ฟลูติคาโซน (Fluticasone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 กรกฎาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ฟลูติคาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ฟลูติคาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟลูติคาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟลูติคาโซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?
- ฟลูติคาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟลูติคาโซนอย่างไร?
- ฟลูติคาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟลูติคาโซนอย่างไร?
- ฟลูติคาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหืด (Asthma)
- กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid)
- ซาลเมเทอรอล (Salmeterol)
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
บทนำ
ยาฟลูติคาโซน (Fluticasone หรือ Fluticasone propionate หรือ Fluticasone furoate) เป็นสารสังเคราะห์ประเภทกลูโคคอร์ติคอยด์ (Synthetic glucocorticoid) ที่เป็นยาในกลุ่มยาสเตียรอยด์ ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาพ่นจมูก-สเปรย์ช่องปาก เพื่อบรรเทาอาการอักเสบของช่องทางเดินหายใจและอาการโรคหืด
รูปแบบสารประกอบฟลูติคาโซนยังแบ่งออกเป็นอีก 2 ชนิดคือ Fluticasone furoate และ Fluticasone propionate ซึ่งมีคุณสมบัติในการรักษาและการกระจายตัวยาในร่างกายมนุษย์ที่เหมือน กันเช่น การดูดซึมของยาผ่านทางหลอดเลือดฝอยโดยการพ่นสเปรย์มีเพียง 0.51% และเมื่อตัวยา เข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 91% การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยาเริ่มที่โพรงจมูก-ปากและตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยาครึ่ง หนึ่งที่ได้รับออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดพ่นเข้าจมูก-สเปรย์เข้าทางช่องปาก และมีชนิดครีม-ขี้ผึ้งที่ใช้ทาภายนอกซึ่งอาจพบได้แต่เป็นส่วนน้อย ยาชนิดพ่นจมูก-ช่องปากถูกใช้ในวัตถุประ สงค์ลดอาการบวมและอาการระคายเคืองของช่องทางเดินหายใจที่เป็นอาการจากโรคหืด
ยังมีข้อจำกัดของยาฟลูติคาโซนที่ผู้ใช้ควรต้องทราบก่อนการใช้ยานี้กล่าวคือ
- ยาฟลูติคาโซนไม่สามารถยับยั้งอาการโรคหืดแบบชนิดเฉียบพลัน แต่เหมาะกับการบำบัด รักษาควบคุมอาการมิให้กำเริบมากกว่า กรณีมีอาการหอบแบบเฉียบพลันกำเริบขึ้นมา แพทย์จะจ่าย ยาชนิดที่ลดอาการหอบแบบเฉียบพลันมาใช้ป้องกัน
- สำหรับผู้ที่แพ้โปรตีนจากนมถือเป็นข้อห้ามใช้ของยานี้
- ยาฟลูติคาโซนสามารถทำให้เกิดภาวะ/โรคกระดูกบางจึงควรต้องเพิ่มความระมัดระวังการใช้กับผู้ป่วยโรคของกระดูกหรือการใช้กับผู้สูงอายุ
- ธรรมชาติของยากลุ่มสเตียรอยด์ที่รวมยาฟลูติคาโซนด้วยจะทำให้เกิดการชะลอการเติบโตของเด็ก การใช้ยานี้กับเด็กจึงต้องระมัดระวังและคำนึงถึงข้อดีข้อเสียให้มาก
- ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงการเกิดต้อกระจกและต้อหิน
- มีข้อห้ามการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเช่น โรคเริม โดยเฉพาะบริเวณตา เชื้อหัด เชื้อฝีดาษ หรือการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างวัณโรค หรือการติดเชื้อราชนิดต่างๆตามร่างกาย เพราะจะทำให้การติดเชื้อเหล่านั้นรุนแรงขึ้น
- ต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างมากหากต้องใช้ยาฟลูติคาโซนกับผู้ป่วยโรคตับ ด้วยยานี้ถูกทำลายโดยผ่านตับ กรณีเช่นนี้แพทย์จะพิจารณาความเหมาะสมของการใช้ยาเป็นกรณีๆไป
