ฟีเนไทลามีน (Phenethylamine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สาร/ยาฟีเนไทลามีน(Phenethylamine ย่อว่า PEA หรือ Beta-phenylethylamine ย่อว่า Beta-PEA หรือ 2-Phenylethan-1-amine) เป็นสารประกอบอินทรีย์ประเภทโมโนเอมีนแอลคาลอยด์ (Natural monoamine alkaloid) ร่างกายมนุษย์สามารถผลิตสารประกอบชนิดขึ้นได้เองโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สมอง และเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่ชอบรวมตัวกับตัวรับ(Receptor)ชนิด 5-HT2A receptor(5-hydroxytryptamine 2A receptor) ส่งผลทำให้มี การปรับสภาพอารมณ์ ความรู้สึก และการรับรู้ได้ดีขึ้น อาจสร้างความเคลิบเคลิ้ม สงบสบาย ร่วมด้วย หรืออาจกล่าวว่า ยาฟีเนไทลามีนมีฤทธิ์เสมือนสาร/ยาหลอนประสาทแบบอ่อนๆก็ได้ อย่างไรก็ตาม ยาฟีเนไทลามีนมีการคงสภาพทางเคมีในร่างกายของคนเราเพียงระยะเวลาสั้นๆ จึงทำให้มีอิทธิพลกระตุ้นสมองได้ไม่นาน และอาจเป็นกลไกรักษาสมดุลของสารสื่อประสาทตามธรรมชาติ

นักวิทยาศาตร์พบว่ายาฟีเนไทลามีนถูกใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อสร้างสารสื่อประสาทตัวอื่นๆ เช่น Adrenaline, Dopamine, และ Noradrenaline ขณะที่มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่สารสื่อประสาทเหล่านี้จะถูกร่างกายนำมาใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างคำสั่งในลักษณะของสัญญาณประสาทที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกและภายในร่างกาย

ประโยชน์ของฟีเนไทลามีนมีอะไรบ้าง?

ฟีเนไทลามีน

การกระตุ้นสมองของยาฟีเนไทลามีนโดยตัวยาจะเข้าร่วมตัวกับตัวรับชนิด 5-HT2A receptor ในสมอง ยาฟีเนไทลามีนจะช่วยปรับสภาพอารมณ์การรับรู้ของสมองต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคมรอบข้างได้ดีขึ้น มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากขึ้น หรืออาจทำให้เกิดอารมณ์ชื่นชอบเสน่หากับเพศตรงข้ามหรือกับสิ่งของ วัตถุ ต่างๆ นอกจากนี้ ยังช่วยลดอาการซึมเศร้าอีกด้วย

ยาฟีเนไทลามีนยังถูกนำไปเป็นสารตั้งต้นเพื่อการสังเคราะห์สารสื่อประสาทชนิดอื่น เช่น Adrenaline, Dopamine, และ Noradrenaline ทางธุรกิจได้นำเอายาฟีเนไทลามีนมาผลิตในรูปแบบของ อาหารเสริม โดยมีการกล่าวอ้างสรรพคุณลดอาการซึมเศร้า ทำให้สมองมีความรู้สึกสดชื่น มีความเตรียมพร้อม และยังช่วยลดน้ำหนักตัว/ยาลดความอ้วน ผู้บริโภคจึงควรใช้ดุลยพินิจก่อนที่จะเลือกใช้อาหารเสริมประเภทต่างๆ อาจขอคำแนะนำจาก แพทย์ เภสัชกร หรือจากโภชนากร เพื่อสร้างความชัดเจน และสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์อย่างแท้จริง

ผลกระทบหรือผลข้างเคียงจากการได้รับฟีเนไทลามีนมากเกินไปมีอะไรบ้าง?

ยาฟีเนไทลามีน เป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่ร่างกายมนุษย์สร้างขึ้นเองได้เองตามธรรมชาติ โดยอาศัยปัจจัยของอาหารที่รับประทานเข้าไป เช่น Tyrosine การพักผ่อน การออกกำลังกาย อย่างเหมาะสม จะทำให้สารสื่อประสาทชนิดนี้ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาเอง การได้รับยาฟีเนไทลามีนเพิ่มเติมเข้าไปเกินความจำเป็น อาจทำให้เกิดผลกระทบ/ผลข้างเคียง ดังนี้ เช่น

ก. ผลกระทบทางกาย:

  • ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อย
  • เกิดการหลั่งเหงื่อออกมามาก
  • หัวใจเต้นเร็วขึ้น
  • ความดันโลหิตสูงขึ้น
  • การมองเห็นภาพเลือนราง ตาพร่า

ข. ผลกระทบต่อจิตใจและการรับรู้:

  • อาจกระตุ้นให้มีอาการวิตกกังวล หรือไม่ก็ช่วยระงับความวิตกกังวลโดยขึ้นกับการตอบสนองของแต่ละบุคคล
  • การยับยั้งชั่งใจทำได้ไม่ดีเหมือนปกติ
  • เกิดอาการนกเขาไม่ขันชั่วคราว
  • กรณีผู้ป่วยด้วยโรคอารมณ์สองขั้ว(Bipolardisorder) หากได้รับยาฟีเนไทลามีน มากเกินปกติ จะไปกระตุ้นให้เกิดอาการคลุ้มคลั่งมากกว่าปกติ
  • การใช้ยาฟีเนไทลามีนกับผู้ป่วยโรคจิตเภท สามารถกระตุ้นสมองอาจทำให้เห็นภาพหลอน และเกิดความเข้าใจผิด/หวาดระแวง ต่างๆตามมา

อนุพันธ์ของฟีเนไทลามีนมีอะไรบ้าง?

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าสารสื่อประสาทฟีเนไทลามีน สามารถนำมาเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารประกอบที่เป็นอนุพันธ์ของยาฟีเนไทลามีนได้มากมายหลายชนิด เช่น

  • Meta-tyramine (สารในการปรับการทำงานของเซลล์/Neuromodulator) และ Para-tyramine (สารที่มีคุณสมบัติเหมือน Tyramine) ถูกสังเคราะห์โดยการเติมหมู่ –OH 1 หมู่ในโครงสร้างของสารฟีเนไทลามีนตรงบริเวณที่เรียกว่า วงเบนซีน(Benzene ring)
  • Dopamine ถูกสังเคราะห์โดยเติมหมู่ –OH 2 หมู่ในบริเวณวงเบนซีน/Benzineของฟีเนไทลามีน
  • Noradrenaline หรือ Noradrenalin หรือ Norepinephrine ถูกสังเคราะห์โดยเติมหมู่ –OH 3 หมู่ ลงในโครงสร้างสารฟีเนไทลามีน
  • Adrenaline หรือ Adrenalin หรือ Epinephrine สังเคราะห์ขึ้นโดยเติมหมู่ –OH 3 หมู่ และหมู่ CH3 1 หมู่ลงในสารฟีเนไทลามีน

ด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน ทำให้การปรับแต่งโครงสร้างของสารฟีเนไทลามีน โดยการเติมหมู่อะตอมต่างๆเข้าที่ตำแหน่งต่างๆ ก่อให้เกิดเป็นสารประกอบที่ใช้เป็นประโยชน์ในทางยามากมาย เช่น Norfenefrine, Phenylephrine, 6-Hydroxydopamine, Salbutamol, β-Methylphenethylamine, Amphetamine, N-Methylphenethylamine, Methamphetamine, Phentermine, Ortetamine, Ephedrine, Pseudoephedrine, Cathine, Cathinone, Methcathinone, Mephedrone, Ethcathinone, Bupropion, Norfenfluramine, Fenfluramine, MDA, MDEA, MDMA, MDMC, Mescaline, Proscaline, Metaescaline, Allylescaline, Methallylescaline, DOM(2,5-Dimethoxy-4-methylamphetamin หรือในตลาดมืด คือ "Serenity tranquility and peace ย่อว่า STP ), DOB (Dimethoxybromoamphetamine หรือ Brolamfetamine หรือ Bromo-DMA), DOI (2,5-Dimethoxy-4-iodoamphetamine)

ซึ่งสารประกอบที่สังเคราะห์ได้ดังกล่าว ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคทางจิตประสาท/โรคทางจิตเวช โรคหวัด หรือ โรคของหลอดลม ตลอดจนกระทั่งใช้เป็นยากระตุ้นทำให้เบื่ออาหาร(ยาลดความอ้วน) เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Phenethylamine [2018,Feb24]
  2. https://psychonautwiki.org/wiki/Phenethylamine [2018,Feb24]
  3. https://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-1274-phenethylamine.aspx?activeingredientid=1274&activeingredientname=phenethylamine [2018,Feb24]
  4. https://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-1274-phenethylamine.aspx?activeingredientid=1274&activeingredientname=phenethylamine [2018,Feb24]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Substituted_phenethylamine [2018,Feb24]