บิสมัท ซับซาลิไซเลต (Bismuth subsalicylate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

บิสมัท ซับซาลิไซเลต (Bismuth subsalicylate) คือ ยาใช้รักษาโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย, อาการแสบร้อนกลางอก, อาหารไม่ย่อย, โดยเป็นยารับประทานทั้งชนิดเม็ดและยาน้ำแขวนตะกอน

ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต เป็นสารประกอบประเภทเกลือชนิดหนึ่งซึ่งไม่ละลายน้ำ มีสูตรโมเลกุลที่ประกอบด้วย ซาลิไซเลต (Salicylate) 42% และ บิสมัท (Bismuth) 58%,

ตัวยาซาลิไซเลตจะช่วยยับยั้งการหลั่งสารน้ำ (เช่น กรดและเอนไซม์ต่างๆ) ในทางเดินอา หาร และลดการอักเสบของผนังกระเพาะอาหารและลำไส้ ส่วนบิสมัทจะออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร เช่น Helicobacter pylori (H. pylori) ซึ่งพบได้บ่อยระหว่างการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้ออื่นๆที่มักทำให้เกิดอาการท้องเสีย เช่น E.coli, Salmonella, Shigella, Clostridium difficile, Campylobactor jejuni รวมถึงแบคทีเรียประจำถิ่นที่ อาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์อีกด้วย

ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลและมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป สูตรตำรับที่นำมาขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการอาหารและยาจะมีทั้งประเภทยาอันตรายและยาทั่วไป จะอย่างไรก็ตาม การใช้ยาแต่ละประเภทล้วนแล้วแต่มีข้อห้าม ข้อควรระวัง รวมถึงข้อจำกัดของร่าง กายผู้ป่วยอีกมากมาย ดังนั้นก่อนการใช้ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลตผู้ป่วยควรต้องขอคำปรึกษาและใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง

บิสมัท ซับซาลิไซเลตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

บิสมัท

ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลตมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาอาการท้องเสีย เช่น อาการท้องเสียระหว่างการเดินทาง (โรคอาหารเป็นพิษ)
  • รักษาภาวะกระเพาะอาหารอักเสบและแผลในกระเพาะอาหาร
  • รักษาโรคติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori) ในกระเพาะอาหาร
  • รักษาภาวะ ท้องอืด, อาหารไม่ย่อย เนื่องจากมีกรดมาก

บิสมัท ซับซาลิไซเลตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาบิสมัท ซับซาลิไซเลตคือ ตัวยาจะยับยั้งการหลั่งสารน้ำในทาง เดินอาหาร นอกจากนี้ยังยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Urease Phospholipase และกระบวน การย่อยโปรตีนของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ของมนุษย์ จนส่งผลให้แบคทีเรียตายลง ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลตยังสามารถเข้ารวมกับพิษของแบคทีเรียที่ชื่อ E. coli และทำให้ฤทธิ์ของสารพิษอ่อนลง จากกลไกดังกล่าวจึงทำให้ยานี้มีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

บิสมัท ซับซาลิไซเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 524 และ 1,048 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ขนาด 262 มิลลิกรัม/15 มิลลิลิตร

บิสมัท ซับซาลิไซเลตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลตมีขนาดรับประทานแตกต่างตามอาการของโรคและอายุผู้ป่วย ขนาดยาจึงขึ้นกับแพทย์ผู้รักษา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดยาสำหรับบรรเทา/รักษาอาการท้อง เสีย เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี: เช่น รับประทานยาน้ำแขวนตะกอนครั้งละ 30 มิลลิลิตร หรือยาเม็ดขนาด 524 มิลลิกรัม 1 เม็ดทุกๆ 30 นาที - 1 ชั่วโมง ขนาดสูงสุดของการรับประทานยาไม่เกิน 8 ครั้ง/วัน และควรรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลา 2 วัน
  • เด็กอายุ 3 - 6 ปี: เช่น รับประทานครั้งละ 87 มิลลิกรัมทุกๆ 30 นาที - 1 ชั่วโมงเท่าที่จำเป็น (As needed)
  • เด็กอายุ 6 - 9 ปี: เช่น รับประทานครั้งละ 175 มิลลิกรัมทุกๆ 30 นาที - 1 ชั่วโมงเท่าที่จำเป็น
  • เด็กอายุ 9 - 12 ปี: เช่น รับประทานครั้งละ 262 มิลลิกรัมทุกๆ 30 นาที - 1 ชั่วโมงเท่าที่จำเป็น
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดถึงประโยชน์และผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