ทั้งนี้การใช้ยาฟลูติคาโซนชนิดสเปรย์พ่นเพื่อรักษาอาการโรคหืดนั้น อาจเห็นผลได้ดีหลังการใช้ยาไปแล้วประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ การใช้ยาชนิดสเปรย์พ่นเป็นครั้งแรก แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร จะแนะนำให้กดสเปรย์พ่นทิ้งในอากาศ 4 ครั้งก่อนการใช้จริง หรือกรณีหยุดใช้ยามาเป็นเวลา 4 สัปดาห์ขึ้นไปแล้วกลับมาใช้ใหม่ก็ควรกดสเปรย์ยาทิ้งในอากาศ 4 ครั้งเช่นกัน กรณีที่เคยใช้ยาแล้ว แต่หยุดใช้ไป 1 - 3 สัปดาห์ให้กดสเปรย์ทิ้งในอากาศ 1 ครั้งก่อนนำมาใช้ใหม่ ทั้งนี้เพื่อไล่อากาศที่ค้างอยู่ในอุปกรณ์เพื่อให้ได้ปริมาณยาที่คงที่ในการสเปรย์ใช้งานจริงแต่ละครั้ง
ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยานี้นอกเหนือคำสั่งของแพทย์เช่น ปรับขนาดการใช้ยาเอง หยุดการใช้ยาเอง การใช้ยานี้ได้ถูกต้องสม่ำเสมอจะทำให้การควบคุมอาการโรคหืดมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
กรณีพ่นยานี้เข้าทางปาก หลังการใช้ผู้ป่วยควรต้องบ้วนปากเพื่อลดการตกค้างของยาในช่องปากที่จะเพิ่มภาวะการติดเชื้อในช่องปาก ลดอาการระคายเคืองในช่องปาก และต้องระวังการกลืนน้ำขณะที่ทำการบ้วนปากด้วยเช่นกัน
หลังการใช้ยานี้ผู้ป่วยต้องไม่ลืมที่จะปิดผนึกฝาครอบของหัวสเปรย์ ปิดตลับให้สนิทเหมือนเดิม ทั้งนี้เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของตัวยาขณะสูดพ่นเข้าจมูกและช่องปาก หลังพ่นยาควรกลั้นหายใจไว้ประมาณ 3 - 4 วินาทีเพื่อช่วยการดูดซึมของยาและยังทำให้ยาสามารถกระจายเข้าไปในปอดและออกฤทธิ์บำบัดรักษาได้ง่ายยิ่งขึ้น
ขั้นตอนการใช้ยานี้ในแต่ละรูปลักษณะภาชนะบรรจุ มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป ก่อนการใช้งานผู้ป่วยควรต้องได้รับคำแนะนำวิธีการใช้อย่างถูกต้องจากแพทย์พยาบาลหรือเภสัชกร และควรต้องตรวจสอบรายละเอียดการใช้ยานี้เพิ่มเติมจากเอกสารกำกับยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์
ฟลูติคาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาฟลูติคาโซนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ
- รักษาอาการภูมิแพ้ที่ช่องทางเดินหายใจ
- รักษาและควบคุมอาการหอบหืดจากโรคหืด
ฟลูติคาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิของยาฟลูติคาโซนคือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับที่ชื่อ กลูโคคอร์ติคอยด์ รีเซ็พเตอร์ (Glucocorticoid receptor) ในร่างกาย ส่งผลยับยั้งการรวมตัวของเม็ดเลือดขาวในบริเวณเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบและลดการหลั่งสารเคมีที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้เช่น ฮีสตามีน (Histamine) และไคนิน (Kinin) อีกทั้งยังรบกวนการเกาะติดของเม็ดเลือดขาวกับหลอดเลือดฝอย จากกลไกต่างๆเหล่านี้ทำให้ลดอาการแพ้และลดการหดเกร็งของหลอดลม ทำให้หลอดลมเปิดกว้างอากาศเข้าออกได้สะดวก จึงก่อให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
ฟลูติคาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟลูติคาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายในประเทศไทยคือ
ก.ยาพ่นสเปรย์จมูก ขนาด 27.5 ไมโครกรัม/การพ่น 1 ครั้ง
ข.ยาพ่นสเปรย์ปาก ขนาด 125 ไมโครกรัม/การพ่น 1 ครั้ง
ค. ยาชนิดหยดที่ต้องอาศัยเครื่องพ่น (Nebule) ขนาด 0.5 และ 2 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
ง. ยาพ่นสเปรย์ปากที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น
- Salmeterol xinafoate 25 ไมโครกรัม + Fluticasone propionate 50 ไมโครกรัม
- Salmeterol xinafoate 25 ไมโครกรัม + Fluticasone propionate 125 ไมโครกรัม
- Salmeterol xinafoate 25 ไมโครกรัม + Fluticasone propionate 250 ไมโครกรัม
จ.ยาพ่นปากชนิดผงแห้งที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น
- Salmeterol xinafoate 50 ไมโครกรัม + Fluticasone propionate 100 ไมโครกรัม
