พิโซติเฟน (Pizotifen)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 มกราคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาพิโซติเฟนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาพิโซติเฟนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาพิโซติเฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาพิโซติเฟนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาพิโซติเฟนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาพิโซติเฟนอย่างไร?
- ยาพิโซติเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาพิโซติเฟนอย่างไร?
- ยาพิโซติเฟนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ไมเกรน (Migraine)
- ปวดหัว ปวดศีรษะ (Headache)
- โรคปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster Headache)
- ปวดศีรษะเรื้อรัง (Chronic daily headache)
- ยาไมเกรน ยาต้านไมเกรน (Antimigraine drugs)
- ยาเจริญอาหาร (Appetite Enhancers)
บทนำ: คือยาอะไร?
พิโซติเฟน (Pizotifen) เป็นยาที่นำมาใช้ป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน (Migraine) ซึ่งมีกลไกของโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงบริเวณสมอง แต่ด้วยผลข้างเคียงบางอย่างของยาพิโซติเฟน เช่น ง่วงนอน หรือทำให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเพิ่ม จึงทำให้ยานี้ไม่ถูกเลือกเป็นยาอันดับต้นๆของการรักษาไมเกรน แต่จะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อยาไมเกรน/ยารักษาไมเกรน/ยาต้านไมเกรนตัวอื่นใช้ไม่ค่อยได้ผลแล้วเท่านั้น
ยาโซติเฟน ยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาอาการทางจิตประสาท เช่น ใช้รักษาอาการซึมเศร้า, บำบัดอาการวิตกกังวล , รวมถึงใช้เป็นยาเจริญอาหารอีกด้วย
จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย)ของยาพิโซติเฟนพบว่า ยานี้ถูกดูดซึมได้ประมาณ 78% จากระบบทางเดินอาหาร เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือดจะจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 91% ซึ่งหลังจากที่ตับเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยาพิโซติเฟนแล้ว ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 23 ชั่วโมงเพื่อร่างกายกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยจัดให้ ยาพิโซติเฟน เป็นยาอันตราย มีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้หลายประการ การใช้ยานี้จึงควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ยาพิโซติเฟนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาพิโซติเฟนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ป้องกันและ/หรือรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน
- ป้องกันและ/หรือรักษาโรคปวดศีรษะคลัสเตอร์
- กระตุ้นให้อยากอาหาร บรรเทาการเบื่ออาหาร
ยาพิโซติเฟนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาพิโซติเฟนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์สงบประสาท และป้องกันการเกิดอาการปวดศีรษะ/ ปวดหัว โดยมีกลไกเป็นลักษณะของ เซโรโทนิน-แอนตาโกนิสต์/ Serotonin antagonist (ยาต้านสารเซโรโทนิน/Serotonin ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่หลายอย่าง เช่น การขยายตัวของหลอดเลือด, เกี่ยวข้องกับความรู้สึก ซึมเศร้า วิตกกังวล อยากอาหาร) และของ Histamine antagonist (H1 receptor antagonist) ดังนั้นจึงส่งผลในการบำบัดรักษาตามสรรพคุณ
ยาพิโซติเฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาพิโซติเฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ด ขนาด 0.5 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำ ขนาด 0.5 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร
ยาพิโซติเฟนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาพิโซติเฟนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 1.5 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง ก่อนนอน หรือรับประทาน 0.5 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเช้า - กลางวัน – เย็น ขึ้นกับคำสั่งแพทย์, ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 4.5 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน 3 ครั้ง/วัน หรือ 0.5 มิลลิกรัม 9 ครั้ง/วัน, และห้ามรับประทานเกินครั้งละ 3 มิลลิกรัม
