การเจาะน้ำไขสันหลัง การเจาะหลัง (Lumbar puncture)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 10 มีนาคม 2556
- Tweet
- บทนำ
- การเจาะน้ำไขสันหลังคืออะไร?
- น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังคืออะไร?
- ข้อบ่งชี้ของการเจาะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังมีอะไรบ้าง?
- การเจาะน้ำไขสันหลังมีวิธีทำอย่างไร?
- ต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนเจาะน้ำไขสันหลัง?
- มีอันตรายจากการเจาะน้ำไขสันหลังไหม?
- มีข้อห้ามในการเจาะน้ำไขสันหลังไหม?
- การปฏิบัติตนหลังจากเจาะน้ำไขสันหลังควรทำอย่างไร?
- การเจาะน้ำไขสันหลังมีผลเสียระยะยาวหรือไม่?
- ภายหลังตรวจต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลหรือไม่?
- หลังการตรวจกรณีไหนบ้างที่ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ก่อนนัด?
- เจาะน้ำไขสันหลังซ้ำได้บ่อยไหม? ควรห่างกันนานเท่าไร?
- ดูแลแผลเจาะอย่างไร?
- หลังเจาะน้ำไขสันหลังมีข้อห้ามอะไรบ้าง?
- สรุป
บทนำ
“เดี๋ยวหมอขออนุญาตเจาะตรวจน้ำไขสันหลังนะครับ” ผมเชื่อว่าถ้าท่านได้ยินประ โยคนี้ คงมีความสงสัยว่า สิ่งที่หมอจะทำนั้นคืออะไร มันเสี่ยงไหม อันตรายไหม แล้วทำไปทำ ไม ทำไมไม่ส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT-scan brain) หรือสนามแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอ (MRI) แล้วมันจะมีผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนหรือไม่ สารพันคำถามเกี่ยวกับการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง หรือ การเจาะน้ำไขสันหลัง หรือ การเจาะหลัง หรือ Lumbar puncture หรือ Spinal tap ซึ่งแพทย์ชอบเรียกย่อว่า แอลพี (LP) นั้น ท่านสามารถไขข้อสงสัยจากบท ความนี้ได้ครับ
การเจาะน้ำไขสันหลังคืออะไร?
การเจาะน้ำไขสันหลังคือ การที่แพทย์แทงเข็มเฉพาะสำหรับเจาะตรวจน้ำไขสันหลังเข้าไปในช่องว่างใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง (Subarachnoid space) เพื่อนำน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid:CSF) มาตรวจวินิจฉัยโรค หรือเพื่อฉีดยาชาเข้าไปในช่องใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมองเพื่อใช้ในการระงับปวด หรือเพื่อการฉีดยาบางชนิด เพื่อรักษาโรคของเยื่อหุ้มสมอง เช่น การให้ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็งที่แพร่กระจายเข้าเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น
น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังคืออะไร?
น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง หรือที่เรียกย่อว่า ซีเอสเอฟ (CSF) คือ ของเหลวที่อยู่ในชั้นใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง ทำหน้าที่พยุงสมองและไขสันหลังไว้ไม่ให้เกิดการเลื่อนไหลของสมองและของไขสันหลัง ซึ่งเมื่อมีความผิดปกติของเยื่อหุ้มสมองหรือของไขสันหลังรวมทั้งของเนื้อสมอง ก็จะส่งผลให้มีความผิดปกติของ CSF จึงเป็นเหตุผลที่แพทย์ต้องนำ CSF มาตรวจในกรณีที่สงสัยว่าจะมีความผิดปกติของเยื่อหุ้มสมองและ/หรือของไขสันหลัง
ข้อบ่งชี้ของการเจาะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังมีอะไรบ้าง?
ข้อบ่งชี้ของการเจาะ CSF ประกอบด้วย
- เพื่อการรักษา เช่น
- การเจาะระบาย CSF ในภาวะโพรงน้ำในสมองโต เพื่อเป็นการลดความดันในโพรงกะโหลกศีรษะ
- การฉีดยาเคมีบำบัด (Intrathecal injection) ในการรักษาโรคมะเร็งที่แพร่กระจายมายังเยื่อหุ้มสมอง
- และการฉีดยาชาเพื่อระงับการปวดในการผ่าตัดบางชนิด
- เพื่อการวินิจฉัยโรค เช่น ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบติดเชื้อ ภาวะการอักเสบของไขสันหลังและ/หรือของเส้นประสาท เป็นต้น
การเจาะน้ำไขสันหลังมีวิธีทำอย่างไร?