- Salmeterol xinafoate 50 ไมโครกรัม + Fluticasone propionate 250 ไมโครกรัม
ฟลูติคาโซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาฟลูติคาโซนมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาตัวอย่างเช่น ใช้เป็นชนิดยาฉีดพ่นเข้าปาก (Aerosol) เพื่อป้องกันอาการโรคหืด:
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป: พ่นยาขนาด 100 – 1,000 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น เช่น
มีอาการหอบน้อย: พ่นยาขนาด 100 - 250 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้ง
มีอาการหอบปานกลาง: พ่นยาขนาด 250 - 500 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้ง
มีอาการหอบรุนแรง: พ่นยาขนาด 500 - 1,000 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้ง
- เด็กอายุ 4 - 16 ปี: พ่นยาขนาด 50 - 200 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
- เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี: ยังไม่มีการแนะนำขนาดการใช้ยานี้ที่แน่ชัด การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงต้องให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณาขนาดการใช้ยานี้ที่เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟลูติคาโซน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูติคาโซนอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?
หากลืมพ่นยาฟลูติคาโซนสามารถพ่นยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้ง ถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการพ่นยาเป็น 2 เท่า
ฟลูติคาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟลูติคาโซนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) โดยแบ่งอาการข้างเคียงออกเป็นประเภทๆดังนี้
- อาการข้างเคียงที่พบมาก: เช่น เกิดจุดขาวๆภายในช่องปากและคอ
- อาการข้างเคียงที่พบได้แต่น้อย: เช่น ท้องเสีย ปวดหู ปวดท้องแต่ไม่มาก คลื่นไส้ ปวดขณะปัสสาวะ มีอาการคล้ายตาแดงหรือแดงบริเวณรอบตา เจ็บคอ อึดอัด/หายใจลำบาก กลืนอาหารลำ บาก คันบริเวณอวัยวะเพศ และอาเจียน
- อาการข้างเคียงที่ไม่ค่อยพบเห็นแต่อาจเกิดขึ้นได้: เช่น ตาพร่า ปวดตา กระดูกหักง่าย มีขนขึ้นบริเวณใบหน้าโดยเฉพาะในเพศหญิง การเจริญเติบโตของเด็กลดลง มีความดันโลหิตสูง พบผื่นคัน หิวและกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะมาก อ่อนเพลีย ประจำเดือนมาผิดปกติ สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ/กล้าม เนื้อลีบ มือ-เท้า/แขน/ขาอ่อนแรง แน่นหน้าอก บวมตามใบหน้า-ปากและเปลือกตา/หนังตา หายใจมีเสียงผิดปกติ (เสียงหวีด) ที่เกิดจากกล้ามเนื้อหลอดลมหดตัวจนทางเดินหลอดลมแคบลง
- อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้แต่ไม่ทราบสาเหตุ: เช่น วิงเวียน และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะพบอาการผิดปกติเช่น ผิวมีสีคล้ำ เป็นลม เบื่ออาหาร มีอาการซึมเศร้า อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย เมื่อพบอาการเหล่านี้ควรรีบนำตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยา บาลเพื่อทำการรักษาโดยเร็ว
ฟลูติคาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูติคาโซนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้รักษาอาการโรคหืดแบบเฉียบพลัน แพทย์มักจะเพิ่มยารักษาอาการโรคหืดแบบเฉียบพลันไว้ให้ผู้ป่วยใช้ยามฉุกเฉิน
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้หรือหยุดใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้กรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อจากไวรัสเช่น เริม หัด ฝีดาษ หรือป่วยด้วยวัณโรค
