ฟีบัคโซสตัต (Febuxostat)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ฟีบัคโซสตัต (Febuxostat)  คือ ยารักษาโรคเกาต์อันมีสาเหตุจากร่างกายมีกรดยูริค(Uric acid) เกิน ยานี้ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) โดยนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทยา Teijin ของประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจในอเมริกาและยุโรป กลไกการทำงาน/ออกฤทธิ์ของยานี้ จะเป็นการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่าแซนทีนออกซิเดส (Xanthine oxidase, เอนไซม์เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์กรดยูริคที่เป็นปัจจัยการเกิดโรคเกาต์) ส่งผลให้กรดยูริคถูกผลิตในร่างกายได้น้อยลงจึงช่วยป้องกันอาการกำเริบของโรคเกาต์

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน สามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวในกระแสเลือดได้ประมาณ 49% จากนั้นจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนในเลือดประ มาณ 99% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 - 8 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ก่อนการใช้ยาฟีบัคโซสตัต ผู้บริโภคควรทราบข้อมูลความปลอดภัยของยาเบื้องต้นดังนี้

  • เคยมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้หรือไม่
  • ป่วยเป็น โรคตับ โรคไต หรือไม่
  • เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่
  • มีการใช้ยา Azathioprine, Didanosine, Mercaptopurine (ยาเคมีบำบัด), และ Theophylline หรือไม่ ด้วยยากลุ่มนี้จะก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยาดังกล่าวได้มากขึ้นหากใช้ร่วมกับยาฟีบัคโซสตัต
  • ไม่ควรปรับเปลี่ยนการรับประทานยานี้เองหรือหาซื้อยาแก้ปวดชนิดอื่นมารับประทานร่วมโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
  • ไม่ควรใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • อาการข้างเคียงโดยทั่วไปได้แก่ ปวดข้อ และรู้สึกคลื่นไส้ ซึ่งหากมีอาการข้างเคียงมากจนรบ กวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

ฟีบัคโซสตัตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ฟีบัคโซสตัต

ยาฟีบัคโซสตัตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาบำบัดและป้องกันอาการกำเริบของโรคเกาต์

ฟีบัคโซสตัตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

 กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟีบัคโซสตัตคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ แซนทีนออกซิเดส (Xanthine oxidase) ซึ่งเป็นตัวการที่เปลี่ยนสารไฮโปแซนทีน (Hypoxanthine) ที่เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในเซลล์ไปเป็นกรดยูริค (Uric acid) ที่เป็นปัจจัยเกิดโรคเกาต์ จึงทำให้ปริมาณของกรดยูริคในกระแสเลือดกลับมาอยู่ในระดับปกติ จึงไม่ก่อให้เกิดอาการของโรคเกาต์

ฟีบัคโซสตัตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟีบัคโซสตัตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • เป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 40, 80 และ 120 มิลลิกรัม/เม็ด

ฟีบัคโซสตัตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาฟีบัคโซสตัตมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดที่ใช้คงการรักษาอยู่ที่ 40 หรือ 80 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เนื่องจากโรคเกาต์มักเป็นโรคของผู้ใหญ่ ปัจจุบันจึงยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่แน่ชัดถึงการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาฟีบัคโซสตัต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ                          เภสัชกร  เช่น    

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟีบัคโซสตัตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฟีบัคโซสตัตสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

*อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยานี้ตรงเวลา

ฟีบัคโซสตัตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟีบัคโซสตัตสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)   เช่น

  • อาการข้างเคียงที่พบบ่อย/พบทั่วไป: เช่น ท้องเสีย ปวดหัว คลื่นไส้ ปวดข้อ หรือคล้ายกับอาการเกาต์กำเริบ มีภาวะบวมตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ข้อต่างๆ
  • อาการข้างเคียงที่พบได้แต่ไม่บ่อย: เช่น เบื่ออาหาร สมรรถภาพทางเพศถดถอย นอนไม่หลับ วิงเวียน หูอื้อ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน เมื่อมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี/ECG อาจพบผิดปกติ หัวใจเต้นผิดปกติ มีอาการร้อนวูบวาบ ผื่นคัน เป็นตะคริว ปวดกล้ามเนื้อ เกิดนิ่วในถุงน้ำดี  เกิดนิ่วในไต มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ)

*อนึ่ง หากมีอาการอึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย  ตัวบวมมาก ผื่นและลมพิษขึ้นเต็มตัว ซึ่งเป็นอาการของการแพ้ยา ให้หยุดการใช้ยานี้ และรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ฟีบัคโซสตัตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ฟีบัคโซสตัต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีระดับกรดยูริคในเลือดปกติ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีกรดยูริคสูงอันเนื่องมาจากการรักษาโรคมะเร็งหรือจากการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ห้ามใช้ร่วมกับยา Azathioprine, Didanosine หรือ Mercaptopurine ด้วยยาฟีบัคโซสตัตจะทำให้ผู้ป่วยได้รับพิษจากยาดังกล่าวได้มากขึ้น
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีโดยแพทย์ผู้รักษาไม่ได้สั่งใช้ยา
  • การใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร หรือเด็ก จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟีบัคโซสตัตด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฟีบัคโซสตัตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟีบัคโซสตัตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟีบัคโซสตัต ร่วมกับยา Theophylline ด้วยจะทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อผลกระทบ/ผลข้างเคียงจากตัวยา Theophylline ได้มากยิ่งขึ้น
  • การใช้ยาฟีบัคโซสตัต ร่วมกับยา Naltrexone (ยาบำบัดอาการติดยาเสพติด ติดสุรา), Methotrexate จะก่อให้เกิดความเสี่ยงผลกระทบที่มีต่อตับได้มากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาฟีบัคโซสตัตอย่างไร?

ควรเก็บยาฟีบัคโซสตัต:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ฟีบัคโซสตัตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟีบัคโซสตัต  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
ADENURIC (อะเดนูริก) Patheon France
Feburic (ฟีบูริก) Ajanta Pharma Ltd
Faburas (ฟาบูราส) Intas Laboratories Pvt Ltd
Feboxa (ฟีโบซา) Ranbaxy Laboratories Ltd.,
Goustat (เก๊าสตัต) Alembic Chemical Works Co Ltd
Segera (เซเจอรา) Le Renon Healthcare Pvt.Ltd
Uloric (ยูโลริก) Takeda Pharmaceuticals America, Inc.

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Febuxostat#History   [2022,Feb12]
  2. https://www.drugs.com/mtm/febuxostat.html   [2022,Feb12]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/febuxostat-index.html?filter=2#D   [2022,Feb12]
  4. https://www.drugs.com/imprints/tap-80-14070.html   [2022,Feb12]
  5. https://www.medindia.net/drug-price/febuxostat/feburic.htm   [2022,Feb12]
  6. https://www.mims.com/thailand/drug/info/febuxostat?mtype=generic   [2022,Feb12]