีวิธีใดบ้าง?
- ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
- ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ควรดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังป้องกันได้หรือไม่?
- ปวดหัว ปวดศีรษะ (Headache)
- เวียนศีรษะ (Dizziness)
- การเจาะน้ำไขสันหลัง การเจาะหลัง (Lumbar puncture)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
บทนำ
การเจาะตรวจ น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง/ซีเอสเอฟ (Cerebrospinal fluid ย่อว่า CSF) จากการเจาะหลัง (Lumbar puncture) นั้น มีการเจาะตรวจในกรณีที่สงสัยการติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ), ในไข้สมองอักเสบบางกรณี, นอกจากนั้น การเจาะหลังยังทำเพื่อการฉีดใส่ยาชาเข้าสู่โพรงใต้เยื่อหุ้มสมอง/เยื่อไขสันหลังชั้นกลาง (Intrathecal injec tion) เพื่อให้ยากดการทำงานของเส้นประสาทไขสันหลัง เพื่อให้เกิดการชาในส่วนต่างๆของร่างกาย (เช่น เพื่อการคลอดบุตร) และเพื่อการฉีดยาเคมีบำบัดในกรณีรักษาโรคมะเร็งบางชนิด
ผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่เกิดจากการเจาะหลังนั้นพบน้อยมาก ที่ก่อให้เกิดอาการผิด ปกติ มีทั้งที่เกิดอันตรายรุนแรง (พบน้อยมากๆ) เช่น ภาวะเลื่อนกดทับของเนื้อสมองต่อก้านสมอง (Brain herniation) ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ (อาจพบได้กรณีมีความดันในโพรงกะ โหลกศีรษะสูงมากๆ หรือมีก้อนเนื้องอกสมอง หรือก้อนเลือดในสมอง) และ “ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลัง (Post lumbar puncture headache)” ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อย แต่ไม่รุนแรง ซึ่งภาวะปวดศีรษะสาเหตุนี้เป็นอย่างไร ต้องติดตามจากบทความนี้ แล้วท่านจะทราบว่า ต้องดู แลตนเองอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าว
ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังคืออะไร?
ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลัง คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะภายหลังจากการถูกเจาะหลัง โดยอาการปวดศีรษะนั้นจะเป็นมากขึ้นเวลาลุกขึ้นนั่งหรือยืน แต่จะดีขึ้นเมื่อล้มตัวลงนอน
ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลัง พบได้บ่อยในผู้ที่ถูกเจาะหลัง บางการศึกษาพบได้ถึง 40%ของผู้ที่ถูกเจาะหลัง แต่เป็นอาการที่มักไม่รุนแรง และมักดูแลรักษาได้หายเสมอ
ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังเกิดจากสาเหตุใด?
ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลัง เกิดจากมีการรั่วของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง(CSF) ออกทางรูที่ถูกเจาะหลัง เนื่องจากเข็มที่ใช้เจาะหลังนั้น ทำให้มีการฉีกขาดของเยื่อหุ้มสมอง/เยื่อหุ้มไขสันหลังชั้นนอก (ชั้นดูรา: Dura) และเมื่อดึงเข็มออกมา ก็ยังมีรูรั่วนั้นอยู่ ทำให้มีการรั่วของ CSF ออกมา จึงเกิดการเลื่อนไหลของเนื้อสมองลงมา เป็นเหตุทำให้มีการดึงรั้งของเยื่อหุ้มสมอง จึงเกิดอาการปวดศีรษะขึ้น และอาจเกิดได้จากการลดลงของปริมาณ CSF จึงทำให้มีการกระตุ้นตัวรับของสารเคมีบางชนิดในสมองเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดสมอง และกระตุ้นให้สมองไว (ตอบสนอง) ต่อการเจ็บปวดมากขึ้น
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลัง?
ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลัง พบในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชาย พบได้ในทุกกลุ่มอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบในกลุ่มอายุ 18-30 ปีมากกว่ากลุ่มอายุอื่น, เคยมีประวัติเกิดภาวะนี้มาก่อนเมื่อเจาะหลังในครั้งก่อนๆ, เป็นผู้ป่วยที่ต้องใช้เข็มเจาะหลังขนาดใหญ่, เคยถูกเจาะหลังมาก่อนแล้วหลายครั้ง, และ/หรือหลังเจาะ หลังออกแรงเบ่ง เช่น ยกของหนัก หรือเบ่งอุจจาระจากท้องผูก หรือ ไอ จาม รุนแรง (เพราะเพิ่มโอกาสให้ CSF รั่วได้มากขึ้น)
ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังมีอาการอย่างไร?
