ฟลีเคไนด์ (Flecainide)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ฟลีเคไนด์ (Flecainide) คือ ยาที่ใช้บำบัดและป้องกันอาการหัวใจเต้นผิดปกติที่รวมถึงหัวใจเต้นผิดจังหวะ ตัวยาจะมีกลไกปิดกั้นการส่งผ่านประจุของเกลือโซเดียมที่มีผลต่อการทำงาน/การเต้นของหัวใจจึงทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจกลับมาเป็นปกติ

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานขนาด 50 - 150 มิลลิกรัม หลังการรับประทานยานี้ตัวยาจะมีการดูดซึมและกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ถึงประมาณ 95% ตัวยาจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 40% ร่างกายต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 12 - 27 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ข้อมูลความปลอดภัยก่อนการใช้ยาที่แพทย์มักจะสอบถามกับผู้ป่วย เช่น

  • ผู้ป่วยเคยแพ้ยาชนิดนี้หรือไม่
  • ผู้ป่วยมีปัญหาด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะรุนแรง เช่น เคยอยู่ในภาวะช็อก หรือหัวใจหยุดเต้น ซึ่งถือเป็นข้อห้ามใช้ของยานี้
  • ผู้ป่วยอยู่ในช่วงที่รับประทาน ยาต้านเอชไอวี (HIV protease inhibitor) เช่นยา Ritonavir หรือไม่
  • หากเป็นสตรีแพทย์จะสอบถามว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของตับของไตหรือไม่
  • เคยตรวจเลือดพบมีระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดผิดปกติหรือไม่
  • มีการใช้ยาโรคหัวใจชนิดอื่นหรือไม่

ทั้งนี้หลังการสั่งจ่ายยานี้แพทย์จะแนะนำการรับประทานพร้อมกับข้อควรระวังบางประการเช่น

  • ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตรงเวลาและต้องไม่ปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง
  • ยานี้อาจทำให้มีอาการ วิงเวียน ตาพร่า ดังนั้นขณะใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดพาหนะด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเองเป็นอันขาด
  • ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ใดๆหลังใช้ยานี้ แต่หากพบอาการคล้ายกับแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ใบหน้า-ปาก- คอบวม ให้หยุดการใช้ยานี้แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

สำหรับประเทศไทย  ยาฟลีเคไนด์ถูกจัดเป็นยาควบคุมพิเศษและถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ของการใช้กับผู้ป่วยที่ใช้ยาอื่นควบคุมการเต้นผิดจังหวะของหัวใจแล้วไม่ได้ ผล ดังนั้นเราจะพบเห็นการใช้ยานี้ในสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่สามารถซื้อหาได้จากร้านขายยาโดย ทั่วไป

ฟลีเคไนด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ฟลีเคไนด์

ยาฟลีเคไนด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะทั้งประเภท/ชนิด Supraventicular arrhythmias และ Ventricular arrhythmias

ฟลีเคไนด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

 กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟลีเคไนด์คือ ตัวยาจะทำให้กลไกทางเคมีในหัวใจปรับสมดุลการทำงานใหม่ ทำให้การส่งผ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจช้าลง ส่งผลลดการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจจนก่อให้ เกิดการบีบตัวและการเต้นกลับคืนสู่ภาวะปกติ

ฟลีเคไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

 ยาฟลีเคไนด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50 และ 100 มิลลิ กรัม/เม็ด

ฟลีเคไนด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาฟลีเคไนด์มีขนาดรับประทาน เช่น

ก.สำหรับ Supraventricular arrhythmias: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัมเช้า - เย็น โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน

ข.สำหรับ Ventricular arrhythmias: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัมเช้า - เย็น โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/วัน

อนึ่ง:

  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดการใช้ยานี้ในเด็กขึ้นกับอายุเด็ก น้ำหนักตัว ประเภทของการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ และความรุนแรงของอาการ การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
  • ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาฟลีเคไนด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น  

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลีเคไนด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฟลีเคไนด์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

*เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาทุกชนิดรวมถึงยาฟลีเคไนด์ให้ตรงเวลา         

ฟลีเคไนด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาฟลีเคไนด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

ก. อาการข้างเคียงที่พบได้เป็นปกติ: เช่น อึดอัด/แน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียน หายใจมีเสียงผิดปกติคือ หายใจเสียงหวีด (Wheezing breath sound, เสียงหายใจเมื่อมีการตีบของหลอดลม)

ข. อาการข้างเคียงที่พบได้แต่น้อย: เช่น ตาพร่า ผื่นคัน รู้สึกคล้ายมีไข้ ใบหน้าแดง ขาบวม มือ-เท้าสั่น

มีข้อควรระวังการใช้ฟลีเคไนด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลีเคไนด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวหรือผู้ที่มีปัญหาลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระวังการเกิดภาวะเกลือแร่ในร่างกายขาดสมดุล
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ใช้เครื่องกระตุ้นคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemakers)
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เพิ่งรับการผ่าตัดหัวใจมาใหม่ๆ
  • การใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลีเคไนด์ด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฟลีเคไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟลีเคไนด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาฟลีเคไนด์ ร่วมกับยา Digoxin อาจทำให้ระดับของยา Digoxin ในร่างกายเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากยาดังกล่าว หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาฟลีเคไนด์ ร่วมกับยา Moxifloxacin, Sotalol จะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการใช้ยาร่วมกันติดตามมา เพื่อป้องกันอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะจึงไม่สมควรใช้ยาทั้งสองกลุ่มร่วมกัน
  • การใช้ยาฟลีเคไนด์ ร่วมกับยา Diltiazem อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก และเป็นลม หัวใจเต้นช้าจนไปถึงขั้นโคม่า หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยาฟลีเคไนด์ ร่วมกับยา Ritonavir ด้วยจะก่อให้เกิดความผิดปกติต่อหัวใจอย่างมาก เช่น เจ็บหน้าอก อึดอัด/หายใจลำบาก วิงเวียน และรู้สึกอ่อนเพลียจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้

ควรเก็บรักษาฟลีเคไนด์อย่างไร?

ควรเก็บยาฟลีเคไนด์:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ฟลีเคไนด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟลีเคไนด์  มียาชื่อการค้า และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Tambocor (แทมโบคอร์) Bausch & Lomb

 

บรรณานุกรม

    1. https://www.drugs.com/mtm/flecainide.html   [2022,May14]
    2. https://en.wikipedia.org/wiki/Flecainide   [2022,May14]
    3. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=flecainide  [2022,May14]
    4. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Tambocor/?type=BRIEF  [2022,May14]
    5. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=6&rctype=1C&rcno=6100021&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no=  [2022,May14]
    6. https://www.drugs.com/drug-interactions/flecainide-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,May14]