พิโมไซด์ (Pimozide)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 พิโมไซด์ (Pimozide) คือ ยารักษาทางจิตเวช/ยาจิตเวช จัดอยู่ในกลุ่มยาที่เป็นสาร Diphenylbutyl piperidine (สารมีคุณสมบัตินำมาใช้รักษาอาการทางจิตเวช) ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1963 (พ.ศ.2506) เคยมีการเปรียบเทียบความแรงของยาพิโมไซด์กับยา Chlorpromazine พบว่ายานี้มีความแรงมากกว่ายา Chlorpromazine ถึง 50 - 70 : 1 ทางคลินิกได้มีการค้นคว้าประโยชน์ของยานี้อย่างต่อเนื่องโดยนำยานี้ไปใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะความผิดปกติของการพัฒนาของระบบประสาทที่ เรียกภาวะ/โรคนี้ว่า กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette syndrome, โรคผิดปกติทางพันธุกรรมที่แสดงอาการผิดปกติทางระบบประสาทตั้งแต่เด็ก เช่น อาการกระตุกของกล้ามเนื้อต่างๆ เป็นๆหายๆ เป็นโรคพบได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับพบบ่อย) และพบว่ายาพิโมไซด์มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคนี้ได้

กลไกการออกฤทธิ์ของยานี้จะเกิดในสมอง โดยตัวยาจะไปปิดกั้นการทำงานของสารสื่อประสาทที่เรียกว่าโดพามีน (Dopamine)

 สิ่งที่แพทย์มักจะนำมาประกอบการพิจารณาในการจ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วย เช่น

  • ผู้ป่วยแพ้ยานี้หรือไม่
  • หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่
  • มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ หรือมีสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ ติดสุรา หรือมีภาวะ ซึมเศร้า หรือไม่
  • มีประวัติ โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะขัด ท้องเสียอย่างรุนแรงหรือไม่
  • มีการรับประทานยาอะไรอยู่ก่อนหน้านี้บ้าง

 รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นชนิดยารับประทาน โดยตัวยาจะถูกดูดซึมผ่านระบบทางเดินอาหารได้มากกว่า 50% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 55 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือด แต่ในเด็กอาจต้องใช้เวลาถึงประมาณ 66 ชั่วโมง โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ระหว่างการใช้ยานี้ผู้ป่วยอาจมีภาวะง่วงนอน วิงเวียน ตาพร่า เป็นลม ด้วยทนสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงได้ไม่ดีเหมือนเดิม ผู้ป่วยบางรายอาจพบว่าไม่สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อได้เหมือนปกติ

ประเด็นสำคัญในการใช้ยานี้คือ แพทย์จะห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดการรับประทานยาด้วยตนเอง และผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้รักษาอย่างต่อเนื่อง

พิโมไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาพิโมไซด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ :เช่น

  • ใช้บำบัดอาการทางจิตหรือโรคจิตเภท (Schizophrenia)
  • บรรเทาอาการจากโรคกลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette’s syndrome)

พิโมไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาพิโมไซด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กดหรือยับยั้งการทำงานที่ตัวรับ (Receptors) ของสารสื่อประสาท ชนิด Dopamine ในสมองซึ่งมีชื่อว่า Dopaminergic receptors ทำให้เกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทใหม่ จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาติดตามมา

พิโมไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาพิโมไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  •  ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2 และ 4 มิลลิกรัม/เม็ด

พิโมไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาพิโมไซด์มีขนาดรับประทาน เช่น

  • สำหรับบำบัดอาการโรคจิตเภท (Schizophrenia): เช่น
  • ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทาน 2 มิลลิกรัมต่อวัน แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มทุกๆ 2 - 4 มิลลิกรัม/วันภายใน 1 สัปดาห์ โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: รับประทาน 1 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ขนาดยาอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาโดยขึ้นกับความรุนแรงของอาการและน้ำหนักตัวของเด็ก

ข.สำหรับรักษากลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette’s syndrome): เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทาน 1 - 2 มิลลิกรัมต่อวัน แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานขึ้นแบบวัน-เว้น-วันในขนาด 0.2 มิลลิกรัม/วัน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทาน 0.05 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้ง ก่อนนอนและแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานทุกๆ 3 วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ขนาดยาอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาโดยขึ้นกับความรุนแรงของอาการและน้ำหนักตัวของเด็ก

*อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาพิโมไซด์ด้วย ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ                              เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพิโมไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

         หากลืมรับประทานยาพิโมไซด์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

         *อนึ่ง เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาทุกชนิดรวมถึงยาพิโมไซด์ ให้ตรงเวลา

พิโมไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาพิโมไซด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

ก. อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย: พูดจาติดขัด วิงเวียน  เป็นลม หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ สูญเสียการทรงตัว อารมณ์แปรปรวน  กระสับกระส่าย  แก้มบวม   ตัวเหลือง -ตาเหลือง

ข. *อาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: เช่น มีภาวะโคม่า  วิงเวียนอย่างรุนแรง  มีการสั่นของกล้ามเนื้อได้ทั่วตัว หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้พิโมไซด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาพิโมไซด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ จะต้องอยู่ภายใต้คำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • การใช้ยาทุกตัวรวมถึงยาพิโมไซด์มีระยะเวลาของการรักษา หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหลังจากการใช้ยานี้ควรกลับไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษา
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพิโมไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

พิโมไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาพิโมไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาพิโมไซด์ ร่วมกับยา Propranolol และ Cimetidine จะทำให้ตับทำลายยาพิโมไซด์ได้น้อยลงส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับทั้งประสิทธิผลและพิษจากยาพิโมไซด์ กรณีที่ต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาพิโมไซด์ ร่วมกับยากลุ่ม SSRIs อาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติในการเคลื่อนไหวซึ่งมีสาเหตุจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองหรือที่เรียกว่า Extrapyramidal side effects หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การรับประทานยาพิโมไซด์ร่วมกับสารคาเฟอีน(เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มประเภทโคล่าและประเภทชูกำลัง) อาจทำให้ระดับความเข้มข้นของยาพิโมไซด์ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนส่ง ผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แน่นหน้าอก  ตาพร่า และคลื่นไส้ กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาพิโมไซด์อย่างไร?

สามารถเก็บยาพิโมไซด์:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น  
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

พิโมไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพิโมไซด์  มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
LARAP (ลาแรพ) La Pharma
MOZEP (โมเซพ) Intas
NEURAP (นูแรพ) Torrent
NOTIC (โนติค) Sunrise
ORAP (โอแรพ) J & J (Ethnor)
PIMOZ (พิมอซ) Swiss Biotech
R-ZEP (อาร์-เซพ) Reliance

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pimozide  [2022,May7]
  2. https://www.drugs.com/mtm/pimozide.html  [2022,May7]
  3. https://www.mims.com/India/drug/info/pimozide/?type=full&mtype=generic  [2022,May7]
  4. https://www.mims.com/India/drug/search/?q=pimozide  [2022,May7]