อาการที่เกิดขึ้นจากภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังนั้น ที่เด่นที่สุดคือ อาการปวดศีรษะบริเวณ 2 ข้างของศีรษะ มักเกิดขึ้นภายใน 1-2 วันแรกหลังจากเจาะหลัง (แต่บางรายอาจเกิดหลังเจาะหลังนานถึงประมาณ 12 วัน) และอาการมักหายใน 14 วันหลังเจาะหลัง อาการปวดศีรษะที่มีลักษณะเฉพาะอีกประการคือ อาการปวดศีรษะเกิดหลังจากลุกขึ้นนั่งหรือยืนประมาณ 15 นาที และอาการจะดีขึ้นเมื่อล้มตัวลงนอน ซึ่งอาการปวดมักหายไปภายใน 30 นาที ลักษณะการปวดเป็นแบบตื้อๆ หรือตุ๊บๆ บริเวณหน้าผากและท้ายทอย แต่เมื่อเป็นมาก ก็ปวดทั่วทั้งศีรษะ บางรายร้าวมาที่ต้นคอและไหล่ ทั้งนี้ การไอ จาม เบ่ง กดที่ตา จะทำให้มีอาการปวดศีรษะมากขึ้น บางรายอาจมีอาการปวดหลัง คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ หูอื้อ มีเสียงดังในหู มองเห็นภาพซ้อน เส้นประสาทสมองเป็นอัมพาต หรือแม้กระทั่งมองไม่เห็นเลย (ตาบอดเหตุจากสมอง)
ควรพบแพทย์เมื่อใด?
ผู้ป่วยที่ได้รับการเจาะหลัง ส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่ถ้ามีอาการที่บ้าน แนะนำว่าควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการข้างต้น
แพทย์ให้การวินิจฉัยภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลัง จากอาการปวดศีรษะที่มีลักษณะข้างต้น และที่เกิดขึ้นหลังจากมีประวัติการตรวจรักษาด้วยการเจาะหลัง โดยเฉพาะที่เคยมีอาการปวดศีรษะจากเจาะหลังมาก่อน ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องตรวจสืบค้นเพิ่มเติม
การรักษาภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังมีวิธีใดบ้าง?
การรักษาภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลัง คือ การนอนพัก/นอนราบ (หลังเจาะหลัง) เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง (ทั่วไปประมาณ 2-8 ชั่วโมงก่อนแพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้าน ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงการเกิดอาการปวดศีรษะ ตามที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง) ดื่มน้ำมากขึ้นเพื่อชดเชย CSF ที่เจาะและที่รั่วออกมา ทานอาหารรสเค็ม พยายามไม่ไอ ไม่ออกแรงเบ่ง ซึ่งถ้าแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว ก็ต้องพยายามนอนพักเหมือนช่วงอยู่โรงพยาบาล อย่างน้อยประมาณ 48 ชั่วโมงหลังเจาะหลัง หรือตามแพทย์ที่ให้การรักษาแนะนำ
แต่ถ้าเกิดอาการปวดศีรษะ และอาการไม่ดีขึ้นหลังการนอนพัก แพทย์จะพิจารณาให้ยา สเตียรอยด์
และถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นหลังได้รับสเตียรอยด์ แพทย์จะพิจารณาฉีดเลือดของผู้ป่วยเพื่อเข้าไปปิดรูรั่วของ CSF ที่เรียกวิธีการนี้ว่า Epidural blood patch
หมายเหตุ: การทำ Epidural blood patch คือการที่แพทย์เจาะเลือดผู้ป่วยประมาณ 10-20 ซีซี (CC., cubic centimeter) แล้วฉีดเหมือนกับทำการเจาะหลังใหม่ แต่เป็นการฉีดเลือดเข้าไปในชั้นในก่อนที่จะเข้าไปในโพรงเยื่อหุ้มสมอง/เยื่อหุ้มไขสันหลัง เพื่อให้เลือดที่ฉีดนี้ ไหลไปฉาบเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (ชั้นดูรา) ในตำแหน่งที่เกิดรูรั่วของ CSF ซึ่งเมื่อเลือดมีการแข็งตัว ก็จะทำให้รูรั่วนั้นถูกปิดไปได้ โดยส่วนใหญ่แล้ว การรักษาได้ผลประมาณ 70-80%
ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ที่พบบ่อยจากภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังคือ อาการปวดศีรษะเวลาเปลี่ยนท่า (โดยเฉพาะในระยะยาว) และผู้ป่วยบางรายเกิดภาวะปวดศีรษะสาเหตุจากความดันในกะโหลกศีรษะต่ำ (Low CSF pressure) นอกจากนั้น คือ อาจก่อให้เกิดอาการ วิงเวียนศีรษะ มึนงง ตาพร่ามัว และบางรายเกิดภาวะเลือดออกที่ผิวสมอง (ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก) ได้ จากการที่สมองมีการเคลื่อนลงต่ำ จึงก่อให้เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดระหว่างกะโหลกศีรษะและเยื่อหุ้มสมอง
ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังมีการพยากรณ์โรคอย่าไร?
