ผงกรอบ หรือ น้ำประสาทอง หรือ บอแรกซ์ (Borax)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 12 พฤศจิกายน 2559
- Tweet
- วัตถุเจือปนในอาหาร (Food additive)
- ตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
- ไตอักเสบ (Nephritis)
- โรคสมองเหตุจากสารพิษ (Toxic encephalopathy)
- กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
- บอแรกซ์คืออะไร?
- บอแรกซ์มีจำหน่ายในรูปแบบใด?
- มีข้อบ่งใช้บอแรกซ์อย่างไร?
- มีข้อห้ามใช้บอแรกซ์อย่างไร ?
- มีข้อควรระวังการใช้บอแรกซ์อย่างไร?
- การใช้บอแรกซ์ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้บอแรกซ์ในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้บอแรกซ์ในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- อาการไม่พึงประสงค์จากบอแรกซ์เป็นอย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
บอแรกซ์คืออะไร?
บอแรกซ์ (Borax)เป็นสารประกอบชนิดหนึ่งของธาตุโบรอน(Boron-containing agent, ธาตุที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น แก้ว ปุ๋ย ไฟฟ้า ฯลฯ) มีชื่ออื่นๆที่เป็นที่รู้จักในบ้านเรา เช่น กรดบอริก (Boric acid) น้ำประสานทอง ผงกรอบ ผงเนื้อนิ่ม ผงเนื้อกรอบ ผงกันบูด เพ่งแซ สารข้าวตอก และแป้งกรอบ เป็นต้น
บอแรกซ์ถูกนำมาผสมในอาหาร เพื่อช่วยให้อาหารมีความเหนียว ยืดหยุ่น กรุบกรอบ สีสันสดใส น่ารับประทาน โดยอาหารที่มักพบว่ามีบอแรกซ์ผสมอยู่ ได้แก่ เนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์บด ลูกชิ้น หมูยอ แหนม ติ่มซำ อาหารชุบแป้งทอด กล้วยทอด มันทอด ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม ขนมหวานต่างๆ เช่น สลิ่ม วุ้น ลูกชุบ ทับทิมกรอบ นอกจากนี้ยังมีการนำบอแรกซ์มาผสมน้ำ ใช้รดผักหรืออาหารทะเลก่อนวางจำหน่าย เป็นต้น
บอแร็กซ์ มีชื่อทางเคมีต่างๆกัน ได้แก่ โซเดียมบอเรต (Sodium borate), โซเดียมเตตราบอเรต (Sodium tetraborate), โซเดียมไบบอเรต (Sodium biborate), โซเดียมพัยโรบอเรต (Sodium pyroborate), โซดียม เตตราบอเรต เดคาไฮเดรท (Sodium tetraborate decahydrate), ไดโซเดียม เตตราบอเรต เดคาไฮเดรท (Disodium tetraborate decahydrate)
บอแรกซ์มีจำหน่ายในรูปแบบใด?
บอแรกซ์มีจำหน่ายในรูปแบบ เป็นของแข็ง ลักษณะเป็นผลึกรูปเหลี่ยมขนาดเล็กหรือเป็นผง มีสีขาว ไม่มีกลิ่น ละลายน้ำได้
มีข้อบ่งใช้บอแรกซ์อย่างไร?
บอแรกซ์เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ทำแก้วเพื่อให้ทนความร้อน, เป็นตัวประสานในการเชื่อมทอง(น้ำประสานทอง), ใช้ชุบเคลือบโลหะ, เป็นส่วนประกอบในตำรับยาป้องกันและกำจัดแมลง, ใช้ผสมในอาหาร โดยมีจุดประสงค์ดังนี้
- เพื่อให้อาหารมีความเหนียว ยืดหยุ่น กรุบกรอบ และทำให้อาหารมีสีสันสดใส ดูน่ารับประทาน
- ใช้เป็นสารกันเสีย/สารกันบูด ทำให้เก็บอาหารไว้ได้นานขึ้น เนื่องจากบอแรกซ์มีฤทธิ์ฆ่า เชื้อรา ยีสต์(Yeast, เชื้อราชนิดที่เป็นเซลล์เดียว) และแบคทีเรีย
ปัจจุบัน บอแรกซ์จัดเป็นวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขไทย ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย คือมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือจำคุก 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศ ก็ไม่อนุญาตให้ใช้บอแรกซ์ในการผสมอาหาร เช่น ฮ่องกง จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา
มีข้อห้ามใช้บอแรกซ์อย่างไร ?
ประเทศไทย ห้ามใช้บอแรกซ์ในอาหาร เพราะอาจก่ออันตรายต่อผู้บริโภคได้ อ่านเพิ่มเติมในบทความนี้ หัวข้อ อาการไม่พึงประสงค์
มีข้อควรระวังการใช้บอแรกซ์อย่างไร?
ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีบอแรกซ์ ซึ่งผู้บริโภคสามารถป้องกันตนเองได้โดย
- ซื้ออาหารจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีลักษณะ ยืดหยุ่น กรุบกรอบ เก็บไว้ได้นานผิดปกติ สีสวยผิดปกติไปจากธรรมชาติ
- ไม่ซื้อเนื้อสัตว์ที่มีลักษณะ แข็ง กดแล้วเด้ง ผิวของเนื้อเป็นเงาคล้ายกระจก ไม่ควรซื้อเนื้อบดสำเร็จรูป ควรเลือกซื้อเป็นชิ้นแล้วนำมาบดหรือสับเอง โดยล้างให้สะอาดก่อนนำไปประกอบอาหาร
การใช้บอแรกซ์ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
หญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร ควรต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีสารบอแรกซ์เจือปน เพราะบอแรกซ์สามารถส่งผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ หรือผ่านในน้ำนมไปยังทารกได้ ซึ่งหากได้รับบอแรกซ์ในปริมาณมาก อาจทำให้พัฒนาการของทารก และ/หรือน้ำหนักตัวแรกคลอดของทารกผิดปกติได้
การใช้บอแรกซ์ในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
ผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีสารบอแรกซ์เจือปน เพราะเป็นวัยที่มีโรคประจำตัวเยอะ รวมทั้งการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายเสื่อมลงตามวัยอยู่แล้ว การได้รับสารบอแรกซ์เพิ่มเข้าไปในร่างกาย จึงอาจทำให้เกิดพิษต่ออวัยวะต่างๆได้สูงขึ้น โดยอาจส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่างๆรวมถึงอาการของโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ แย่ลงกว่าเดิม จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การใช้บอแรกซ์ในเด็กควรเป็นอย่างไร?
เด็ก ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีสารบอแรกซ์เจือปน เพราะอาจทำให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการตามวัยผิดปกติ และยังเป็นอันตรายต่อทารก เพราะอาจทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย การนอนหลับผิดปกติ และยังอาจทำให้เกิดอาการชักได้
อาการไม่พึงประสงค์จากบอแรกซ์เป็นอย่างไร?
ปริมาณการบริโภคบอแรกซ์ที่ปลอดภัยจะถูกกำหนดเป็น ***Tolerable Upper Intake Level (UL) ของสารประกอบโบรอน
*** Tolerable Upper Intake Level (UL) คือ ปริมาณสูงสุดของสารอาหารที่สามารถบริโภคได้ในแต่ละวัน ที่ยังไม่มีรายงานเกิดผลข้างเคียง(อาการไม่พึงประสงค์) โดยเป็นค่าสูงสุดของปริมาณสารอาหารที่ประชากรปกติทั่วไปบริโภคประจําวันแล้วไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสีย(ผลข้างเคียง)ต่อร่างกาย แต่เมื่อบริโภคมากกว่า UL จะเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียขึ้น
องค์กรทางการแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำค่า Tolerable Upper Intake Level (UL) ของสารประกอบโบรอนที่รวมถึงบอแรกซ์ในช่วงวัยต่างๆ ดังนี้
- วัยผู้ใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ที่อายุมากกว่า 19 ปี คือ 20 มิลลิกรัม/วัน
- วัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ที่อายุมากกว่า 14 - 18 ปี คือ 17 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 9 -13 ปี คือ 11 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 4 -8 ปี คือ 6 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 1-3 ปี คือ 3 มิลลิกรัม/วัน
- ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี
*****ทั้งนี้ พิษของบอแรกซ์เมื่อได้รับในปริมาณมากกว่า UL ที่กำหนด คือ ทำให้อวัยวะต่างๆ เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับ ไต สมอง อักเสบ/ทำงานผิดปกติ ระบบสืบพันธุ์และการเจริญเติบโตของร่างกายผิดปกติ รวมทั้งมีอาการอื่นๆ เช่น เกิดการอักเสบของผิวหนัง หงุดหงิด ตัวสั่น อาการชัก อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ซึมเศร้า ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
สรุป
ไม่ควรบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของบอแรกซ์ โดยเฉพาะ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
บรรณานุกรม
- ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. บอแรกซ์. http://oldweb.pharm.su.ac.th/chemistry-in-life/d037.html [2016,Oct15]
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. บอแรกซ์ สารอันตราย http://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp?page2=subdetail&id_L1=27&id_L2=15633&id_L3=839 [2016,Oct15]
- ประสงค์ เทียนบุญ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ความต้องการสารอาหาร (Nutrition requirement) http://www.med.cmu.ac.th/dept/nutrition/DATA/COMMON/cmunut-deptped/ped401-prasong/ped401-nutrition%20requirement-prasong1.pdf [2016,Oct15]
- Ma, J. Centre for food safety. Boric acid and Borax in Food http://www.cfs.gov.hk/english/multimedia/multimedia_pub/multimedia_pub_fsf_37_01.html [2016,Oct15]
- Centre for food safety. Use of Boric acid and Borax in Food http://www.cfs.gov.hk/english/programme/programme_rafs/programme_rafs_fa_02_06.html [2016,Oct15]
- U.S. National Library of Medicine. Boron https://medlineplus.gov/druginfo/natural/894.html [2016,Oct15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Borax [2016,Oct15]
- https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87 [2016,Oct15]