ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 1 : อารัมภบท

คอลัมน์นี้เปิดขึ้นเพื่อการเรียนรู้ในเรื่องการทำงานในโรงพยาบาล (Hospital) ในการนำเสนอ ผมจะพยายามลดความซับซ้อนของกลไกในโรงพยาบาล โดยแบ่งเป็นตอนๆ ใน 2 มุมมอง กล่าวคือมุมมองของผู้ป่วย (Patient) และของผู้ให้บริการ (Service provider) ในมุมมองหลังยังแยกเป็นการแพทย์ (Clinical) และการบริหาร (Administrative)

ในมุมมองแรก โรงพยาบาลเป็นสถานที่บำบัดรักษา (ด้วยการเยียวยาหรือผ่าตัด) ผู้ป่วยจำนวนมากในแต่ละวัน และทุกๆ วัน ตลอดปี ไม่มีวันหยุด ผู้ป่วยบางคนไปที่โรงพยาบาล เพื่อการตรวจวิเคราะห์เป็นครั้งคราว หรือเป็นผู้ป่วยนอกที่ใช้บริการรังสีวินิจฉัย (Imaging services)

หลายๆ คน ต้องเผชิญกับเหตุฉุกเฉินที่อาจคุกคามถึงชีวิต บางคนไปโรงพยาบาลเพื่อเป็นผู้ป่วยในการคลอดลูกโดยได้ชีวิตใหม่ที่เพิ่มขึ้น แต่บางคนไปโรงพยาบาลแล้ว ก็เอาชีวิตไปทิ้งไว้ที่นั่น และนี่คือกิจวัตรประจำวันที่เกิดขึ้น ไม่ว่า ผู้ป่วยหรือโรงพยาบาลจะอยู่แห่งหนตำบลไหนของประเทศ

ในมุมมองหลัง โรงพยาบาลแตกต่างจากสถานทำงานอื่นๆ ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ภารกิจของโรงพยาบาลคือการให้การดูแลสุขภาพ ตั้งแต่คนเริ่มหายใจจนถึงหยุดหายใจ และเพื่อให้บรรลุภารกิจนี้ โรงพยาบาลจำเป็นต้องเปิดทำการวันละ 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน และปีละ 365 วัน

ผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาล ต้องให้บริการผู้ป่วยด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมาณจากปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อสถานะของผู้ป่วย ในเรื่อง อายุ การเงิน หรือเผ่าพันธุ์ แล้วยังต้องสามารถสื่อสารกับผู้ป่วยและครอบครัว ในเรื่องข่าวดีและข่าวร้าย ด้วยวิธีการที่ให้เกียรติผู้ป่วยเสมอ

การแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย ได้วิวัฒนาเป็นหลักการซึ่งนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professionals) ได้ยึดถือเป็นประเพณีปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ จวบจนปัจจุบัน การมีส่วนร่วมและความร่วมมือของผู้ให้บริการทุกแขนงวิชาทางการแพทย์ เป็นปัจจัยสำคัญของพัฒนาการตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา

การเพิ่มขึ้นของความซับซ้อนในระบบดูแลสุขภาพ (Healthcare system) ทั้งทางเศรษฐศาสตร์และทางกฎหมาย ทำให้นักวิชาชีพดูแลสุขภาพ ซึ่งได้รับการจัดองค์กรเป็นแผนก หรือหน่วยงานในโรงพยาบาล ต้องเผชิญกับความกดดันของการเพิ่มผลผลิต โดยที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง และทำงานให้ผิดพลาดน้อยลง

ความท้าทายนี้เกิดขึ้นเพราะเรามีทรัพยากรที่จำกัด โดยเฉพาะจำนวนนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ แต่ความต้องการบริการของผู้ป่วยนอกจากจะไม่จำกัดแล้ว นับวันจะทวีปริมาณมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เราต้องพยายามปรับปรุงคุณภาพของการให้บริการ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน นั่นคือการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยในเวลาสั้นที่สุด

ปัญหาของระบบดูแลสุขภาพในปัจจุบัน มีรากเหง้าที่ฝังรากลึกมาจากอดีต ดังนั้น ผมเชื่อว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ของโรงพยาบาล ซึ่งแสดงถึงโรคภัยไข้เจ็บที่ได้ประสบมา และการดูแลทางการแพทย์ที่วิวัฒนาถึงทุกวันนี้ จะทำให้เราเข้าใจถึงปัญหาที่เราเผชิญอยู่ และศักยภาพของการแก้ปัญหาในอนาคตอีกด้วย

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA: Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)