บีวาซิซูแมบ (Bevacizumab)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab) คือ หนึ่งในยาต้านมะเร็งที่อาศัยหลักการยับยั้งการสร้างหลอดเลือดขึ้นใหม่ที่ใช้เลี้ยงเซลล์มะเร็ง, เช่นใน มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งไต  มะเร็งสมองชนิดจีบีเอม, โดยเป็นยาฉีด, แต่แพทย์อาจพิจารณาใช้ยานี้ในการรักษามะเร็งชนิดอื่นๆได้อีกด้วย (Off-label use), ซึ่งการใช้ยานี้ ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ด้านโรคมะเร็งเท่านั้น

ร่างกายของเรามีการเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอจากการนำส่งของสารอาหารและออกซิเจนที่เพียงพอต่อเซลล์ในร่างกาย การเพิ่มจำนวนของเซลล์จึงมีความสัมพันธ์อย่างเกี่ยวเนื่องกับการสร้างหลอดเลือดขึ้นใหม่ เพื่อให้สามารถนำส่งสารอาหารและออกซิเจน รวมถึงการกำจัดของเสียออกจากเซลล์ได้ เช่นเดียวกับเซลล์มะเร็ง ซึ่งต้องอาศัยกระบวนสร้างหลอดเลือด (Angiogenesis) เช่นเดียวกัน แต่การเติบโตเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นในการสร้างหลอดเลือดขึ้นใหม่เพื่อให้ทันต่อการเติบโต  ด้วยกระบวนการนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงพัฒนายาเพื่อยับยั้งการสร้างเซลล์หลอดเลือดใหม่แก่เซลล์มะเร็ง

ยาบีวาซิซูแมบมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

บีวาซิซูแมบ

 

ยาบีวาซิซูแมบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว: เช่น ใช้รักษา  

  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งไส้ตรง ระยะแพร่กระจาย
  • มะเร็งสมองชนิดกลีโอบลาสโทมา (Glioblastoma หรือ Glioblastoma multiforme) ย่อว่า จีบีเอม/GBM
  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต
  • มะเร็งไตระยะแพร่กระจาย

ยาบีวาซิซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

การเจริญเติบโตของเซลล์ในร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารอาหารจากเลือดไปหล่อเลี้ยง เช่นเดียวกับเซลล์มะเร็ง แต่การเติบโตของเซลล์มะเร็งเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าเซลล์ธรรมดา มีความต้องการสารอาหารและออกซิเจนจากเลือดมาหล่อเลี้ยงเพื่อให้เกิดการเติบโต ร่างกายจึงต้องสร้างเส้นเลือด/หลอดเลือดใหม่ ซึ่งโดยปกติ กระบวนการสร้างเส้นเลือดใหม่จะมีการส่งสัญญาณจากร่างกาย ผ่านสารส่งสัญญาณ เช่น  Vascular Endothelial Growth Factor (VEGF) มากระตุ้น เพื่อการเกิดสร้างเส้นเลือดใหม่มาเลี้ยงเซลล์มะเร็ง

ยาบีวาซิซูแมบ จะจับกับสัญญาณ Vascular Endothelial Growth Factor (VEGF), ทำให้สัญญาณดังกล่าวไม่สามารถส่งต่อไปถึงตัวรับ(Receptor)ที่ผิวเซลล์เอ็นโดทิเลียล (Endothelial Cell) ซึ่งเป็นเซลล์บุผิว/ผนังชั้นในของเหลอดเลือด ทำให้ไม่สามารถกระตุ้นการทำงานเพื่อให้เกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ได้, เมื่อการส่งสัญญาณล้มเหลวด้วยการใช้ยานี้, ก็จะลดการเติบโตและ/หรือลดการแพร่กระจายเซลล์มะเร็ง

ยาบีวาซิซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาบีวาซิซูแมบที่จัดจำหน่าย:

  • เป็นยาน้ำชนิดหยดเข้าหลอดเลือด (Solution for Infusion) ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัมในภาชนะบรรจุขนาด 4 มิลลิลิตร, และขนาด 400 มิลลิกรัมในภาชนะบรรจุขนาด 16 มิลลิลิตร

ยาบีวาซิซูแมบมีวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาบีวาซิซูแมบ มีขนาดยาแนะนำตามข้อบ่งใช้: เช่น

ก. มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งไส้ตรง ระยะแพร่กระจาย: โดยใช้ร่วมกับยาต้านมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น ยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) โดยใช้ขนาดยา 5-10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม, ทุกๆ 2 สัปดาห์ (อาจมีการให้ขนาดยาและความถี่ในการให้ยาที่ต่างจากนี้  โดยพิจารณาจากยาที่ใช้ร่วมการรักษา)

ข. มะเร็งสมองชนิดกลีโอบลาสโทมา/จีบีเอม: โดยใช้ขนาดยา 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม, ทุกๆ 2 สัปดาห์