- เด็กที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป: ครั้งแรกรับประทาน 0.5 มิลลิกรัมวันละ1ครั้งก่อนนอน, ขนาดสูงสุด ไม่เกิน 1.5 มิลลิกรัม/วัน, โดยแบ่งรับประทาน 3 ครั้ง/วัน, และห้ามเด็กรับประทานเกินครั้งละ 1.5 มิลลิ กรัม
อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ พร้อมอาหาร ก็ได้
- ขนาดยาในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาพิโซติเฟน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพิโซติเฟนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาพิโซติเฟน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาพิโซติเฟนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาพิโซติเฟนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ง่วงนอน
- หิวและอยากอาหารเพิ่มขึ้น
- ปากคอแห้ง
- ท้องผูก
- คลื่นไส้
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- วิตกกังวล
- ก้าวร้าวและซึมเศร้าในคราวเดียวกัน
- ยังมีอาการอื่นที่อาจพบได้อีกเช่น
- ผื่นคัน
- การหายใจขัดข้อง/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- นอนไม่หลับ
- ชัก
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดข้อ
มีข้อควรระวังการใช้ยาพิโซติเฟนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาพิโซติเฟน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ร่วมกับกลุ่มยาประเภท MAO inhibitors
- ห้ามใช้กับ ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ที่มีอาการปัสสาวะขัด ผู้ป่วยโรคลำไส้อุดตัน
- ห้ามใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- แพทย์จะปรับขนาดรับประทาน เมื่อใช้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
- ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติจากโรคตับ
- ระวังการใช้ยานี้ในเด็ก ต้องแพทย์เป็นผู้สั่งใช้ยาเท่านั้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก
- ระหว่างการใช้ยานี้ให้ระวังเรื่องการทำงานเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องจักรกลหรือการขับขี่ยวดยานพาหนะ เนื่องจากอาจมีอาการง่วงนอนจากผลข้างเคียงของยาจนอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพิโซติเฟนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาพิโซติเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาพิโซติเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาพิโซติเฟน ร่วมกับ ยาบางกลุ่ม จะทำให้เกิดอาการง่วงนอนเป็นอันมาก หากเป็นไปได้ ควรเลี่ยงการใช้ร่วมกับยากลุ่มดังกล่าว หรือแพทย์ปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป ซึ่งยากลุ่มดังกล่าว เช่น
- ยากลุ่มแอนไทฮิสตามีน/Antihistamine (ยาแก้แพ้)
- ยารักษาโรคจิตประสาท
- ยากันชัก/ยาต้านการชัก
- ยาบรรเทาอาการปวดที่มีฤทธิ์เสพติด เช่นยา Tramadol)
- กลุ่มยาสงบประสาท (ยาคลายเครียด)
- ยาคลายกล้ามเนื้อ
- การใช้ยาพิโซติเฟน ร่วมกับ การดื่มแอลกอฮอล์จะก่อให้เกิดอาการวิงเวียนและง่วงนอนอย่างมาก จึงห้ามรับประทานร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาพิโซติเฟนอย่างไร?
ควรเก็บยาพิโซติเฟน เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาพิโซติเฟนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาพิโซติเฟนที่ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Anorsia (เอนอร์เซีย) | Asian Pharm |
Bozo (โบโซ) | T. Man Pharma |
Manzofen (แมนโซเฟน) | T. Man Pharma |
Migrin (ไมกรีน) | Utopian |
Mosegor (โมสกอร์) | Novartis |
Moselar (โมสลาร์) | Milano |
Mozifen-EF (โมซิเฟน-อีเอฟ) | T.O. Chemicals |
Pizomed (พิโซเมด) | Medifive |
Zofen (โซเฟน) | Pharmaland |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pizotifen [2022,Jan8]
- https://www.drugs.com/international/pizotifen.html [2022,Jan8]
- https://www.medicinenet.com/pizotifen-oral/article.htm [2022,Jan8]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=pizotifen [2022,Jan8]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Mozifen-EF/?type=brief [2022,Jan8]
- https://www.medicines.org.uk/emc/product/5917/smpc#gref [2022,Jan8]