ฝันร้าย (Nightmare)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 16 สิงหาคม 2563
- Tweet
- บทนำ: คืออะไร?พบบ่อยไหม?
- ฝันร้ายมีสาเหตุจากอะไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์? แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุฝันร้ายได้อย่างไร?
- รักษาฝันร้ายได้อย่างไร?
- ฝันร้ายมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันฝันร้ายอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง การตรวจอีอีจี (Electroencephalography; EEG)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
บทนำ: คืออะไร?พบบ่อยไหม?
ฝันร้าย(Nightmare)คือ ความฝันที่น่ากลัวที่จริงจังจนรบกวน จิตใจ อารมณ์ และความรู้สึกในขณะฝันรวมถึงเมื่อตื่นขึ้นมาและอาจตลอดทั้งวันหรือหลายวัน ซึ่งฝันร้ายของแต่ละคนจะแตกต่างกัน แต่ในคนคนเดียวกันฝันร้ายอาจแตกต่างกันในแต่ละคืนหรือแต่ละแนวเรื่อง แต่ก็อาจซ้ำๆเดิมได้ในแต่ละคืนที่ฝัน แนวเรื่องของฝันร้ายที่มีรายงานบ่อย คือ การถูกไล่ล่า การถูกกักขัง การสูญเสีย อุบัติเหตุสะเทือนความรู้สึก
ฝันร้าย มักเกิดในช่วงท้ายๆของการนอน อาจส่งผลทำให้นอนไม่หลับ และเมื่อตื่นขึ้นมักจำรายละเอียดความฝันนั้นได้ รวมทั้งยังมีอารมณ์ต่อเนื่องกับความฝันนั้นๆได้ตลอดทั้งวันหรือหลายวัน เช่น กลัว โกรธ เศร้า วิตกกังวล รู้สึกผิด
ฝันร้าย เป็นเรื่องพบในทุกวัย พบบ่อยในเด็กก่อนวัยเรียน(นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงวัยรุ่น พบน้อยลงในวัยผู้ใหญ่ มีรายงานพบฝันร้ายในเด็กวัย 5-12 ปีได้ประมาณ20-30% และพบในผู้ใหญ่ประมาณ 8-30% พบในเพศหญิงบ่อยกว่าในเพศชาย
อนึ่ง:
- ฝัน: ความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง เห็นเป็นเรื่องราวเมื่อหลับ, นึกเห็น, นึกเห็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
- ความฝัน ทางการแพทย์ หมายถึง ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และ/หรือ ภาพที่เกิดจากการทำงานของสมองในช่วงเวลาหลับที่ส่วนใหญ่เป็นหลับช่วงกลางคืน
- ฝันร้าย ไม่ใช่ผลข้างเคียงจากการใช้สาร/ยาเสพติด
- ฝันร้าย เป็นคนละภาวะ(โรค-อาการ-ภาวะ)กับการฝันละเมอเรื่องร้ายขณะหลับ(Sleep terror) โดยฝันร้ายไม่ทำให้ลุกขึ้นมาทำสิ่งผิดปกติ เช่น กรีดร้องจากกลัวสุดขีด ปัสสาวะรดที่นอน ลุกเดินโดยไม่รู้ตัวซึ่งเมื่อตื่นขึ้นมาก็มักจำเรื่องราวที่ฝันละเมอไม่ค่อยได้
- ฝันร้าย เป็นเรื่องปกติของทุกคน ยกเว้น อาจเป็นภาวะผิดปกติ(Nightmare disorder)กรณีเมื่อเกิดต่อเนื่องจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้นอนไม่หลับจนส่งผลให้ง่วงนอนมากจนเสียงาน เสียการเรียน หรือส่งผลต่ออารมณ์จิตใจต่อเนื่อง ซึ่งภาวะฝันร้ายผิดปกติเป็นภาวะที่ควรต้องรีบพบแพทย์/จิตแพทย์
ฝันร้ายมีสาเหตุจากอะไร?
กลไกการเกิดฝันร้ายที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่พบว่าฝันร้ายสามารถเกิดหรือมีตัวกระตุ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น
- สาเหตุ/ตัวกระตุ้นที่เป็นต้นเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ ความเครียด(ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า), ความกลัว, ความวิตกกังวล, โกรธมาก, และ/หรือความรู้สึก/อารมณ์รุนแรงต่างๆที่มีผลกระทบจิตใจรุนแรง
- การเกิดอุบัติเหตุที่มีระดับรุนแรงจนมีผลต่อจิตใจ
- การอดนอนจากสาเหตุต่างๆ เช่น นอนไม่หลับ นอนไม่พอ เจทแลค
- เจ็บป่วย ไม่สบาย มีไข้
- ผลข้างเคียงจากยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาลดความดันบางชนิด
- การหยุดยาฯบางชนิดกะทันหัน เช่น ยานอนหลับ
- การหยุดดื่มสุรากะทันหัน
- ภาวะขาดออกซิเจนขณะนอนหลับ เช่น โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ
- ประเภทอาหาร หรือ ปริมาณอาหารที่มากเกินไปที่บริโภคก่อนนอน หรือบริโภค ใกล้เคียงกับเวลานอน
- โรคเกี่ยวกับการนอน(Sleep disorder)
- เหตุการณ์บางเหตุการณ์ในอดีตที่มีผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง(Post-traumatic stress disorder ย่อว่า PTSD)
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์? แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุฝันร้ายได้อย่างไร?