ค. มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต:  โดยใช้ขนาดยา 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม, ทุกๆ 3 สัปดาห์, ร่วมกับยาต้านมะเร็งชนิดอื่น เช่น  ยาคาร์โบพลาติน (Carboplatin) และพาลิแทกเซล/ พาคลิแทคเซล (Paclitaxel), โดยให้จำนวน 4-6 รอบ (Course), หลังจากนั้น ให้ใช้ยาบีวาซิซูแมบเป็นยาเดี่ยวในการรักษาในขนาดยาเท่าเดิม ทุกๆ 3 สัปดาห์ จนกว่าภาวะโรคมะเร็งจะดีขึ้น, หรือพิจารณาหยุดยาหากผู้ป่วยทนผลข้างเคียงจากยาหรือพิษจากยาไม่ได้

ง. มะเร็งไต ระยะแพร่กระจาย: โดยใช้ขนาดยา 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ทุกๆ 2 สัปดาห์, โดยใช้ร่วมกับยาอินเตอร์เฟอรอนแอลฟา(Interferon alfa)

อนึ่ง: ขนาดยานี้ข้างต้นเป็นขนาดยาแนะนำทั่วไป การให้ยานี้ยังขึ้นอยู่กับภาวะของความรุนแรงของโรค และอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยานี้ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย  ซึ่งขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ผู้รักษาที่จะวินิจฉัยและกำหนดขนาดยานี้ที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยเฉพาะรายไป

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาบีวาซิซูแมบ ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรแจ้งให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบ หากกำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เช่น ยาวาฟาริน (Warfarin) รวมไปถึงการใช้ยาต้านมะเร็งอื่นๆ เช่น ยาเคมีบำบัด
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากเคยได้รับการรักษาด้วยวิธีการทางรังสีรักษา หรือเคยมีประวัติการเป็นมะเร็งที่แพร่กระจายไปยังสมองหรือไขสันหลัง, เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, หรือโรคอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากเคยได้รับการผ่าตัดในอดีต
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ทราบ หากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์  หรือให้นมบุตร

หากลืมเข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?

หากลืมเข้ารับการบริหารยาบีวาซิวูแมบตามแพทย์นัดหมาย ให้ติดต่อสถานพยาบาลที่ทำการรักษาอยู่โดยเร็วที่สุด

ยาบีวาซิซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาบีวาซิซูแมบ อาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์) เช่น

  • ความอยากอาหารลดลง
  • การรับรสอาหารเปลี่ยนไป
  • อาการแสบร้อนกลางอก
  • น้ำหนักลด
  • ท้องเสีย
  • ปากคอแห้ง   
  • เจ็บบริเวณช่องปาก
  • เสียงเปลี่ยนไป

*อนึ่ง: หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่ทุเลาลง ผู้ป่วยควรรีบแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ/รีบไปโรงพยาบาลก่อนนัด

นอกจากนี้ ยาบีวาซิซูแมบ *ยังอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯ ที่รุนแรง เช่น ไอหรือสำลักขณะรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ เจ็บบริเวณต้นคอ มึนงง วิงเวียน  เป็นลม  เหนื่อยล้าอย่างรุนแรง เจ็บหน้าอก เจ็บ/ปวดท้องอย่างรุนแรง หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก  อาจก่อให้เกิดอาการสับสน หรือกระตุ้นโรคลมชัก   การมองเห็นเปลี่ยนไป   เจ็บคอ   มีไข้เหมือนติดเชื้อ มีอาการบวมบริเวณใบหน้า รอบตา มือ เท้า ข้อเท้า และน่องขา เจ็บขา (โดยอาจเจ็บเพียงข้างเดียว) ปัสสาวะเป็นฟอง หรือ*เกิดอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน แดง ขึ้นตามตัว หายใจไม่สะดวก มีอาการบวมของริมฝีปากและเปลือกตา/หนังตา,*หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น ต้องรีบแจ้งแพทย์/พยาบาล(เมื่ออยู่ในโรงพยาบาล)ทันที หรือรีบมาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน(เมื่ออยู่บ้าน)

