พิโคซัลเฟต (Picosulfate or Picosulphate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 ตุลาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- พิโคซัลเฟตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- พิโคซัลเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- พิโคซัลเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- พิโคซัลเฟตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- พิโคซัลเฟตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้พิโคซัลเฟตอย่างไร?
- พิโคซัลเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาพิโคซัลเฟตอย่างไร?
- พิโคซัลเฟตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาแก้ท้องผูก (Anticonstipation)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- ท้องผูก (Constipation)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- วิธีทิ้งยาหมดอายุ (How to dispose expired medications)
บทนำ: คือยาอะไร?
พิโคซัลเฟต (Picosulfate หรือ Picosulphate) คือ ยาแก้ท้องผูก ใช้เป็นยาระบายและใช้เตรียมให้กับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy), โดยรูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ จะเป็นชนิดรับประทาน ทั้งชนิดแคปซูล และชนิดผงละลายน้ำ
ยาพิโคซัลเฟต เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว ใช้เวลาไม่เกินประมาณ 1 ชั่วโมงหลังบริโภคยา ผู้ป่วยจะรู้สึกอยากระบาย
อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยาพิโคซัลเฟต เช่น เกิดตะคริวที่ท้อง หัวใจเต้นเร็ว และมีภาวะท้องเสียจนอาจส่งผลรบกวนสมดุลของน้ำและเกลือแร่/อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ภายในร่างกาย เช่น ทำให้เกลือโซเดียมในเลือดต่ำ เกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังรู้สึกกระหายน้ำเพิ่มมากขึ้น
ธรรมชาติของยาพิโคซัลเฟต ยังไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ทันที แต่หลังบริโภคจะต้องถูกแบคทีเรียในลำไส้เปลี่ยนโครงสร้างยา จนได้สารประกอบที่ก่อให้เกิดฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ให้มีการบีบตัวอีกทีหนึ่ง
แพทย์ผู้รักษา อาจสั่งจ่ายสูตรตำรับยาที่มียาพิโคซัลเฟตร่วมกับยา Magnesium citrate เพื่อช่วยระบายได้มากยิ่งขึ้น, ทางคลินิกแพทย์แนะนำให้ใช้ยานี้เพียงแต่ระยะสั้นๆเท่านั้น, กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการท้องผูกนานถึง 5 วัน ควรต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์ในการใช้ยาต่างๆ ร่วมกับปรับพฤติกรรมของการบริโภคอาหารที่มีกากใย และดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ
การใช้ยาพิโคซัลเฟต จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น หากผู้ป่วยได้รับยาพิโคซัลเฟต มากเกินไป อาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยได้, และเพื่อประสิทธิผลของการรักษาแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยานี้ตรงเวลาเพื่อกันลืม, และไม่ควรแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นรับประทาน, หรือถ้าพบอาการผิดปกติหลังการใช้ยานี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
ประเทศไทยมีสูตรตำรับยาพิโคซัลเฟตที่มีลักษณะเป็นยาผงสำหรับละลายน้ำก่อนรับประทาน โดยในสูตรตำรับจะมีเกลือ Magnesium oxide และกรด Citric acid ผสมร่วมอยู่ด้วยทั้งนี้เกลือแมกนีเซียมจะช่วยเพิ่มฤทธิ์ในการระบาย
คณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาพิโคซัลเฟตเป็นยาควบคุมพิเศษ และยานี้มีใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น เราจึงไม่พบเห็นการซื้อขายยานี้ได้จากร้านขายยาทั่วไป
พิโคซัลเฟตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาพิโคซัลเฟตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บรรเทาอาการท้องผูก
- ใช้เป็นยาระบายก่อนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ หรือก่อนตรวจเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ด้วยการสวนแป้ง
- ใช้เป็นยาระบายก่อนเข้ารับการผ่าตัด
พิโคซัลเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาพิโคซัลเฟต คือ หลังรับประทานยาพิโคซัลเฟต ตัวยาจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีในขณะอยู่ในลำไส้ไปเป็นสารประกอบที่มีฤทธิ์กระตุ้นผนังลำไส้ให้บีบตัว ผู้ป่วยจึงรู้สึกอยากระบายอุจจาระ และเกิดการระบายอุจจาระตามมา
พิโคซัลเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาพิโคซัลเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 2.5 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาผงละลายน้า ขนาด 10 มิลลิกรัม/ซอง
- ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
พิโคซัลเฟตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดการใช้ยาพิโคซัลเฟต จะขึ้นกับข้อบ่งใช้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีไป ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดยาพิโคซัลเฟตสำหรับใช้เป็นยาระบายก่อนที่จะเข้ารับการทำหัตถการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ หรือเอ็กซเรย์สวนแป้งลำไส้ใหญ่ หรือรับการผ่าตัดลำไส้ เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 9 ปีขึ้นไป: ใช้ยาชนิดผงละลายน้ำรับประทาน 1 ซอง พร้อมกับค่อยๆดื่มน้ำตามอีก 1,250 มิลลิลิตร ก่อนนอนก่อนวันที่ต้องทำหัตถการ 1 วัน, รับประทานซองที่ 2 ในช่วงเช้าของวันถัดมาพร้อมกับดื่มน้ำตามอีก 750 มิลลิลิตร โดยรับประทานก่อนเข้ารับการทำหัตถการ 5 - 9 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 4 - 9 ปี: รับประทาน 1 ซองในช่วงเช้า, และอีก ½ ซองในช่วงบ่าย
- เด็กอายุ 2 - 4 ปี: รับประทาน ½ ซองในช่วงเช้า, และอีก ½ ซองในช่วงบ่าย
- เด็กอายุ 1 - 2 ปี: รับประทาน ¼ ซองในช่วงเช้า,และอีก ¼ ซองในช่วงบ่าย
*อนึ่ง:
- การใช้ยานี้กับเด็กในช่วงอายุ 1 - 9 ปี ให้รับประทานยาในช่วงก่อน 8 โมงเช้า, จากนั้นเว้นระยะ เวลา 6 - 8 ชั่วโมง ให้เด็กรับประทานยาช่วงที่ 2 ตอนบ่าย ตามขนาดรับประทานที่แพทย์ระบุ, และแพทย์จะเป็นผู้กำหนดการดื่มน้ำเพิ่มเติมหลังการรับประทานยาในแต่ละครั้ง
- ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจนในการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
- ควรรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่าง
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาพิโคซัลเฟต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้อะไรอยู่ เพราะยาพิโคซัลเฟตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาพิโคซัลเฟต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาพิโคซัลเฟตตรงเวลา
พิโคซัลเฟตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาพิโคซัลเฟตสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ปวดหัว
- คลื่นไส้
- เป็นตะคริวที่ท้อง
- หัวใจเต้นเร็ว
- ท้องเสีย
- วิงเวียน
- ระดับเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
- โพแทสเซียมในเลือดต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้พิโคซัลเฟตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาพิโคซัลเฟต: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว, ผู้ที่มีภาวะปวดเกร็ง/ปวดบิด/ปวดบีบในกระเพาะอาหาร, ผู้ป่วยด้วยแผลในกระเพาะอาหาร, ผู้ป่วยด้วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ, ผู้ที่อยู่ในภาวะคลื่นไส้, ผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินอาหาร/ลำไส้อุดตัน, ผู้ที่อยู่ในภาวะร่างกายเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำ, ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย, มีภาวะเกลือแมกนีเซียมในร่างกายเกินมาตรฐาน, ผู้ป่วยทางเดินลำไส้อักเสบ, ผู้ป่วยไตอักเสบอย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ
- *หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบอาการแพ้ยานี้หลังรับประทาน แล้วรีบไปโรงพยาบาลทันที /ฉุกเฉิน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร
- การใช้ยานี้ อาจรบกวนสมดุลของน้ำและเกลือแร่/อิเล็กโทรไลต์ของร่างกาย
- สำหรับยาน้ำชนิดรับประทานของยานี้ หากเปิดขวดใช้แล้ว 28 วัน ให้ทิ้งยา, ไม่ควรใช้รับประทานต่อ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง วิธีทิ้งยาหมดอายุ)
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพิโคซัลเฟตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
พิโคซัลเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาพิโคซัลเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาพิโคซัลเฟต ร่วมกับยาชนิดรับประทานทุกกลุ่ม เช่น ยาเบาหวาน ยาปฏิชีวนะ ยาเม็ดคุมกำเนิด, อาจทำให้การดูดซึมยาทุกกลุ่มน้อยลงจนส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาพิโคซัลเฟต ร่วมกับยาขับปัสสาวะ อาจทำให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาพิโคซัลเฟตอย่างไร?
เก็บยาพิโคซัลเฟต: เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
พิโคซัลเฟตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาพิโคซัลเฟต มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dulcolax Pico (ดัลโคแลค พิโค) | Boehringer Ingelheim Limited |
Picoprep (พิโคเพรบ) | Ferring |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_picosulfate [2022,Oct15]
- https://patient.info/medicine/sodium-picosulfate-dulcolax-pico [2022,Oct15]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Picoprep/?type=BRIEF [2022,Oct15]
- https://www.medicinesforchildren.org.uk/medicines/sodium-picosulfate-for-constipation/ [2022,Oct15]
- https://www.drugs.com/cons/sodium-picosulfate-magnesium-and-citric-acid.html [2022,Oct15]
- https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.905.pdf [2022,Oct15]