ทั่วไป ฝันร้ายเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องพบแพทย์ ไม่ต้องรักษา เพราะไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติใดๆต่อผู้ฝันร้าย
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อฝันร้ายเกิดต่อเนื่องจนกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งกรณีเช่นนี้ ทางการแพทย์จัดเป็นฝันร้ายที่เป็นภาวะผิดปกติที่เรียกว่า ‘Nightmare disorder’ กรณีดังกล่าวควรรีบพบแพทย์/จิตแพทย์/มาโรงพยาบาล
ซึ่งแพทย์จะหาสาเหตุของฝันร้ายผิดปกติได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย อาการต่างๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอดีต โรคประจำตัว ยาต่างๆที่ใช้อยู่รวมถึงอาหารเสริมและสมุนไพรต่างๆ
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจทางด้านจิตเวชที่รวมถึงการตรวจด้านพฤติกรรมของการนอนที่เรียกว่า Sleep study
- อาจมีการตรวจอื่นๆเป็นกรณีๆไปเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมในด้านการทำงานของสมองตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
- ตรวจเลือดดูค่าสารสื่อประสาทต่างๆ หรือ ฮอร์โมนบางชนิด
- การตรวจภาพสมองด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) หรือ เอมอาร์ไอ
รักษาฝันร้ายได้อย่างไร?
ฝันร้าย ทั่วไป ดังกล่าวแล้วว่า เป็นภาวะปกติของสมอง/ร่างกาย ไม่จำเป็นต้องมีการรักษา
กรณีที่ต้องพบแพทย์/จิตแพทย์/มาโรงพยาบาลและควรต้องได้รับการรักษา คือ กรณีฝันร้ายเกิดต่อเนื่องจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งการรักษาหลักคือ การรักษาสาเหตุ เช่น
- การรักษาด้านจิตเวชเมื่อสาเหตุมาจากปัญหาทางอารมณ์จิตใจ เช่น การรักษาดูแลเรื่อง ความเครียด ความวิตกกังวล
- เมื่อมีสาเหตุจากโรค จะเป็นการรักษาทางอายุรกรรมทั่วไปเพื่อรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ
- เมื่อสาเหตุเกิดจากผลข้างเคียงของยา แพทย์ก็จะปรับเปลี่ยนยาหรือปรับเปลี่ยนขนาดยา
- เมื่อสาเหตุมาจากพฤติกรรมการบริโภค/อาหาร การดูแลรักษาคือ ปรับเปลี่ยนการบริโภค เช่น ปริมาณที่รวมถึงประเภทอาหารและระยะเวลาบริโภคที่ไม่ควรใกล้เวลานอน
ฝันร้ายมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ทั่วไป ไม่มีผลข้างเคียงจากฝันร้าย เพราะเป็นสิ่งปกติที่เกิดได้เป็นครั้งคราว แต่กรณีของ Nightmare disorder ผลข้างเคียงคือ การนอนไม่หลับ หรือความกลัวที่จะนอนแล้วฝันร้าย ส่งผลให้เกิดการนอนไม่พอ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องกับ สุขภาพกาย สุขภาพจิต และการใช้ชีวิตประจำซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อฝันร้ายทั้งฝันร้ายทั่วไปและฝันร้ายผิดปกติ ที่สำคัญคือ
ก. กรณีพบแพทย์แล้ว: ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำ เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนมาก หรือง่วงนอนมากจนเสียงาน
- กังวลในอาการ
ข.กรณีการดูแลตนเองโดยทั่วไปเพื่อไม่ให้เกิดฝันร้าย ได้แก่
- ปรับพฤติกรรมการนอน โดย
- ฝึกเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิม
- ไม่นอนหลับกลางวันนานเกินไป หรือใกล้เวลานอนกลางคืน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ
- ผ่อนคลายร่างกายและอารมณ์ก่อนนอน เช่น อาบน้ำ ไม่ดูทีวี ภาพยนตร์ ข่าว ที่น่ากลัวสะเทือนอารมณ์
- นอนในห้องที่อุณหภูมิพอเหมาะ ไม่ร้อนเกินไป และอากาศถ่ายเทได้ดี
- รักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรงด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ฝึกควบคุมอารมณ์จิตใจ เช่น การทำสมาธิ การสวดมนต์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
- ไม่ดื่มสุรา หรือ สารคาเฟอีน (เช่น กาแฟ ชา ) ใกล้เวลานอน/ก่อนนอน
- เข้าใจ ยอมรับ ธรรมชาติของชีวิต ที่ช่วยให้เรียนรู้การปรับตัว
- หาคนที่ไว้ใจได้ เพื่อเป็นเพื่อน เป็นที่ปรึกษา ระบายความวิตกกังวล เพื่อให้จิตใจผ่อนคลาย รู้สึกมีที่พึ่ง
ป้องกันฝันร้ายอย่างไร?
การป้องกันฝันร้าย คือ วิธีการเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ การดูแลตนเองฯ ข้อ ข.’