การพยากรณ์โรคในภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลัง ส่วนมากรักษาได้ผลดี โดยทั่วไปอา การดีขึ้นในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
การเกิดอาการปวดศีรษะเหตุเจาะหลังนั้น สามารถเป็นซ้ำได้ ถึงแม้จะไม่ได้เจาะหลังซ้ำ ซึ่งพบได้ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการยังไม่หายเป็นปกติดี และไปมีเหตุที่เพิ่มความดันในช่องท้อง ช่องอก (เช่น ออกแรงเบ่ง ไอ จาม) และทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของความดันในโพรงกะโหลกศีรษะ ทำให้มีการฉีกขาดของเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (ชั้นดูรา) เพิ่มขึ้นมาอีก ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ต้องแนะนำให้ผู้ป่วยไม่ควรออกแรงเบ่ง ไอ จามอย่างแรงติดต่อกัน หรือยกของหนัก เพราะอาจทำให้เกิดอาการต่างๆกำเริบได้
หมายเหตุ: การถูกเจาะหลังซ้ำในผู้ที่เคยมีประวัติการปวดศีรษะเหตุเจาะหลังมาก่อน ก็จะเพิ่มโอกาสการเป็นซ้ำได้สูงขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยส่วนบุคคลที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะดังกล่าวอยู่แล้ว ร่วมกับการเจาะหลังซ้ำก็จะทำให้เกิดการฉีกขาดของเยื่อหุ้มสมองชั้นดูรา ทำให้เกิดรูรั่วได้ใหม่ หรือเป็นรูรั่วในตำแหน่งเดิมที่ยังไม่หายดีเป็นปกติ ก็จะส่งผลให้เกิดอาการได้บ่อยขึ้น ส่วนในผู้ที่ไม่เคยเกิดอาการมาก่อนแต่ต้องถูกเจาะหลังซ้ำหลายๆครั้ง ก็ย่อมเป็นการเพิ่มโอกาสการเกิดมากกว่าผู้ที่ถูกเจาะหลังเพียงครั้งเดียว
ควรดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองของผู้ป่วยที่เกิดภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลัง คือ
- ต้องไม่เพิ่มแรงดันใน ช่องท้อง ช่องอก จึงไม่ควรออกแรงยกของหนัก ออกแรงเบ่ง ไอ จาม อย่างแรง
- ควรดื่มน้ำมากขึ้น
- ทานอาหารเค็ม ก็อาจช่วยทำให้อาการดีขึ้น
- เวลาลุกขึ้น ก็ค่อยๆเปลี่ยนท่าทาง จนกว่าอาการต่างๆจะหายเป็นปกติ
- นอกจากนั้น คือ การปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ และ
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
ผู้ป่วยภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลัง ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- มีอาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้น
- มีอาการตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน
- มีอาการวิงเวียนศีรษะที่รุนแรง
- กังวลในอาการ
ภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลังป้องกันได้หรือไม่?
การป้องกันภาวะปวดศีรษะเหตุเจาะหลัง ทำได้โดย
- พยายามนอนพักโดยนอนราบหลังจากเจาะหลัง ลุกขึ้นเท่าที่จำเป็นอย่างน้อย ภาย ใน 48 ชั่วโมงหลังเจาะหลัง หรือตามแพทย์ผู้รักษาแนะนำ ร่วมกับดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้นให้เพียงพอ เพื่อชดเชย CSF ที่เจาะ และที่รั่วออกมา
- หลังจากเจาะหลังแล้ว 1-2 วันแรก ไม่ควรออกแรงเบ่ง ไอ จาม หรือ ท้องผูก ไม่ควรยกของหนัก