* อนึ่งเมื่อรับประทานยานี้ ควรรับประทานน้ำตามเป็นปริมาณมากพอสมควร และสามารถรับ ประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบิสมัท ซับซาลิไซเลตอาจส่ง ผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาบิสมัท ซับซาลิไซเลตสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการรับประทานเป็น 2 เท่า

บิสมัท ซับซาลิไซเลตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลตสามารถก่อให้เกิดผล /อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้าง เคียง) เช่น

  • หูอื้อ/มีเสียงในหู
  • อาจมีภาวะทางสมอง เช่น สมองอักเสบ
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก โดยเฉพาะอาการทางท้องจะเกิดได้ง่ายกับเด็กและผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
  • อุจจาระมีสีเทาดำ
  • เกิดสีเทาดำที่ลิ้น

*อนึ่ง สำหรับผู้ที่ได้รับยาบิสมัท ซับซาลิไซเลตเกินขนาด อาจพบอาการ หูอื้อ หายใจถี่และเร็ว รวมถึงภาวะเหงื่อออกมากจนร่างกายอาจสูญเสียน้ำมาก/ภาวะขาดน้ำ หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้บิสมัท ซับซาลิไซเลตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ยากลุ่มซาลิไซเลตหรือยาแอสไพริน
  • ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรด้วยยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์เข้ามารองรับการใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างแน่ชัด
  • ระวังการใช้ยานี้กับ เด็ก ผู้สูงอายุ ด้วยเป็นกลุ่มที่อาจได้รับผลข้างเคียงจากยานี้ได้มาก
  • เมื่อใช้ยานี้อาจเกิดภาวะลิ้นเป็นสีคล้ำหรืออุจจาระมีสีเทาดำ อาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อหยุดใช้ยา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเกาต์ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยที่มีภาวะไตทำงานผิดปกติเนื่องจากได้รับสารซาลิไซเลตมากเกินไป
  • ระวังการเกิดพิษกับเส้นประสาทจากบิสมัท ซับซาลิไซเลต
  • การใช้ยานี้สามารถรบกวนผลการตรวจเอกซเรย์เพื่อตรวจความผิดปกติของกระเพาะอา หารและลำไส้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบิสมัท ซับซาลิไซเลตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บิสมัท ซับซาลิไซเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต ร่วมกับ ยา Methotrexate จะทำให้การกำจัดยา Methotrexate ของร่างกายช้าลงจนอาจเกิดผลข้างเคียงจากยาดังกล่าวตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยานี้ ร่วมกับ ยา Warfarin ด้วยจะเกิดความเสี่ยงของอาการเลือดออกง่ายได้มากยิ่งขึ้น
  • การใช้ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต ร่วมกับ ยา Tetracycline จะทำให้การดูดซึมของยา Tetracycline จากทางเดินอาหารน้อยลงจนกระทบต่อการรักษา จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต ร่วมกับ ยา Probenecid จะทำให้ร่างกายขับกรดยูริคออกจากร่างกายได้ลดลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาบิสมัท ซับซาลิไซเลตอย่างไร?

ควรเก็บยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

บิสมัท ซับซาลิไซเลตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต มีบริษัทผู้ผลิต /ผู้จำหน่าย ดังนี้เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต/จำหน่าย
Besmal (เบสมอล) Sriprasit Pharma
Gastro-Bismol/Gastro-Bismol L (แก๊สโทร-บิสมอล/แก๊สโทร-บิสมอล แอล) Farmaline

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Bismuth_subsalicylate [2021,Oct16]
  2. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/gastro-bismol-gastro-bismol%20l/?type=full#Indications [2021,Oct16]
  3. https://www.mims.com/Thailand/Viewer/Html/PoisonCls.htm [2021,Oct16]
  4. https://www.drugs.com/mtm/bismuth-subsalicylate.html [2021,Oct16]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/gastro-bismol-gastro-bismol%20l/?type=full#Overdosage [2021,Oct16]
  6. https://www.mims.com/thailand/drug/info/gastro-bismol-gastro-bismol%20l?type=full [2021,Oct16]