ขั้นตอนหลักในการเจาะน้ำไขสันหลัง มีดังนี้
- จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนตะแคงให้นอนชิดขอบเตียง และงอเข่าให้ชิดหน้าอก
- ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะเจาะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งตำแหน่งที่แพทย์จะเจาะคือ บริเวณรอยต่อของกระดูกสันหลังระดับเอว (Lumbar spine) ข้อที่ 2 และ 3
- ฉีดยาชาบริเวณที่จะเจาะ
- ใช้เข็มปลายแหลมเฉพาะเพื่อการเจาะ CSF แทงเข้าไปในตำแหน่งในข้อ 2
- เมื่อได้ CSF แล้ว แพทย์จะต่อท่อเพื่อวัดความดันน้ำไขสันหลัง
- ดูดเก็บ CSF (ภายหลังการวัดความดันดังกล่าว) ในปริมาณที่เพียงพอต่อการส่งตรวจ หรือ ต่อการระบาย CSF ออกมาจนปริมาณ และ/หรือระดับความดันได้เท่าที่แพทย์ต้องการ ถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นการตรวจ แพทย์ก็จะดึงเข็มเจาะออก เช็ดทำความสะอาดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และปิดแผล
ทั้งนี้ โดยใช้เวลาตรวจนานตั้งแต่ต้นจนแล้วเสร็จประมาณ 10-20 นาที ขึ้นกับความยากง่ายในผู้ป่วยแต่ละคน
ต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนเจาะน้ำไขสันหลัง?
การเตรียมตัวก่อนการเจาะตรวจน้ำไขสันหลังไม่มี ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร เพียงแค่ทำความเข้าใจว่า สิ่งที่จะต้องทำนั้นคืออะไร และประโยชน์ที่เกิด ขึ้นนั้นคือ การวินิจฉัยโรคและให้การรักษาที่ถูกต้อง
มีอันตรายจากการเจาะน้ำไขสันหลังไหม?
โอกาสเกิดอันตราย หรือ ผลข้างเคียง หรือ ภาวะแทรกซ้อนจากการเจาะตรวจน้ำไขสันหลังมีน้อยมาก เช่น ภาวะปวดศีรษะ ปวดหลังช่วงล่าง อย่างไรก็ตาม บางครั้งอาจมีภาวะแทรก ซ้อนที่ร้ายแรงได้ คือ ภาวะเลื่อนกดทับก้านสมอง (Brainstem herniation,อาการคือ หัวใจหยุดเต้น หยุดหายใจ โคม่า และมักเสียชีวิต) แต่ก็เป็นภาวะที่พบน้อยมากๆ เฉพาะกรณีผู้ป่วยมีภาวะความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูงมากๆ และ/หรือมีการเจาะระบาย CSF ออกมาเป็นจำ นวนมาก
มีข้อห้ามในการเจาะน้ำไขสันหลังไหม?
ข้อห้ามในการเจาะตรวจน้ำไขสันหลังมีหลายข้อ ได้แก่
- มีก้อนเนื้องอกหรือก้อนเลือดในสมอง หรือมีภาวะใดๆที่มีความผิดปกติในเนื้อสมองที่ส่งผลให้มีความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูงขึ้น
- มีภาวะความดันในโพรงกะโหลกศีรษะที่สูงมากๆ จนส่งผลให้ผู้ป่วย ง่วงซึมลง หรือเกิดภาวะก้านสมองถูกกดทับ
- มีภาวะเลือดออกง่าย
- มีแผลบริเวณตำแหน่งที่จะทำการแทงเข็มเจาะหลัง
- มีภาวะติดเชื้อบริเวณที่จะแทงเข็มเจาะหลัง
- ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ ดิ้นไปมา (ถ้าจำเป็น อาจต้องทำการให้ยานอนหลับจนสงบก่อน
การปฏิบัติตนหลังจากเจาะน้ำไขสันหลังควรทำอย่างไร?
ภายหลังการเจาะน้ำไขสันหลังเสร็จ แพทย์จะให้นอนพักประมาณ 6-8 ชั่วโมง แต่ก็สา มารถลุกเดินได้เท่าที่จำเป็น เช่น เข้าห้องน้ำ ทั้งนี้ เพื่อลดโอกาสการเกิดอาการปวดศีรษะ และถ้ามีอาการปวดบริเวณที่แทงเข็มก็ให้ทานยาแก้ปวดได้
การเจาะน้ำไขสันหลังมีผลเสียระยะยาวหรือไม่?