- กรณีที่ใช้ยานี้ไปแล้วเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นให้หยุดการใช้ยาและรีบกลับมาพบแพทย์เพื่อพิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ยาฟลูติคาโซนชนิดฉีดพ่นเข้าช่องปากอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อรา การอักเสบภายในช่องปาก การป้องกันโดยบ้วนปากหลายครั้งด้วยน้ำสะอาดหลังการพ่นยา หากพบการติดเชื้อในปาก (เช่น มีฝ้าขาวคล้ายน้ำนม) ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
- ระวังการใช้ยานี้ในเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูติคาโซนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ฟลูติคาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟลูติคาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟลูติคาโซนร่วมกับยาบางกลุ่มด้วยจะทำให้การดูดซึมยาฟลูติคาโซนมีปริมาณสูงขึ้นจนผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงติดตามมาอย่างมากมายเช่น มีอาการบวม น้ำหนักตัวเพิ่ม ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระดูกบาง เกิดสิว ผิวบาง มีต้อกระจก ประ จำเดือนมาผิดปกติ ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป ยากลุ่มดังกล่าวเช่น Clarithromycin, Ketoconazole และยาต้านไวรัส เช่น Ritonavir, Amprenavir, Atazanavir, Boceprevir และ Indinavir
- การใช้ยาฟลูติคาโซนกับผู้ที่มีภาวะติดเชื้อเช่น การติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส สามารถทำให้อาการโรคติดเชื้อกำเริบและรุนแรงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งการติดเชื้อแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น มาอีก ด้วยยาฟลูติคาโซนจะทำให้ภูมิคุ้มกันฯของร่างกายต่ำลง การจะใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะติดเชื้อ แพทย์จึงต้องประเมินผลดี - ผลเสียและใช้ยาด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก
- ห้ามใช้ยาฟลูติคาโซนร่วมกับยา Mifepristone ด้วยมีผลให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาฟลู ติคาโซนลดลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับระยะเวลาการใช้ยาให้ห่างกันหรือปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาฟลูติคาโซนอย่างไร?
ควรเก็บยาฟลูติคาโซนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ฟลูติคาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟลูติคาโซนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Avamys (อะวามิส) | GlaxoSmithKline |
Flixonase (ไฟลโซเนส) | GlaxoSmithKline |
Seretide (เซเลไทด์) | GlaxoSmithKline |
Seroflo 125 (เซโรโฟล 125) | Cipla |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Alerflo, Cazon, Flocare, Floease, Flohale, Flomist, Flomale rota, Cuti bact, Fexin, Emderm, Cazon D
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Avamys/?type=full#Indications[2017,July8]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Flixotide/?type=full#Indications[2017,July8]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Fluticasone[2017,July8]
- http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/fluticasone-nasal-route/description/drg-20070965[2017,July8]
- http://www.drugs.com/cdi/fluticasone-furoate-spray.html[2017,July8]
- http://www.drugbank.ca/drugs/DB00588[2017,July8]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Seretide/?type=BRIEF[2017,July8]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/fluticasone-nasal.html[2017,July8]
Updated 2017,July8