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้ เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษ หรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมาก มีพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบแจ้งให้แพทย์ พยาบาลผู้ทำการรักษา หรือมาโรงพยาบาล หากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นโดยทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ยาบีวาซิซูแมบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาบีวาซิซูแมบ: เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือ แพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการให้นมบุตร
  • ยานี้อาจทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้ทะลุ (Gastrointestinal Perforations) ซึ่งเป็นอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่รุนแรง, ผู้ป่วยจึงควรได้รับการตรวจจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีอาการ ปวดท้อง ท้องผูก  คลื่นไส้อาเจียน มีไข้  หลังใช้ยานี้ ต้องรีบรายงานแพทย์ พยาบาล/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ยานี้ทำให้การประสานแผลของร่างกายช้าลง ที่รวมไปถึงแผลจากการผ่าตัดใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้, ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด ไม่ควรได้รับยาบีวาซิซูแมบ เว้นแต่ภายหลังการผ่าตัดไปแล้วอย่างน้อยประมาณ 4 สัปดาห์ และบริเวณที่เป็นแผลผ่าตัดหายสนิทแล้ว
  • ยาบีวาซิซูแมบ อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น การใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่เป็นโรค ความดันโลหิตสูงจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้รักษาอย่างใกล้ชิด, ผู้ป่วยควรหมั่นตรวจความดันโลหิตตัวเองอย่างสม่ำเสมอตาม แพทย์ เภสัชกรแนะนำ
  • ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจโปรตีนในปัสสาวะ และกาทำงานของไตขณะใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดดำอุดตันจากลิ่มเลือด (Venous thromboembolism) มากขึ้น, การใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่เป็นหรือมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดดำอุดตันจากลิ่มเลือด  ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้รักษาอย่างใกล้ชิด
  • ยาในกลุ่มนี้ อาจมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงการเกิดเลือดออก โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการแข็งตัวของเลือดอยู่ก่อนแล้ว หรือกำลังได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรได้รับการตรวจจากแพทย์ผู้รักษาอย่างสม่ำเสมอ
  • การใช้ยาบีวาซิซูแมบ ร่วมกับยาในกลุ่มบิสฟอตโฟเนส (Bisphosphonate, ยารักษาโรคกระดูกพรุน) จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกขากรรไกรตาย (Osteonecrosis of the jaw) โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณกรามอย่างมาก, แพทย์จึงอาจแนะนำให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจจากทันตแพทย์ถึงปัญหาสุขภาพฟันต่างๆก่อนเริ่มใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยหญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ต้องได้รับการคุมกำเนิดตลอดการใช้ยานี้ และภายหลังการใช้ยานี้ไปแล้วอีกอย่างน้อย 6 เดือน
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาบีวาซิซูแมบด้วย)  ยาแผนโบราญทุกชนิด  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และสมุนไพรต่างๆเสมอ   เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ    ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง  ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)  รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาบีวาซิซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาบีวาซิซูแมบ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆ: เช่น

  • ยาซูนิทินิบ (Sunitinib): เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะโลหิตจาง, และยาทั้งสองตัวมีกลไกการทำงานของยาคล้ายคลึงกัน (หนึ่งในเป้าหมายของยาทั้ง2ตัว คือ Vascular Endothelial Growth Factor:VEGF เหมือนกัน)  จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาบีวาซิซูแมบ          
  • ยาโคลซาพีน (Clozapine), และ ยารักษาโรคกระดูกพรุนกลุ่มบิสฟอสโฟเนสต์ เช่นยา  อะเลนโดรเนท (Alendronate), ไอแบนโดรเนท (Ibandronate), เนื่องจากทำให้ความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากยาบีวาซิซูแมบเพิ่มสูงขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้และยาบีวาซิซูแมบร่วมกัน 
  • ยาต้านมะเร็ง(ยาเคมีบำบัด): เช่นยา  ดาว์โนรูบิซิน (Daumorubicin)  ดอกโซรูบิซิน (Doxorubicin) และ อีพิรูบีซิน (Epirubicin)  เนื่องจากยาเหล่านี้มีพิษต่อหัวใจ, การใช้ร่วมกับยาบีวาซิวูแมบ จะยิ่งทำให้ผลข้างเคียงดังกล่าวเพิ่มมากยิ่งขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาบีวาซิซูแมบ
  • การใช้ยาบีวาซิซูแมบ ร่วมกับยาต้านมะเร็งชนิดอื่นๆต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้รักษา เนื่องจากยาต้านมะเร็งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้มาก เช่น ต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคร่างกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันฯของร่างกายลดลง จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย, รวมไปถึงโรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร เช่น การเกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น, *การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันเพื่อเสริมการรักษามะเร็ง จึงขึ้นอยู่กับดุลยวินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ควรเก็บรักษายาบีวาซิซูแมบอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาบีวาซิซูแมบ: เช่น

  • เก็บยาในตู้เย็น อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็ง
  • ควรเก็บภายขวดยาภายในกล่องบรรจุเพื่อกันแสงแดด

อนึ่ง: ควรสอบถามแผนกเภสัชกรรมของโรงพยาบาลถึงนโยบายการเก็บรักษายานี้เพิ่มเติม รวมถึงนโยบายการเก็บรักษายาและความคงตัวของยาเมื่อยาได้รับการผสมแล้ว

ยาบีวาซิซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาบีวาซิซูแมบ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต/จัดจำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
อวาสติน (Avastin) บริษัท โรชไทยแลนด์ จำกัด

 

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association. Bevacizumab, , Drug Information Handbook with International Trade Names. 2014:23;253-6.
  2. Shih, T; Lindley, C. "Bevacizumab: an angiogenesis inhibitor for the treatment of solid malignancies.". Clinical therapeutics 2006;28(11):1779–802.
  3. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/15748# [2022,Dec17]
  4. https://www.gene.com/download/pdf/Avastin_dear_HCP_Letter.pdf [2022,Dec17]
  5. https://www.gene.com/download/pdf/avastin_maha_letter.pdf [2022,Dec17]
  6. https://go.drugbank.com/drugs/DB00112 [2022,Dec17]