ผลเสียระยะยาวของการเจาะน้ำไขสันหลัง ไม่มีอย่างแน่นอน ยกเว้นอาจมีอาการปวดหลังบริเวณเจาะเล็กน้อยในระยะแรกๆ
ภายหลังตรวจต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลหรือไม่?
ภายหลังเจาะน้ำไขสันหลัง การจะต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อบ่ง ชี้ของการเจาะหลัง กรณีต้องรักษาโรคต่อเนื่อง ก็อาจต้องอยู่โรงพยาบาล ตามวิธีการรักษาโรคนั้นๆ (เช่น กรณีต้องให้ยาเคมีบำบัดต่อในการรักษาโรคมะเร็ง) แต่กรณีถ้าเจาะน้ำไขสันหลังเพื่อการตรวจวินิจฉัยโรค และยังไม่มีการรักษาในขณะนั้น ผู้ป่วยเพียงแค่นอนพัก 4-8 ชั่วโมง ก็สา มารถกลับบ้านได้และมาพบแพทย์ตามนัด
หลังการตรวจกรณีไหนบ้างที่ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ก่อนนัด?
กรณีหลังการเจาะตรวจเรียบร้อยและแพทย์นัดมาฟังผลตรวจภายหลัง แต่ถ้าผู้ป่วยมีอา การผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะมาก วิงเวียนศีรษะ อาเจียน ตาพร่ามัว ปวดบริเวณที่เจาะมาก หรือง่วงซึมลง ต้องรีบมาพบแพทย์ก่อนนัด หรือฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เพื่อให้แพทย์ประเมินว่า อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร จำเป็นต้องให้การรักษาอย่างไร เร่งด่วนหรือไม่
เจาะน้ำไขสันหลังซ้ำได้บ่อยไหม? ควรห่างกันนานเท่าไร?
โดยทั่วไปแล้ว การเจาะตรวจน้ำไขสันหลังมักไม่มีความจำเป็นต้องทำซ้ำ ยกเว้นเป็นการรักษา เข่น การฉีดยาเคมีบำบัด (Intrathecal injection) หรือการระบาย CSF เพื่อลดความดันในสมอง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นแต่ละกรณี และตามความรุนแรงของโรค
ดูแลแผลเจาะอย่างไร?
แผลที่เกิดจากการแทงเข็มเจาะนั้นไม่มีความจำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะรอยที่เกิดจากการแทงเข็มมีขนาดเล็กมาก เหมือนกับการเจาะเลือด ดังนั้นเพียงแค่ได้รับการปิดผ้าก๊อสหรือปลาสเตอร์เหนียวให้แน่น เพื่อเป็นการป้องกันการซึมของเลือดบริเวณตำแหน่งที่แทงเข็มเท่านั้น โดยติดไว้นานประมาณ 4-6 ชั่วโมงก็สามารถเอาที่ปิดออก อาบน้ำ ทำความสะอาดได้ตามปกติ
หลังเจาะน้ำไขสันหลังมีข้อห้ามอะไรบ้าง?
ภายหลังการเจาะตรวจน้ำไขสันหลังไม่มีข้อห้ามใดๆ กินอาหาร ดื่มน้ำได้ตามปกติ เพียงมีคำแนะนำให้นอนพักประมาณ 4-8 ชั่วโมง ลุกเดินได้เท่าที่จำเป็น และไม่ควรออกแรงยกของหนักหรือออกแรงเบ่งมาก เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยก็ไม่ ได้ทำกิจกรรมดังกล่าวอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยมีระดับความรู้สึกตัวที่ไม่ดี และแพทย์ต้องสังเกตอาการของโรคซึ่งข้อห้ามนั้นๆเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคเท่านั้น
สรุป
การเจาะน้ำไขสันหลัง เป็นการตรวจที่ไม่เจ็บมาก ไม่ต้องดมยาสลบ ตรวจที่ห้องตรวจผู้ ป่วยนอกได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล
ดังนั้นเมื่อท่านอ่านบทความ และพอเข้าใจในเรื่องการเจาะน้ำไขสันหลังแล้ว คงสบายใจขึ้นว่าสิ่งที่แพทย์จะทำการตรวจนั้น ไม่น่ากลัวอย่างที่ท่านคิด แต่มีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างมาก