ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหารตอนที่ 2 : โรงพยาบาลสมัยโบราณ
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 15 พฤศจิกายน 2555
- Tweet
โรงพยาบาลสมัยแรก เริ่มขึ้นประมาณ 4,000 ปีที่แล้ว ในดินแดนเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) ในช่วงเวลานั้น หุบเขาริมแม่น้ำ เป็นสถานเหมาะสำหรับการลงหลักปักฐานของมนุษย์ เผ่าพันธ์ต่างๆ จึงเริ่มสร้างอาณาจักรและอารยธรรม พัฒนาการจนเจริญรุ่งเรือง แล้วตกต่ำจนเสื่อมสลายไปตามวัฏจักร
โรงพยาบาลและการแพทย์มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์โลก และแปรผันไปตามสภาวะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หลังจากที่ศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม เริ่มแผ่ขยายไปตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก ก็มีการสร้างโรงพยาบาล ไปตามประเทศที่ศาสนาทั้งสองมีอิทธิพลอยู่ อาทิ อิยิปต์ จีน เปอร์เซีย [อิหร่านในปัจจุบัน] กรีซ และโรม
โดยเฉพาะอียิปต์ ได้มีบันทึกของนักประวัติศาสตร์เกี่ยวกับผู้คนที่มีสุขภาพดี การปฏิบัติสุขอนามัย และแพทย์ที่เชี่ยวชาญ การแพทย์ในอิยิปต์ และประเทศเจริญรุ่งเรืองในเวลานั้น ได้รับการผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางปฏิบัติ บริการ และพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งวิวัฒนามาจากความเชื่อในเทพเจ้าบางองค์ที่มีพลังอำนาจในการรักษาผู้ป่วย
ในสมัยนั้น มีเพียงสถานที่หลบภัยของผู้ป่วย ซึ่งมีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัย ภายในบริเวณอากาศปลอดโปร่ง มีน้ำร้อนและน้ำเย็นให้อาบ ยาที่ใช้มีเกลือ น้ำผึ้ง และน้ำแร่ ประมาณ 1,000 ปีก่อนศริสต์กาล ชาวโรมันได้แปลงสถานที่ดังกล่าว ให้กลายเป็นโรงพยาบาลสำหรับการรักษาทหารที่ป่วยและบาดเจ็บ โรงพยาบาลเริ่มมีความสำคัญ เพราะชาวโรมันต้องอาศัยทหารในการขยายอาณาจักรแห่งอำนาจ
ฮิปโปคราตีส (Hippocrates) ผู้ได้รับการยกย่องว่า “เป็นบิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่” (Father of modern medicine) ริเริ่มแนวคิดใหม่ของการปฏิบัติทางการแพทย์บนพื้นฐานของเหตุผล [ทางวิทยาศาสตร์] โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลทางศาสนา อาทิการฟังเสียงการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย (Auscultation) การผ่าตัด (Surgery) และการเก็บบันทึกรายละเอียดของผู้ป่วย ซึ่งอธิบายถึงโรคต่างๆ ตั้งแต่วัณโรค (Tuberculosis) ไปจนถึง แผลเปื่อย (Ulcer)
หินอ่อนขนาดยักษ์ 3 แผ่น ในโบสถ์แห่งหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุ 350 ปีก่อนคริสต์กาล ได้บันทึกชื่อผู้ป่วย 70 ราย ที่มาขอรับบริการที่โบถส์ พร้อมกรณีศึกษา อาการเจ็บป่วย และการรักษา ในจำนวนนี้มีการเอาสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายออก และการผ่าตัดฝีที่ท้อง (Abdominal abscess) โดยใช้ผิ่น (Opium) เป็นยาสงบประสาท (Sedative)
การย้ายถิ่นฐานจากชนบทสู่ตัวเมือง ทำให้ประชาชนเพิ่มขึ้นจนแออัดที่กรุงโรมและเมเสโปเตเมีย เกิดปัญหาสุขอนามัย จนเป็นโรคระบาด (Epidemic) จากการติดเชื้อ (Infection) ทำให้อัตราการตาย (Mortality) สูงในบางช่วง และการขยายตัวทางการค้าไปยังตะวันออกไกลผ่านเส้นทาง “สายไหม” (Silk Road) ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายทั้ง 2 ทาง
โรคระบาดที่เกิดขึ้นประจำได้แก่ โรคไข้ทรพิษ (Smallpox) โรคหัด (Measles) และกาฬโรค (Plague) ซึ่งล้วนนำหายนะมาสู่ชีวิตคน โรงพยาบาลได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นในเปอร์เซีย ซึ่งได้รักษาตำราการแพทย์ไว้ตั้งแต่สมัยกรีซเรืองอำนาจ จนถึงยุคเฟื่องฟูศิลปวรรณกรรม (Renaissance) นอกจากนี้ การแพทย์ 3 แขนงที่ได้รับการบันทึกในช่วงต้นของ ค.ศ. 1700 ได้แก่ การแพทย์ด้วยมีด (การผ่าตัด) การแพทย์ด้วยยาสมุนไพร และการแพทย์ด้วยคาถาอาคม (ของเทพเจ้า)
ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ
แหล่งข้อมูล:
- Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA: Jones & Bartlett Learning.